สำนักข่าวซินหัวรายงาน —คณะนักโบราณคดีของจีนเปิดเผย(17 ก.ย.) ที่ผ่านมาว่าของเหลวที่บรรจุอยู่ในกาน้ำสัมฤทธิ์เก่าแก่ 2,000 ปี ซึ่งถูกขุดพบในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็น “เหล้า”
สถาบันโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีนครซานเหมินเสีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ค้นพบกาน้ำโบราณใบนี้ ระบุว่าหลังจากเก็บตัวอย่างและทดสอบ คณะนักวิจัยพบว่าของเหลวกว่า 3,000 มิลลิลิตรที่อยู่ภายในกาน้ำคอโค้งรูปหงส์ คือเหล้ายาจากยุคต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (206 ปีก่อนคริสตกาล-ปี 25) ซึ่งเป็นยาปรุงสำหรับห้ามเลือดและลดอาการอักเสบ
“รายงานการทดสอบของเหลวชี้ว่ากาน้ำใบนี้อาจเป็นภาชนะสำหรับดื่มน้ำ ซึ่งสามารถเทเหล้าออกมาจากรูเล็กๆ ด้านบนได้” เจิ้ง ลี่เชา หัวหน้าสถาบันฯ กล่าว
“ขณะนี้เรากำลังดำเนินการวิเคราะห์ไอโซโทปของคาร์บอนและไนโตรเจน ตลอดจนการวิจัยอื่นๆ เกี่ยวกับของเหลวที่พบ เพื่อเพิ่มพูนข้อมูลเกี่ยวกับตัววัตถุดิบ กระบวนการผลิต และหน้าที่ของมัน” หยัง อี้หมิน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (UCAS) กล่าว
ทั้งนี้ คณะนักโบราณคดีพบกาน้ำในหมู่หลุมฝังศพโบราณของหมู่บ้านโฮ่วชวนในซานเหมินเสีย ซึ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก โดยทราบได้จากการพิจารณารูปร่าง
เจ้าของหลุมฝังศพเป็นชายสูงราว 1.8 เมตร แต่ยังไม่ทราบอายุและสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด เนื่องจากลักษณะการเก็บกระดูกอยู่ในสภาพไม่ดีนัก และนอกจากกาน้ำสัมฤทธิ์ข้างต้นแล้ว ยังมีการขุดพบเครื่องทองลงหิน หยก เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องเหล็กจากหลุมฝังศพหลุมนี้อีกด้วย
ทั้งนี้ ซานเหมินเซียตั้งอยู่ระหว่างนครซีอานและนครลั่วหยาง สองเมืองหลวงยุคจีนโบราณ เคยเป็นเส้นทางเดินทัพและเส้นทางสัญจรสายสำคัญ ซึ่งส่งผลให้เมืองอุดมด้วยโบราณวัตถุทางประวัติศาสตร์