ซินหัว,อู่ฮั่น, 2 พ.ค. — คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนได้ดำเนินการวิเคราะห์ลักษณะทางอากาศพลศาสตร์ (aerodynamic) ของละอองลอยในอากาศ (aerosol) ที่มีไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ปะปนอยู่ และยืนยันว่าไวรัสฯ อาจมีศักยภาพแพร่กระจายผ่านละอองลอยในอากาศได้
การศึกษาดังกล่าวที่นำโดยมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น (Wuhan University) ในนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน ได้สอบสวนลักษณะทางอากาศพลศาสตร์ของไวรัสฯ ด้วยการวัดอาร์เอ็นเอ (RNA) ของไวรัสฯ ในละอองลอยในอากาศ ณ พื้นที่ต่างๆ ในอู่ฮั่นระหว่างเดือนก.พ.-มี.ค.
ตัวอย่างละอองลอยในอากาศถูกเก็บรวบรวมจากโรงพยาบาลเหรินหมินแห่งมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น โรงพยาบาลชั่วคราวในเขตอู่ชาง ย่านที่พักอาศัย และซูเปอร์มาร์เก็ต
หลานเคอ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาแห่งรัฐ สังกัดมหาวิทยาลัยฯ และสมาชิกหลักของทีมวิจัย กล่าวว่าความหนาแน่นของไวรัสฯ ในละอองลอยในอากาศ ณ ห้องแยกโรคและห้องผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจนั้นต่ำมาก แต่กลับเพิ่มขึ้นในบริเวณห้องน้ำของผู้ป่วยขณะที่ความหนาแน่นของไวรัสฯ ในละอองลอยในอากาศ ณ พื้นที่สาธารณะที่อยู่ภายใต้การกักกันโรคอันเข้มงวดส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ตรวจไม่พบ
นอกจากนั้นทีมวิจัยยังพบว่าละอองลอยในอากาศที่มีไวรัสฯ ปะปนอยู่ตกลงพื้นหรือเสื้อผ้าของมนุษย์ก่อนถูกมนุษย์นำพาและกลับมาแขวนลอยในอากาศอีกครั้ง
หลานกล่าวว่าเนื่องจากความรู้เกี่ยวกับการแพร่กระจายทางละอองลอยในอากาศมีอยู่จำกัด ผู้คนจำนวนมากจึงวิตกกังวลและสับสนเพราะมองว่าเป็น “การแพร่กระจายทางอากาศ (airborne) ที่ไม่สามารถป้องกันได้”
ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าการระบายอากาศภายในห้อง พื้นที่เปิดโล่ง การรักษาสุขอนามัยของชุดป้องกันทางการแพทย์ รวมถึงการใช้และการฆ่าเชื้อโรคบริเวณห้องน้ำอย่างเหมาะสม สามารถจำกัดความหนาแน่นของไวรัสฯ ในละอองลอยในอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อนึ่ง การศึกษาครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์ของวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อวันจันทร์ (27 เม.ย.) ที่ผ่านมา