เมื่อปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ค่ายสื่อมะกัน วอชิงตัน ไทม์ส และสื่ออังกฤษ เดลิเมล์ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับวิดีโอสารคดี 'Youth in the Wild: Invisible Defender' ซึ่งเป็นเรื่องราวของ นาย เถียน จวินหวา (田俊华) เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาดประจำเมืองอู่ฮั่น บุกถ้ำค้างคาวนับสิบๆแห่งทั่วมณฑลหูเป่ยเพื่อเก็บรวบรวมตัวอย่างเชื้อไวรัสจากค้างคาว การนำเสนอบทความและนำวิดีโอสารคดีชุดดังกล่าวมาเผยแพร่อีกครั้งนี้เป็นการปลุกกระแส “ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด” เกี่ยวกับปริศนาต้นตอของการระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ sARS-CoV-2 ซึ่งต่อมาองค์การอนามัยโลกตั้งชื่อว่า โควิด-19 (COVID-19)
สมมุติฐานในทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดที่กลายเป็นสงครามน้ำลายระหว่างสองมหาอำนาจโลกที่ช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาดหนัก ได้แก่ เชื้อไวรัสโคโนนาสายพันธุใหม่หลุดออกมาจากห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาดในเมืองอู่ฮั่นโดยอุบัติเหตุ และอีกกระแสชี้ว่ามาจากกองทัพสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ปล่อยเพื่อทำลายจีน ไปยันสงครามชีวภาพจากฝ่ายอเมริกาหรือไม่ก็ฝ่ายจีน
สำหรับวิดีโอ 'Youth in the Wild: Invisible Defender' ความยาว 7 นาทีนี้เป็นหนึ่งในชุดสารคดีของสำนักงานสารสนเทศวิทยาศาสตร์แห่งจีน (China Science Communication) สังกัดสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งจีน (China Association for Science and Technology) โดยมีวัตถุประสงค์เผยแพร่งานของนักวิทยาศาสตร์จีนรุ่นหนุ่มสาว วิดีโอสารคดีชุดนี้ถูกนำออกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปลายเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาดในอู่ฮั่น และมันก็ทำให้นักสังเกตการณ์บางกลุ่มเชื่อว่า “นายมนุษย์ค้างคาวจีน เถียน จวินหวาผู้นี้” อาจเป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งที่จะไขเข้าใกล้ต้นตอการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
เรื่องสมมุติฐานทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดนั้นแต่ละฝ่ายยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ชนิดจับได้คาหนังคาเขา ส่วนเรื่องราวการบุกถ้ำไล่ล่าค้างคาวของนาย เถียน จวินหวา เพื่อเก็บตัวอย่างและแบ่งแยกชนิดของเชื้อไวรัสนั้น เป็นเรื่องจริงที่มีสีสันไม่แพ้ภาพยนตร์ผจญภัยป่าดงดิบของฮอลลีวูด สื่อท้องถิ่นคือ อู่ฮั่น อีฟนิ่ง นิวส์ ได้เผยแพร่รายงานบทสัมภาษณ์นายเถียนเมื่อสามปีที่แล้ว
มาดูกันว่า...ทำไมการล่าค้างคาวของนายเถียน จวินหวาจึงถูกดึงไปเชื่อมโยงกับทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดได้
บุกถ้ำเขาในป่าลึก ไล่ล่าค้างคาวเลือดสาดเปื้อนตัว
“ในตัวค้างคาวนั้นมีเชื้อไวรัสมากมายหลายชนิดที่เรายังไม่รู้ การวิจัยไวรัสในค้างคาวจะเป็นประโยชน์ในการป้องกันโรค และรักษาสุขภาพของมนุษย์” นาย เถียน รองหัวหน้าทีมเทคนิกเชียนประจำศูนย์กำจัดศัตรูพืชและฆ่าเชื้อโรค สังกัดศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาดแห่งอู่ฮั่น กล่าว
