xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights: เมื่อจีนลงดาบกับความฟุ่มเฟือย กินทิ้งขว้างของประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พนักงานร้านอาหารกำลังวางป้ายชักชวนให้ลูกค้าทานข้าวที่สั่งให้หมด (ที่มา Yangzhou News)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล, มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ

ปีนี้สำหรับจีนแล้วมีปัญหาหลายเรื่องที่ต้องแก้ไขและรับมือในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จนถึงครึ่งปีหลังยังมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นมากมายตอนใต้ของจีนเนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายพื้นที่ ทำให้ สายน้ำ 198 สาย ใน 27 เขตของจีน เกิดภาวะท่วมเอ่อล้นไหลสู่เขตพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย ก่อความเสียหายแก่ประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ประชาชนได้รับผลกระทบ 30 กว่าล้านคนจากน้ำท่วมปีนี้ จนถึงเดือนก.ค. มีความเสียหายไปแล้ว 6.18 แสนล้านหยวน และความเสียหายอื่น ๆ ที่ตามมา คือเรื่องของพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบ โดยมีการประเมินเบื้องต้นจากน้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ว่า พื้นที่เกษตรจะได้รับผลกระทบประมาณ 15.6 แสนล้านตารางเมตร กอปรกับสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกที่ยังไม่ดีขึ้น ภาวะการขาดแคลนอาหารของโลกกลายเป็นความตระหนักของจีนในปัจจุบัน

“光盘行动”อ่านว่า กวงผานสิงต้ง แปลว่า "ปฎิบัติการกินเรียบ" หลังจากเคยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดครั้งแรกในปี 2013 ในปีนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งในวันที่ 11ส.ค. ที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้เน้นย้ำการไม่ฟุ่มเฟือยทางด้านการบริโภคอาหารและสังคมต้องร่วมมือสร้างเงื่อนไขและป้องกันการฟุ่มเฟือยนี้

หลังจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิงแสดงทัศนคติเน้นย้ำต่อแนวคิดนี้ ทำให้ทั่วประเทศจีน 31 มณฑลตอบรับและนำไปปฎิบัติให้เป็นจริง ปฎิบัติการกินเรียบนี้มีหัวใจสำคัญอยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ "สั่งน้อยแต่พอกิน ในครัวไม่ทำเยอะเกินไป" - "กินเหลือห่อกลับ" - "กินและทำแต่พอดี"
หากท่านผู้อ่านคุ้นเคยกับคนจีนหรือเคยเข้าร่วมงานเลี้ยงทานข้าวที่มีคนจีนเป็นเจ้าภาพจะทราบว่า แต่ไหนแต่ไรมาคนจีนจะพิถีพิถันกับการกินและการรับรองเลี้ยงแขก โดยการสั่งอาหารจะเยอะแบบเต็มโต๊ะจนกินไม่หมด เพราะความเชื่อที่ว่าเหลือดีกว่าขาด อีกทั้งเป็นการรักษาหน้าของเจ้าภาพที่เลี้ยงอาหาร เพราะหากสั่งมาพอดี แขกกินจนหมด ไม่มีอาหารเหลือ คนจีนที่เป็นเจ้าภาพจะรู้สึกเสียหน้าอย่างมาก อีกทั้งคนจีนเมื่อเลี้ยงข้าวแขกแล้ว หากอาหารเหลือจะไม่ค่อยห่อกลับบ้าน เหลือก็ทิ้งไว้ แต่ช่วงหลังมานี้ทัศนคติของการกินทิ้งกินขว้างของคนจีนเริ่มดีขึ้น เพราะการรณรงค์ของรัฐบาลที่ผ่านมาและความเชื่อของคนจีนยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป ไม่เหมือนกับยุคก่อน ๆ

