วันนี้ (19 ตุลาคม) ในประวัติศาสตร์เมื่อ 84 ปีที่แล้ว เป็นวันที่ “หลู่ซวิ่น” (鲁讯) บิดาแห่งการประพันธ์สมัยใหม่จีน ได้เสียชีวิต จากโลกมนุษย์ไป
“หลู่ซวิ่น” นามปากกาของ โจวซู่เหริน (ค.ศ.1881-1936) นักเขียน นักปรัชญา นักปฏิวัติ เป็นสัญลักษณ์จิตวิญญาณแห่งแผ่นดินจีนยุคศตวรรษที่ 20 เป็นผู้นำโดดเด่นในการสร้าง “วัฒนธรรมใหม่” ระหว่างการเคลื่อนไหว ขบวนการสี่พฤษภาคม ที่มุ่งมั่นพาชาติหลุดพ้นจากความล้าหลังอ่อนแอ
งานเขียนของหลู่ซวิ่นสะท้อนสภาพสังคมจีนในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินจากระบอบจักรพรรดิ (ฮ่องเต้)มาสู่ยุคสาธารณรัฐจีนที่ยังล้าหลังและอ่อนแออยู่เช่นเดิม ผลงานเรื่องสั้นชิ้นเด่นๆของหลู่ซวิ่นชี้ให้เห็น“สังคมคนกินคน” ที่เสมือนพยาธิตัวร้ายที่คอยบ่อนทำลายประเทศชาติ ระบุปัญหาสังคมอย่างถึงรากถึงโคนเพื่อที่จะเยียวยาความป่วยไข้ทางปัญญาและจิตวิญญาณของประเทศชาติ พร้อมกับการแสวงหาจิตวิญญาณใหม่สร้างวัฒนธรรมใหม่ที่จะนำพาประเทศชาติสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างแท้จริง
วรรณกรรมของหลู่ซวิ่นไม่เพียงเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางที่สุดในบรรดานักเขียนสมัยใหม่ ยังทรงความสำคัญและส่งอิทธิพลต่อสังคมจีนมากกว่านักเขียนจีนคนอื่นที่มีชีวิตร่วมอยู่ในศตวรรษเดียวกัน
ผลงานเขียนที่โดดเด่นของหลู่ซวิ่นคือ ชุมนุมเรื่องสั้น 3 เล่ม ได้แก่ “ตระโกนสู้” หรือ “น่าห่าน” 《呐喊 》, “ละล้าละลัง” หรือ “ผังหวง”《彷徨》,และ “เรื่องเก่าเล่าใหม่” หรือ “กู้ซื่อซินเปียน” 《故事新编》
สำหรับเรื่องสั้นเรื่องเด่นๆที่เป็นซิกเนเจอร์ของหลู่ซวิ่นในพากย์ไทย หาอ่านได้จาก หนังสือ รวมเรื่องสั้นของหลู่ซวิ่น แปลโดยนักศึกษาวิชาเอกภาษาจีน รุ่น 7 บรรณาธิการ ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์
ข้อมูลหนังสือ
ชื่อหนังสือ: เรื่องสั้นของหลู่ซวิ่น
แปลโดยนักศึกษาวิชาเอกภาษาจีน รุ่น 7
บรรณาธิการ ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์
พิมพ์ครั้งที่สอง: สิงหาคม 2562
สำนักพิมพ์ ถั่วงอก
ราคาตามปก 290 บาท
จำนวนหน้า 397 หน้า
ISBN : 978-161-7176-41-8