โดย อรสา รัตนอมรภิรมย์
จีนเน้นย้ำเรื่องความกตัญญูมาแต่โบราณ จนมีคำกล่าวว่า “คุณความดีนับร้อย เริ่มต้นที่ความกตัญญู (百善以孝为先)”
ตามปรัชญาขงจื่อ จะเชิดชูความกตัญญูที่บุตรธิดาพึงมีต่อบุพการี ตลอดจนความกตัญญูที่ขุนนางพึ่งมีต่อฮ่องเต้ คุณธรรมข้อนี้ของจีนได้ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น และต่อยอดเป็น “ความกตัญญูต่อประเทศชาติ” ในปัจจุบัน
แล้วพลังแห่งความกตัญญูนั้น ช่วยกู้วิกฤติไวรัส COVID-19 ได้อย่างไร?
ทันทีที่มีการประกาศปิดเมืองอู่ฮั่น เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 จีนได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลเดินทางไปยังนครอู่ฮั่น เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย ซึ่งเชื่อกันว่าคือต้นเหตุการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019
ในคืนวันประกาศศึกกับโรคไวรัสโคโรนา 2019 นั้น มีคณะแพทย์พยาบาลจากฉงชิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว ฯลฯ ตบเท้าไปร่วมต่อสู้กับโรคอุบัติใหม่ อาทิ มหาวิทยาลัยการแพทย์ทหารบกฉงชิ่งส่งไป 135 คน มหาวิทยาลัยการแพทย์ทหารเรือเซี่ยงไฮ้ส่งไป 160 กว่าคน คณะแพทย์จากมหาวิทยาลัยจงซาน มหาวิทยาลัยจี้หนาน รวมทั้งมีทีมแพทย์อาสา 24 คนจากโรงพยาบาลหนานฟาง นครกว่างโจว ที่ทำหนังสือถึงต้นสังกัดขออาสาที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ยังพื้นที่โรคระบาด โดยทั้ง 24 คนนั้นรวมตัวกันตั้งแต่ครั้งการระบาดของโรคซาร์สเมื่อ 17 ปีก่อน พวกเขาอ้างว่า กลุ่มของตนนั้นมีประสบการณ์สูงจากที่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลเสี่ยวทังซาน กรุงปักกิ่ง โดยที่ไม่มีใครติดเชื้อเลยแม้แต่คนเดียว ครั้งนี้เมื่อประเทศชาติเกิดโรคภัยร้ายแรงอีกครั้ง จึงขอขันอาสาไปช่วยยังแนวหน้าด้วย
ต้องไม่ลืมว่า วันที่ 23 มกราคม 2563 นั้น เป็นคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับตรุษจีน ซึ่งตามธรรมเนียมจีนนั้น ทุกคนจะต้องกลับบ้านไปหาพ่อแม่ อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาเพื่อร่วมโต๊ะอาหารกันในครอบครัว
คณะแพทย์และพยาบาลชุดแรกที่ลงชื่อไปนั้น จึงถือได้ว่าพวกเขายกเอาความกตัญญูต่อประเทศชาติไว้เหนือกว่าความกตัญญูต่อพ่อแม่หรือครอบครัว
จากร้อยเป็นพัน จากพันเป็นหมื่น ความเสียสละเพื่อช่วยชีวิตเพื่อนรวมชาติได้รวมกันเป็น “พลังแห่งความกตัญญู” สถิติอย่างเป็นทางการที่รวบรวมไว้จนถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 มีคณะแพทย์พยาบาลเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ยังแนวหน้าที่มณฑลหูเป่ยแล้ว 210 คณะ รวม 28,387 คน
บรรดาเจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาลเหล่านี้ เมื่อยินยอมพร้อมใจเลือกไป “ออกรบ” แล้ว พวกเขาก็ได้ทุ่มเททุกเวลานาทีปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดกำลังสติปัญญาและความสามารถ
เราจึงได้เห็นภาพน่ารักๆ อย่างเช่น พยาบาลนำเต้นแอโรบิคให้แก่ผู้ป่วยในบริเวณห้องโถงของโรงพยาบาลชั่วคราว การเขียนข้อความ 加油!(เจียโหยว) ซึ่งแปลว่า “สู้ๆ” บนชุดป้องกันที่ปิดทุกส่วนในร่างกายไว้อย่างมิดชิดของบรรดาแพทย์พยาบาล และการเปิดกลุ่มวีเชทคอยตอบปัญหาคาใจแก่บรรดาผู้ป่วย
เมื่อได้รับการดูแลอย่างดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้ที่หายป่วยต่างจึงรู้สึกซาบซึ้งใจอย่างมาก ในคำให้สัมภาษณ์ออกสื่อของผู้หายป่วย เราจึงได้ยินการขอบคุณประเทศชาติ ขอบคุณรัฐบาล ขอบคุณแพทย์พยาบาลที่ได้ช่วยฉุดชีวิตพวกเขาให้หลุดพ้นจากเงื้อมือมัจจุราช
ดังนั้น ทันทีที่มีข่าวว่าเลือดของผู้ที่หายป่วยสามารถนำไปทำ Antibody ได้ ผู้หายป่วยจากหลายๆ เมืองจึงพร้อมใจกันบริจาคเลือดเพื่อนำไปช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติรายอื่นที่ยังป่วยอยู่ ทั้งๆ ที่ในสถานการณ์ปกติ คนจีนจะหลีกเลี่ยงการบริจาคเลือด เนื่องจากเมื่อหลายปีก่อน เคยเกิดกรณีอื้อฉาวคนติดเชื้อเอดส์จากการบริจาคเลือด!
