xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) ‘ชนบทจีน’ กำลังเปลี่ยนไปแบบ ‘พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หมู่บ้านภูเขาโกวเอ่อร์ผู่ ในอำเภอเต้าฝู แคว้นปกครองตนเองกานจือ กลุ่มชาติพันธุ์ทิเบต มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน-แฟ้มภาพซินหัว
สำนักข่าวซินหัวรายงาน — ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พื้นที่ชนบทตามภูมิภาคต่างๆในแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลของจีน กำลังเปลี่ยนแปลงชนิดเรียกได้ว่า “พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ!”


หมู่บ้านตามเขตชนบทในภาคต่างๆ ล้วนมุ่งมั่นปักธงกำจัดความยากจน สร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อก้าวสู่ความเจริญรุ่งเรือง บางแห่งใช้ประโยชน์จากถนนหนทางที่มีการพัฒนาและธรรมชาติที่สวยงาม พัฒนาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

...บางแห่งใช้ข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ปรับปรุงพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งไร่ชา

...บางแห่งได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่นจนหลุดพ้นจากความแร้นแค้น

แม้ว่าวิธีการและแนวทางของแต่ละหมู่บ้านจะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือเป้าหมายการคว้าชัยเหนือความยากจน

ไร่ชาในหมู่บ้านต้าอู ในตำบลหลายฟู่ เมืองอี๋ปิน มณฑลเสฉวน--แฟ้มภาพซินหัว
ตัวอย่างการพัฒนาเขตยากจน...หมู่บ้านภูเขาโกวเอ่อร์ผู่ ในอำเภอเต้าฝู แคว้นปกครองตนเองกานจือ ซึ่งเป็นถิ่นชาติพันธุ์ทิเบต มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เป็นเคยเป็นเขตยากจนแสนสาหัส ปัจจุบันได้พลิกโฉมใหม่เป็นหมู่บ้านที่มีทั้งถนนคอนกรีต ฟาร์มเกษตรเพื่อการท่องเที่ยวชนบท โฮมสเตย์ ฯลฯ

ในปี 2019 หมู่บ้านโกวเอ่อร์ผู่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 3A ของจีน กลายเป็น “แหล่งเที่ยวยอดฮิตที่ต้องมาเช็กอิน” ของบรรดานักท่องเที่ยวที่เดินทางมาที่นี่ นอกจากนี้ โกวเอ่อร์ผู่ยังเป็นหมู่บ้านสาธิตด้านการฟื้นฟูชนบท และได้รับรางวัลดีเด่นด้านอื่นๆ

อีกตัวอย่างเขตพัฒนาที่เปลี่ยนไปอย่างมาก...เมื่อ 8 ปีก่อน หมู่บ้านต้าอู ในตำบลหลายฟู่ เมืองอี๋ปิน มณฑลเสฉวน เป็นหมู่บ้านยากจนที่พบได้ทั่วไปตามพื้นที่ภูเขา ไม่มีทั้งอุตสาหกรรมและถนนหนทางสำหรับสัญจร รายได้ของชาวบ้านก็น้อยนิด แต่เศรษฐกิจที่ล้าหลังและการเดินทางอันยากลำบากได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว ทุกวันนี้ หมู่บ้านต้าอูที่มีสภาพดินและสภาพอากาศที่เอื้อแก่การปลูกชา ได้มุ่งพัฒนาการปลูกชาอย่างจริงจัง เพื่อช่วยชาวบ้านหลุดพ้นจากความยากไร้และปูทางไปสู่ความมั่งมี

นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีการดึงดูดเงินทุนเพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่นอย่างรอบด้าน เช่น การเพาะปลูกพืชผลและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ด้วยการร่วมมือกับสหกรณ์และองค์กรธุรกิจนอกชุมชน สร้างอุตสาหกรรมต่างๆ จนเกิดพลวัตและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รายได้สุทธิต่อหัวของชาวบ้านที่นี่ในปี 2019 อยู่ที่ 20,000 หยวน (ราว 91,000 บาท) ต่อปี

หมู่บ้านอาโห่ว ในอำเภอสี่เต๋อ แคว้นปกครองตนเองเหลียงซาน กลุ่มชาติพันธุ์อี๋ มณฑลเสฉวน--แฟ้มภาพซินหัว
หมู่บ้านอาโห่ว อำเภอสี่เต๋อ แคว้นปกครองตนเองเหลียงซาน กลุ่มชาติพันธุ์อี๋ มณฑลซื่อชวน ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบสูง 3,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ที่นี่มีชาวจีนกลุ่มชาติพันธุ์อี๋สร้างบ้านอยู่กระจัดกระจาย แต่เดิมชาวบ้านที่นี่แร้นแค้นในระดับที่ต้องปลูกมันเพื่อกินแค่พอประทังชีวิตและเลี้ยงไก่เพื่อใช้แลกเกลือ ซึ่งเป็นสภาพการดำรงชีวิตที่ย่ำแย่จนสุดบรรยาย

แต่ทว่าด้วยความช่วยเหลือของรัฐวิสาหกิจอย่างบริษัทสเตต กริด ซื่อชวน อิเล็กทริก พาวเวอร์ (State Grid Sichuan Electric Power) ที่นี่จึงมีบริษัทด้านการเกษตรเข้ามาลงทุนและมีการจัดตั้งสหกรณ์ขึ้น เพื่อส่งเสริมช่องทางการทำกินของชาวบ้านผ่านการร่วมมือกันของบริษัทผู้ประกอบการ สหกรณ์ เกษตรกร และ แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ โครงการต่างๆ จึงผุดขึ้นมากมาย อาทิ การปลูกต้นลิลลี่พันธุ์กินได้ การปลูกต้นเป้ยหมู่ (ป่วยบ้อ) หรือดอกหัวงู ตลอดจนผลไม้มีหนามต่างๆ และนอกจากพืชแล้วก็ยังส่งเสริมให้เลี้ยงแกะพันธุ์ดี ปลาน้ำเย็น และหมู โดยเฉพาะลิลลี่พันธุ์ท้องถิ่นที่สามารถนำไปเป็นส่วนประกอบของยาได้

ไม่เพียงเท่านั้น หมู่บ้านอาโห่วยังได้ตัดถนนคอนกรีตและมีการสร้างบ้านใหม่ที่มีพื้นที่สำหรับเพาะปลูกเล็กๆ ขึ้นอีก 73 หลัง เพื่อบรรเทาความยากจน ช่วยให้ทุกครัวเรือนเข้าถึงไฟฟ้าและน้ำประปา จนถึงเมื่อสิ้นปี 2019 ที่ผ่านมา รายได้ต่อหัวของครอบครัวชาวบ้านยากจนในหมู่บ้านสูงถึง 8,979 หยวน (ราว 41,000 บาท) ต่อปี เพิ่มขึ้นจากตัวเลขเมื่อปี 2015 ซึ่งอยู่ที่ 1,500 หยวน (ราว 6,800 บาท) ต่อปี




กำลังโหลดความคิดเห็น