xs
xsm
sm
md
lg

สรุปบทเรียน 10 ปัจจัยความสำเร็จ "ไต้หวัน" สู้ภัยโควิด-19 แบบไม่ล็อกดาวน์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 มาสค็อตของทีม Fubon Guardians ใส่หน้ากากอนามัยถ่ายรูปกับเหล่าสาว ๆ เชียร์ลีดเดอร์ระหว่างเกมการแข่งขันเบสบอลลีกอาชีพของไต้หวัน หรือ CPBL กับทีมยูนิ เพรสซิเดนท์ เซเว่น อีเลฟเว่น ไลออนส์ ณ สนามเบสบอลซินจวง เมืองนิวไทเป เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563
เมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม 2563 ไต้หวันถือเป็นชาติแรก ๆ ในโลกที่เปิดให้แฟนกีฬาจำนวน 1,000 คน สามารถเข้าชมการแข่งขันกีฬาอาชีพอย่างเบสบอลในสนามได้ตามปกติ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ที่กำลังลุกลามไปทั่วโลก ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อเกือบ 4 ล้านราย และผู้เสียชีวิตใกล้แตะ 3 แสนคน (ตัวเลข ณ เวลานั้น)

แม้ไต้หวันจะเป็นดินแดน แรก ๆ ในโลกที่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 นอกจีนแผ่นดินใหญ่ (ผู้ป่วยคนแรกที่ได้รับการยืนยันนอกจีนแผ่นดินใหญ่คือ ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2563 ส่วนผู้ป่วยคนแรกในไต้หวันได้รับการยืนยันเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2563) แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไต้หวัน ณ วันที่ 16 พ.ค. กลับถือว่าอยู่ในระดับต่ำคือ ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมามีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 440 คน และมีผู้เสียชีวิตเพียง 7 คน เท่านั้น


ขณะที่วิถีการดำเนินชีวิตของชาวไต้หวันในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นไปอย่างปกติ โดยไม่ต้องมีการปิดเมือง หรือ ล็อกดาวน์ (แต่มีการปิดไม่ให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2563)

ในมุมมองของรัฐบาลไต้หวัน อะไรคือ ปัจจัย 10 ประการที่นำไปสู่ความสำเร็จในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ของไต้หวัน?

1.การตอบสนองอย่างรวดเร็วของรัฐบาลต่อโรคระบาด : ไต้หวันเริ่มตรวจหาไวรัสในผู้โดยสารที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่นตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 จากนั้นจัดตั้งคณะทำงาน พร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญจำนวน 2 คนไปสอบสวนโรคยังเมืองอู่ฮั่น เพื่อเตรียมรับมือกับกรณีฉุกเฉิน

2.จัดตั้งศูนย์บัญชาการควบคุมโรคระบาดตั้งแต่ระยะแรก : เมื่อไต้หวันพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายแรกเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ก็ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการควบคุมโรคระบาด ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลให้ออกมาตรการควบคุมต่าง ๆ อย่างเต็มที่ รวมทั้งการจำกัดการเดินทางบริเวณชายแดน แผนการติดตาม และตรวจสอบ แผนกักกัน แผนการผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่สำคัญ ฯลฯ

3.ความโปร่งใสของข้อมูล : หลังจากการจัดตั้งศูนย์บัญชาการควบคุมโรคแล้ว มีการแถลงข่าวต่อสาธารณชนและทั่วโลกทุกวัน รายงานชี้แจงข้อเท็จจริง และให้วิธีการปกป้องตนเองจากโรคแก่ประชาชน ในช่วงเวลาสั้น ๆ ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคระบาดได้สร้างความน่าเชื่อถือและได้รับความไว้วางใจจากประชาชน

4.ควบคุมการส่งออก การกระจายแบบรวมศูนย์ และเพิ่มการผลิตเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ : มาตรการเหล่านี้ทำให้ไต้หวันไม่ประสบปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยแต่อย่างใด โดยตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2563 ชาวไต้หวัน และชาวจีนโพ้นทะเลทุกคนสามารถซื้อหน้ากากอนามัยแบบจำกัดจำนวนได้ 9 ชิ้นต่อ 2 สัปดาห์ ในราคาเพียงชิ้นละ 5 บาท