30 กว่าปีที่แล้วจีนยังยากจนข้นแค้น ความอดอยากเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปต้องประสบ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มมีไม่กี่ชิ้น อาหารการกินก็ค่อนข้างขาดแคลน เมื่อคนจีนเริ่มมีเงินขึ้นมาในยุค 90 เป็นต้นมา ความเป็นอยู่ดีขึ้น มีเงินมากขึ้น จึงเกิดปรากฎการณ์กินทิ้งกินขว้าง จากการประเมินทางสถิติของทางการจีนรายงานว่า ในแต่ละปีจีนฟุ่มเฟือยทางการอาหารมากถึง 17-18 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ทั่วโลกยังมีประชากรที่อดอยากอยู่เป็นจำนวนมาก
ในภาคของรัฐบาลและข้าราชการจีนห้ามมีการฟุ่มเฟือยด้านการรับประทานและเลี้ยงอาหารมาตั้งแต่หลังปี 2013 โดยดำเนินการมาอย่างเข้มงวดจนถึงปัจจุบัน ในภาคของประชาชนและเอกชนนั้นก็ใช้วิธีการรณรงค์ปลูกฝังค่านิยมใหม่ให้กับสังคม

สำหรับการเพิ่มมาตรการป้องกันการฟุ่มเฟือยทางด้านอาหารในจีน สมาคมร้านอาหารแห่งชาติจีนได้ออกแนวทางต่าง ๆ ดังนี้
- เพิ่มการขายอาหารแบบชุด และสนับสนุนให้มีทางเลือกขายอาหารจานเล็กแทนจานใหญ่
- เพิ่มมาตรการการปรับเงินกับอาหารประเภทบุฟเฟ่ที่ทานเหลือ สนับสนุนให้ลูกค้าทานแต่พอดีและตักบ่อย ปริมาณพอดี (ตอนนี้อาหารบุฟเฟ่จีนไม่ค่อยมีการปรับหากทานเหลือ)
- ร้านอาหารปรับแผนการฯ และจัดชุดอาหารเพื่อการเลี้ยงรับรองให้ไม่ฟุ่มเฟือยเกินไป และต้องชักชวนให้ลูกค้าสั่งจองอาหารแต่พอดี
- ในระหว่างที่ลูกค้าสั่งอาหารหรือจะเพิ่มอาหาร ร้านค้าฯ ต้องแนะนำลูกค้า ป้องกันการสั่งที่มากเกินไป หลังจากลูกค้าทานเสร็จแล้ว พนักงานต้องบริการห่ออาหารที่เหลือให้ลูกค้าเอากลับ โดยไม่ต้องรอให้ลูกค้าเรียก

นโยบายการชักจูงมีหลายรูปแบบทั้งในทีวีโทรทัศน์ สื่อต่าง ๆ จนถึงการตักเตือนและชักชวนจากพนักงานในร้านอาหาร นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังเตรียมที่จะมีกฎหมายออกมาเพื่อควบคุมความฟุ่มเฟือยและสิ้นเปลืองทางด้านอาหารในอนาคตข้างหน้าอันใกล้นี้ โดยการป้องกันความฟุ่มเฟือยด้านอาหารจะเป็นตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เรื่องนี้กลายเป็น ประเด็นร้อนในโซเซียลจีนช่วงหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา ต่างก็มีการประเมินผลกระทบทางด้านต่าง ๆ และ ความเห็นจากหลายภาคส่วน

ในส่วนของภาคประชาชน ผู้เขียนได้เข้าไปอ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการฟุ่มเฟือยด้านการรับประทานอาหารของประชาชนในแอปพลิเคชันข่าวดังหนึ่ง ความเห็นของประชาชนจีนก็มีต่างกันออกไปเช่น “หากร้านอาหารจะสนับสนุนให้มีการทำอาหารจานเล็กลง และราคาจะถูกลงด้วยหรือเปล่า?”“ประชาชนปกติทั่วไปคงไม่มีใครกินทิ้งกินขว้างเพราะไม่มีเงิน”“สนับสนุนให้ลดการฟุ่มเฟือย ไม่กินทิ้งกินขว้าง”“ร้านอาหารมีแต่อยากจะให้บริโภคสั่งอาหารเยอะๆ” เป็นต้น