นายเถียนเริ่มงานวิจัยค้างคาวในปี 2012 ในช่วงนั้นเขาใช้เวลานับสิบปีเดินทางไปทั่วมณฑลหูเป่ยซึ่งอุดมไปด้วยตัวอย่างสัตว์และแมลงที่เป็นพาหะเชื้อโรค บุกตะลุยสำรวจถ้ำนับสิบๆแห่ง
ค้างคาวชอบอาศัยในถ้ำอันมืดมิดทั้งชื้นแฉะและเหม็นอย่างนรก การบุกถ้ำค้างคาวซึ่งเป็นขุมเชื้อไวรัสนานาชนิดมากยิ่งกว่าสัตว์พาหะเชื้อโรคตัวใด ทั้งเชื้อมรณะอย่างไวรัสซาร์ส เมอร์ส และอีโบล่า จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคมาก
ในบทสัมภาษณ์โดยอู่ฮั่น อีฟนิ่ง นิวส์ ระบุว่านายเถียนรู้จักค้างคาวผ่านหนังสือตำราเท่านั้น แต่เขายังกล้าชวนภรรยาปีนเขาบุกถ้ำไปไล่ล่าค้างคาวด้วยกัน “ตอนนั้นผมต้องการผู้ช่วย ภรรยาของผมทำอาชีพเดียวกับผม เราจึงไปด้วยกัน”
ในตอนกลางวัน ค้างคาวนอนนิ่งเร้นกายในถ้ำมืดจึงต้องรอเวลากลางคืน ค้างคาวมีประสาทสัมผัสอัตโนมัติเหมือนเรดาร์จับคลื่นความถี่เหนือเสียงดังนั้นจึงไม่สามารถจับตัวมันได้ง่ายๆ ในช่วงเริ่มต้นเถียนประสบความยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยมาก วันแล้ววันเล่าที่เขาบุกบั่นเสี่ยงภัยในถ้ำมืดโดยที่จับค้างคาวไม่ได้เลยแม้ตัวเดียวแต่ก็ไม่เคยคิดท้อถอย
นักวิจัยหนุ่มได้ลองวิธีการต่างๆ ในที่สุดก็พบวิธีคือจุดประทัด ควันไฟและเสียงดังจากประทัดทำให้ค้างคาวแตกตื่นกระพือปีกบินว่อน จากนั้นเขาก็ใช้ตาข่ายจับเหยื่อได้เป็นจำนวนมาก
นายเถียนเล่าว่าเขาเข้าไปในถ้ำค้างคาวครั้งแรกอย่างไม่มีประสบการณ์จึงไม่ได้สวมชุดติดอุปกรณ์ป้องกันตัว ฉี่ค้างคาวและของเหลวต่างๆหยดลงจากเพดานถ้ำราวฝนโปรยเข้าตาและเปื้อนตามผิวหนัง แต่เขาไม่สนใจ ต่อมาเมื่อคิดได้ว่าของเหลวที่หยดลงมาเปื้อนตามตัวเขานั้นอาจเป็นของเสียที่ขับออกจากตัวค้างคาว หลังจากนั้นทุกครั้งที่เข้าไปในถ้ำเขาจึงสวมชุดติดอุปกรณ์ป้องกันตัวอย่างหนาแน่น เพราะหากติดเชื้อก็จะไม่มียาใดรักษา
ที่ปีกค้างคาวมีอุ้งเล็บจึงต้องใช้คีบจับซึ่งทำให้มันบาดเจ็บและเลือดค้างคาวจะพุ่งออกมาทันที
นายเถียนโดนทั้งฉี่และเลือดค้างคาวเปื้อนเลอะตามผิวหนังตามตัวหลายครั้ง เขาบอกว่า “มีเพียงวิธีเดียวคือ ‘กักตัวเอง 14 วัน’ ซึ่งเป็นช่วงฝักตัวของเชื้อโรค หากไม่มีไข้ก็ถือว่ารอดแล้ว” ดังนั้น เขาและภรรยาจึงกลับบ้านต่างคนต่างแยกกันกักตัวเองเป็นเวลาครึ่งเดือน จนกระทั่งเห็นว่าว่าไม่มีอาการผิดปกติใดจึงถอนหายใจโล่งอกกัน
ในบทสัมภาษณ์สื่อจีนระบุว่านายเถียนจับค้างคาวร่วมหมื่นตัวนำกลับมาที่ห้องทดลองวิจัยตัวอย่างเชื้อไวรัส ในปี 2012 ขณะที่นายเถียนทำงานที่ห้องทดลองในเขตหวงผี(黄陂) ชานเมืองอู่ฮั่น ก็ได้ค้นพบไวรัสชนิดหนึ่งที่ถูกตั้งชื่อว่า “ไวรัสหวงผี” (Huangpi Virus) ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Hantavirus ต่อมาปี 2013 การวิจัยนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์การชั้นนำ PLOS PATHOGENS
“เมื่อเปรียบเทียบกับงานวิจัยในชั้นหลังๆที่มีเครื่องมือและเทคโนโลยีล้ำสมัยช่วยแล้ว งานจับ (ค้างคาว) ต้องใช้แรงงานคนเป็นหลัก ทั้งลำบากมากและโดดเดี่ยว”