5.ใช้รูปแบบคณะรัฐมนตรีรวมศูนย์ในการบังคับบัญชามาตรการโรคระบาด : การดำเนินการ และมาตรการป้องกันโรคระบาดของทุกกระทรวงล้วนอยู่ภายใต้การสั่งการ และควบคุมดูแลของศูนย์บัญชาการควบคุมโรค และได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน และนายกรัฐมนตรีสภาบริหาร

ชั้นเรียนของเด็กนักเรียนที่โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในนครไทเป ที่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวด (ภาพถ่ายเมื่อ 29 เม.ย. 2563)
6.การบูรณาการระบบการแพทย์ : จากความจำเป็นในการป้องกันโรคอย่างเร่งด่วน รัฐบาลไต้หวันได้ปรับปรุงระบบการแพทย์ให้สอดคล้องกัน เพื่อสามารถตรวจสอบ วินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพที่สุด

7.การปฏิบัติตามมาตรการเชิงรุก ป้องกันการติดเชื้อภายในสถานพยาบาลอย่างเข้มงวด : เพื่อป้องกันการติดเชื้อภายในโรงพยาบาล สถานพยาบาลในไต้หวันได้ใช้มาตรการป้องกันเชิงรุก รวมถึงขั้นตอนการคัดกรองและรักษาผู้ป่วยที่ต้องสงสัยกับผู้ป่วยทั่วไปออกจากกัน การแบ่งชั้นอาคารสำหรับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และจัดเตรียมเวชภัณฑ์ด้านการป้องกันโรคระบาดไว้อย่างเพียงพอ

8.จัดทำระบบติดตามตรวจสอบประวัติการสัมผัสของผู้ป่วย : โรงพยาบาลในไต้หวันสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพและประวัติการเดินทางส่วนบุคคลได้จากบัตรประกันสุขภาพ เพื่อให้หน่วยงานสาธารณสุขสามารถติดตามจัดทำประวัติการสัมผัสของผู้ป่วยได้ โดยระบบการประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ของไต้หวันถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การติดตามประวัติการสัมผัสใกล้ชิดของผู้ป่วยสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

9.การรายงานสถานการณ์ของโรครายวัน : ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคของไต้หวันมีการแถลงข่าว เพื่อรายงานสถานการณ์ของโรคทุกวัน พร้อมนำเสนอข้อมูลโรคระบาดและมาตรการป้องกันโรคระาดล่าสุด รวมถึงขี้แจงข่าวปลอมจากแหล่งต่าง ๆ ทำให้เกิดความโปร่งใส เปิดเผยและเป็นที่ยอมรับของประชาชน

10.ความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างรัฐบาลและประชาชน : องค์กรเอกชนด้านเทคโนโลยีของไต้หวันมีชื่อเสียงในการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีที่ทันสมัย และการบูรณาการที่ดี ทำให้หน่วยงานเอกชนมีส่วนร่วมในการป้องกันโรคระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอย่างมาก และถือเป็นส่วนสำคัญในความสำเร็จ

อนึ่ง สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ได้แบ่งปันประสบการณ์โรคระบาดและความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระหว่างไต้หวันกับไทยอย่างใกล้ชิด โดยมีการจัดประชุมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงเนื้อหา และวิดีโอของการประชุมผ่านทางออนไลน์ได้ทาง http://XCOVID-19.Taiwan-Thailand.net

นอกจากนี้นักธุรกิจชาวไต้หวัน และชาวจีนโพ้นทะเลในไทยยังมีการจัดตั้ง "กลุ่มระดมทุนเพื่อคนไทยสู้ภัยโรคโควิด-19 จากชาวไทยและชาวจีนโพ้นทะเล" โดยเงินบริจาคที่รับมาได้นำไปซื้อเวชภัณฑ์ป้องกันโรคและบริจาคให้กับสถานพยาบาลในประเทศไทย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการบริจาคหน้ากากอนามัยจำนวนหนึ่งให้กับโรงพยาบาลตำรวจ โดยจะมีการบริจาคให้โรงพยาบาลและหน่วยงานอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น