ผู้เขียนเองมองว่าพฤติกรรมของคนจีนรุ่นใหม่ ไม่เหมือนกับรุ่นก่อน ๆ การกินเลี้ยงของคนทำงานรุ่นใหม่หรือเด็ก ๆ วัยรุ่นก็ไม่ได้มีความฟุ่มเฟือยหรือกินทิ้งกินขว้างกัน จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนออกไปทานข้าวกับเพื่อน ๆ คนจีนหลายครั้ง ก็สั่งกันแต่พอดี เหลือก็พยายามช่วยกันกินให้หมดหรือไม่ก็ห่อกลับ ความฟุ่มเฟือยที่เกิดขึ้นส่วนมากจะเป็นในส่วนของงานกินเลี้ยงสังสรรค์ในวงสังคมระดับสูง แต่ในสังคมปัจจุบันค่านิยมที่เปลี่ยนไป เงินทองหามายากเย็น ผู้เขียนเชื่อว่ามีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังกินทิ้งกินขว้างอยู่

มีงานวิจัยหนึ่งเกี่ยวกับการฟุ่มเฟือยด้านอาหารของประชาชนจีน โดยกล่าวว่า ความฟุ่มเฟือยด้านอาหารของคนจีน 90% มาจากการทานอาหารนอกบ้าน งานเลี้ยง ความเป็นหน้าเป็นตาของเจ้าภาพ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่ประชาชนมีรายได้ค่อนข้างสูง โดยปริมาณของอาหารที่ทิ้งต่อวันต่อจำนวนของปริมาณขยะประจำวันทั้งหมดในเมืองใหญ่ต่าง ๆ แบ่งสัดส่วนได้ดังนี้

จากข้อมูลฯ Sohu สัดส่วนของขยะประเภทเศษอาหารในเมืองหลักต่าง ๆ ของจีนปี 2018 มีดังนี้
1. ปักกิ่ง 725.84 ตัน/วัน คิดเป็น 66.19% สัดส่วนขยะประจำวัน
2. เซี่ยงไฮ้ 588.33 ตัน/วัน คิดเป็น 71.74% สัดส่วนขยะประจำวัน
3. กวางเจา 268.79 ตัน/วัน คิดเป็น 52% สัดส่วนขยะประจำวัน
เซินเจิ้น 300.26 ตัน/วัน คิดเป็น 51.1% สัดส่วนขยะประจำวัน
4. หางโจว 129.85 ตัน/วัน คิดเป็น 53% สัดส่วนขยะประจำวัน

เราจะเห็นได้ว่าเมืองใหญ่ของจีนอย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น กวางโจว อัตราความฟุ่มเฟือยด้านอาหารค่อนข้างมากเลยทีเดียว โดยปริมาณของเศษอาหารที่ทิ้งในแต่ละวัน สัดส่วนต่อขยะทั้งหมดในชีวิตประจำวันล้วนมากกว่า 50% ทั้งสิ้น อัตราการสิ้นเปลืองถือว่าสูง

ทำไมในปีนี้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงถึงได้นำ "ปฎิบัติการกินเรียบ" ยกขึ้นมาพูดอีกครั้ง ผู้เขียนมองว่ามีหลายปัจจัยด้วยกันคือ

ปัจจัยแรก สถานการณ์โลกร้อนนำมาสู่ภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่ปกติ อย่างปีนี้จีนฝนตกหนักตกปริมาณมาก น้ำท่วมหลายพื้นที่ นำความเสียหายมาสู่เกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างอ่อนแอในสังคม ภัยคุกคามด้านคลังอาหารของประเทศ

ปัจจัยที่สอง คือเรื่องความไม่แน่นอนจากต่างประเทศ การนำเข้าอาหาร ความปลอดภัยของอาหาร ทำให้จีนต้องหันมาเพิ่งพาตนเองมากขึ้น

ปัจจัยที่สาม คือปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมจีนที่ยังมีมากอยู่ ปีนี้เป็นปีแห่งเป้าหมายประชาชนยากจนทั้งประเทศที่ต้องหลุดพ้นจากความยากจน ทำให้ความฟุ่มเฟือยด้านอาหารของคนในเมืองใหญ่ เป็นสิ่งที่ไม่ควรอย่างยิ่ง 

อาหารเหลือกำลังถูกเททิ้ง (ที่มา feixiubook.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น