ในฐานะฟันเฟืองหลักอันหนึ่งของศูนย์ป้องกันและควบคุมเชื้อโรคแห่งจีน กลุ่มผู้เชี่ยวชาญในอู่ฮั่นได้รับผิดชอบภารกิจเก็บตัวอย่างการวิจัยและระบุตัว ซึ่งนับเป็นงานชั้นต้นที่สำคัญที่สุด แต่เป็นงานที่นักวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่วนใหญ่ไม่อยากแตะต้อง เพราะมันทั้งลำบาก เสี่ยงอันตราย ยื่นขอทุนยาก ที่สำคัญที่สุดคือยากที่จะประสบความสำเร็จ “แต่ผมก็มีความสุขกับมัน และจะยืนหยัดสู้ต่อไป” นาย เถียนกล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่น อู่ฮั่น อีฟนิ่ง นิวส์ สำนักข่าวซินหัว และพีเพิล เดลี่ ได้เผยแพร่บทความจากการสัมภาษณ์นี้ด้วยเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2017
“ในช่วงเวลาเกือบ 12 ปี ที่ผ่านมา ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อของจีนได้ค้นพบไวรัสชนิดใหม่ๆเกือบ 2,000 ชนิด ขณะที่ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา โลกได้ค้นพบไวรัสเพียง 2,288 ชนิดเท่านั้น จีนจึงพิชิตความเป็นผู้นำโลกในด้านงานวิจัยพื้นฐานเกี่ยวกับเชื้อไวรัส” นี่คือ ซับไตเติลท้ายวิดีโอสารคดีการบุกถ้ำล่าค้างคาวของนายเถียน
ด้านสื่อกระแสหลักในจีน ซีน่า นิวส์ (sina.com) ได้นำเสนอข่าวล่าสุดเกี่ยวกับนาย เถียน เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยพาดหัวว่า “เถียน จวินหวา ผู้ต้องสงสัยติดเชื้อฯ หมายเลข 0” โดยยกข้อสนับสนุน “การกักตัว 14 วันของนายเถียงหลังโดนทั้งฉี่และเลือดค้างคาวเปื้อนตัว ซึ่งเป็นช่วงฝักตัวของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่”
เมื่อไม่นานมานี้นักวิจัยสถาบันไวรัสวิทยาในอู่ฮั่นพบว่า 96 เปอร์เซ็นต์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่คล้ายกับไวรัสค้างคาว
อีกเงื่อนไขหนึ่งที่กระตุ้นต่อมสงสัยของทั้งสื่อจีนและสื่อเทศคือ ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาดนั้นตั้งอยู่ห่างจากตลาดหวาหนันแหล่งขายส่งอาหารทะเลสดเมืองอู่ฮั่นเพียง 590 เมตร
ผู้สื่อข่าวจีนพยายามติดตามสัมภาษณ์ นายเถียน แต่ไม่สำเร็จ เขาอ้างเหตุงานยุ่งมาก และอาจด้วยความกลัวหลุดคำพูด “ที่ผิด” ออกมาจึงรีบวางโทรศัพท์
หลังจากที่เกิดกระแสเสียงแสดงความสงสัยหนาหู นายเถียงออกมาแย้งว่าเขาไม่ได้จับค้างคาวเป็นหมื่นตัว โดยบอกว่าตอนนั้นผู้สื่อข่าวจีนไม่ได้ให้เขาตรวจทานเนื้อหาบทสัมภาษณ์
ผู้ที่รู้เรื่องดีบอกกับผู้สื่อข่าวจีนว่า “เรื่องนี้เป็นประเด็นอ่อนไหวต่อนายเถียนมาก เขาสัมผัสของเหลวจากค้างคาวเมื่อหลายปีก่อน ไม่น่าเกี่ยวข้องกับโรคปอดอักเสบโควิดที่ระบาดในขณะนี้”
กลุ่มสื่อตะวันตกนำวิดีโอเรื่องการจับค้างคาวของเถียนมาเผยแพร่อีกครั้งในช่วงวันที่ 30-31 มี.ค.ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้เอง กลุ่มสื่อจีนได้ประโคมข่าวกันว่า พบ “ผู้ติดเชื้อฯหมายเลข 0” คือ หญิงแซ่ แซ่ เว่ย เป็นแม่ค้ากุ้งในตลาดหวาหนันแหล่งขายอาหารทะเลสดในเมืองอู่ฮั่น นางเว่ยเผยว่าตนติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และมีอาการแสดงออกในวันที่ 11 ธ.ค. 2019 อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่อง ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คนแรกของจีนนั้นยังเป็นเรื่องที่เคลือบแคลงโดยเฉพาะในกลุ่มสื่อเทศ.