xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยจีนพบ ‘โคโรนาพันธุ์ใหม่’ อาจเกิดจากไวรัสใน ‘ตัวนิ่ม-ค้างคาว’ ผสมกัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพซินหวา สื่อทางการจีน)
สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการจีน รายงาน (10 พ.ค.) — ผลการศึกษาจากคณะนักวิจัยของจีนที่ดำเนินการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมเชิงเปรียบเทียบ พบความเป็นไปได้ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจมีต้นกำเนิดจากการผสมกันของไวรัสในตัวนิ่มและไวรัสในค้างคาว

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เซาท์ไชน่า (SCAU) และห้องปฏิบัติการเพื่อการเกษตรสมัยใหม่หลิ่งหนาน กว่างตง ได้เผยแพร่ผลการศึกษาดังกล่าวก่อนการตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อวันพฤหัสบดี (7 พ.ค.)

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ที่ก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน มีลำดับทางพันธุกรรมเหมือนกับไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคซาร์ส (SARS) ในปี 2003 ซึ่งมีต้นกำเนิดในสัตว์ และไวรัสโคโรนาในค้างคาว (RaTG13)

“ค้างคาวอาจเป็นโฮสต์กักตุน (reservoir host) ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆ ส่วนคำถามว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีโฮสต์อื่นๆ หรือไม่ยังคงเป็นประเด็นคลุมเครืออันน่าสงสัยต่อไป” บทความการศึกษาฉบับก่อนแก้ไขระบุ

ขณะเดียวกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งคัดแยกมาจากตัวนิ่มในมาเลเซีย มีกรดอะมิโนเหมือนกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในยีนอี เอ็ม เอ็น และเอส (E, M, N และ S) ระดับร้อยละ 100, 98.6, 97.8 และ 90.7 ตามลำดับ

“ตำแหน่งตัวรับ-ยึดเกาะ (receptor-binding domain) ภายในโปรตีนเอส (S protein) ของไวรัสโคโรนาในตัวนิ่ม มีลักษณะเหมือนกับของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แตกต่างกันตรงกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นตัวเดียวเท่านั้น”

ผลการศึกษาเสริมว่าไวรัสโคโรนาในตัวนิ่มถูกตรวจจับได้ในตัวนิ่มมาเลเซีย 17 ตัวจากทั้งหมด 25 ตัว ที่คณะนักวิทยาศาสตร์นำมาดำเนินการวิเคราะห์

“การคัดแยกไวรัสโคโรนาที่มีความเกี่ยวพันกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างมากในตัวนิ่ม บ่งชี้ว่าตัวนิ่มอาจมีศักยภาพเป็นโฮสต์ตัวกลาง (intermediate host) ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่”



กำลังโหลดความคิดเห็น