ซินหัว — หากคุณขึ้นรถไฟตอนที่มีผู้เดินทางแออัดเบียดเสียด คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าเคยร่วมเดินทางไปกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่ถูกตรวจพบในภายหลังหรือไม่?
เมื่อไม่นานนี้ คณะนักพัฒนาชาวจีนเปิดตัวโปรแกรมที่ช่วยให้ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบกรณีดังกล่าวได้ด้วยการกรอกวันเดินทางและหมายเลขขบวนรถไฟ โปรแกรมดังกล่าวซึ่งรวบรวมข้อมูลจากสถานที่สาธารณะได้รับความนิยมอย่างมากในสื่อสังคมออนไลน์จีน หลังประชาชนหลายล้านหันมาใช้งานเพื่อตรวจสอบว่าพวกเขามีความเสี่ยงติดเชื้อหรือไม่
บิ๊กดาต้า (Big Data) มีบทบาทสำคัญในการสู้ศึกไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง
“12306” แพลตฟอร์มจองตั๋วรถไฟออนไลน์ ได้จัดส่งข้อมูลกลุ่มผู้ติดต่อใกล้ชิดกับผู้โดยสารที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดไวรัสโคโรนาแก่ทางการจีน
จูเจี้ยนเซิง เจ้าหน้าที่สถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์รถไฟแห่งจีน (CARS) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม 12306 ชี้แจงว่า “เราวิเคราะห์ข้อมูลของผู้โดยสารที่นั่งถัดจากผู้ติดเชื้อหรือต้องสงสัยว่าติดเชื้อข้างหน้า 3 แถว และข้างหลัง 3 แถว เพื่อให้หน่วยงานที่ควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสฯ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
นอกจากนี้ บรรดายักษ์ใหญ่วงการอินเทอร์เน็ตยังเข้าร่วมมือด้วยโดยการส่งข้อมูลมหาศาล ยกตัวอย่างกรณี
“แผนที่ไป่ตู้” (Baidu Map) แสดงข้อมูลการปิดถนนและพื้นที่สาธารณะที่มีผู้คนพลุกพล่านแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด
ด้านเทนเซนต์ (Tencent) ยักษ์ใหญ่บริษัทอินเทอร์เน็ตอีกราย ให้บริการตรวจสอบข้อเท็จจริงแบบเรียลไทม์เพื่อลดการแพร่กระจายข่าวลือ โดยผู้ใช้สามารถกรอกคำสำคัญหรือคีย์เวิร์ดลงในโปรแกรมฐานข้อมูล เพื่อตรวจสอบดูว่าข่าวนั้นๆ เป็นข่าวที่จริงหรือข่าวปลอม
นอกเหนือจากการติดตามผู้ป่วยที่มีโอกาสติดเชื้อและแจ้งข้อมูลที่สำคัญแก่ประชาชนแล้ว บิ๊กดาต้ายังช่วยการตัดสินใจของรัฐบาลอีกด้วย
หวังอี้ว์ข่าย สมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาสารสนเทศแห่งรัฐ (Advisory Committee for State Informatization) ให้สัมภาษณ์กับ Legal Daily หนังสือพิมพ์ในปักกิ่ง ว่าการตัดสินใจของรัฐบาลเทศบาลนครปักกิ่งในการระงับการใช้ทางพิเศษระหว่างมณฑล แต่ไม่ขัดขวางการไหลเวียนของผู้โดยสารในระบบการบินพลเรือนและรถไฟความเร็วสูงนั้น เป็นอานิสงส์จากการวิเคราะห์ของบิ๊กดาต้า
หวังระบุว่าการปิดกั้นช่องทางจราจรอันแออัดดังกล่าวอาจควบคุมความเสี่ยงได้ แต่ก็อาจสร้างความสูญเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากเช่นกัน พร้อมชี้ว่าการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าที่แม่นยำสามารถช่วยรัฐบาลในการชั่งน้ำหนักและหาจุดสมดุล
แม้บิ๊กดาต้าจะแสดงให้เห็นถึงพลังในการลดการแพร่ระบาดของไวรัสฯ แต่หม่าเหลียง ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยประชาชนจีน (Renmin University) ให้สัมภาษณ์กับเดอะ เปเปอร์ (The Paper) เว็บไซต์ข่าวของเซี่ยงไฮ้ ว่าปัญหาต่างๆ ยังคงมีให้เห็น อาทิ การขาดการแบ่งปันข้อมูลข้ามภูมิภาค และระหว่างองค์กรและรัฐบาล
หม่ายังเตือนว่าหน่วยงานต่างๆ ควรระมัดระวังเรื่องการใช้ข้อมูล เนื่องจากหากมีข้อมูลใดๆ รั่วไหล อาจทำให้สถานการณ์สำหรับผู้ป่วยบางรายแย่ลง
“บิ๊กดาต้าเป็นดาบสองคม มีทั้งคุณและโทษ” หม่ากล่าว พร้อมเสริมว่าหน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่างๆ ควรให้ความสำคัญสูงสุดกับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวเมื่อใช้การวิเคราะห์จากบิ๊กดาต้า