อะไรที่ทำให้ผู้หายป่วยตัดสินใจเช่นนี้ คำตอบย่อมเกิดจากความสำนึกในบุญคุณ ความกตัญญูที่มีต่อประเทศชาติ และความเมตตาที่มีต่อเพื่อนร่วมชะตากรรม
หลังปิดเมืองอู่ฮั่นเป็นเวลา 1 เดือน สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ยอดผู้ป่วยรายใหม่ลดลง ขณะที่ยอดผู้ป่วยที่รักษาหายเพิ่มขึ้น อากาศก็ค่อยๆ อุ่นขึ้นต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ ทำให้ผู้คนที่กักตัวอยู่กับบ้านมาเป็นเดือนอยากออกไปสูดอากาศนอกบ้านกันเต็มแก่ แต่ทว่าภาพข่าวที่ออกมา จะเห็นผู้คนตามสถานที่ชุมชนคนเยอะๆ ต่างไม่ใส่หน้ากากอนามัย!
จนทำให้มีเสียงเตือนผ่านโลกโซเซียลว่า สงครามโรคร้ายยังไม่จบ อย่าเพิ่งชะล่าใจ ต้องป้องกันไว้ก่อน จึงจะถือเป็นการกตัญญูรู้คุณผู้ที่เสียสละทั้งหมดในการทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้
ทว่าสถานการณ์ภาพรวมที่ดีขึ้นนั้น กลับแลกมาด้วยการอุทิศชีวิตของผู้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะหมอที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วย พวกเขาต่างติดเชื้อและเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่
สถิติจากหัวหน้าคณะกรรมการตรวจสอบส่วนกลาง นายเหลียงว่านเหนียน ระบุเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลที่ทำงานอยู่ในสถานพยาบาลต่างๆ รวม 476 แห่ง ติดเชื้อไวรัส COVID-19 แล้ว 3,387 คน โดยร้อยละ 90 อยู่ในมณฑลหูเป่ย
การเสียชีวิตของแพทย์เฉพาะที่เป็นข่าวโด่งดัง ได้แก่ การเสียชีวิตของ นพ.หลี่เหวินเลี่ยง (李文良) จักษุแพทย์ที่ได้รับฉายาว่า “คนเป่านกหวีด” ผู้เตือนการระบาดออกสื่อเป็นคนแรก (เสียชีวิต 7 ก.พ.), นพ.หลิวจื้อหมิง (刘智明) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอู่ชาง ที่อุทิศตนเพื่อการช่วยชีวิตผู้อื่นจนลมหายใจสุดท้าย (เสียชีวิต 18 ก.พ.) นพ.เผิงหยินฮวา (彭银华) หมอด้านระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมีอายุแค่ 29 ปี (เสียชีวิต 21 ก.พ.) คุณหมอเลือกอยู่รักษาคนไข้ในแนวหน้า โดยขอเลื่อนการจัดพิธีแต่งงานกับภรรยาซึ่งตั้งครรภ์ได้ 6 เดือนแล้วออกไป ซึ่งเขาบอกกับคนรักว่า “จะขอจัดพิธีแต่งงานต่อเมื่อโรคหยุดระบาดแล้วเท่านั้น” และรายล่าสุดคือ พญ.เซี่ยซือซือ (夏思思) จากโรงพยาบาลเสียเหอเจียงเป่ยในอู่ฮั่น อายุ 29 เช่นเดียวกัน (เสียชีวิต 23 ก.พ.)
หมอคนแล้วคนเล่าที่ตายไปท่ามกลางสมรภูมิรบนี้ ได้สร้างความโศกเศร้าสะเทือนใจในสังคมจีนอย่างมาก
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจึงได้เน้นย้ำอีกครั้งว่า จะต้องให้ความสำคัญอย่างสูงต่อการปกป้อง ใส่ใจ รักและทะนุถนอมเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้พวกเขาสามารถรักษาจิตใจที่พร้อมต่อสู้และเปี่ยมด้วยพละกำลังที่จะยืนหยัดทุ่มเทเพื่อเอาชนะโรคระบาดในครั้งนี้
ความกตัญญูรู้คุณต่อแพทย์พยาบาลยังสะท้อนผ่าน มาตรการอัดฉีดขวัญและกำลังใจต่างๆ เช่น ให้สิทธิพิเศษแก่บุตรธิดาของแพทย์พยาบาลในแนวหน้าด้านการศึกษาเล่าเรียน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทาลัย อาทิ จัดสรรโรงเรียนอนุบาลใกล้พื้นที่พักอาศัย, ให้สิทธิพิเศษในการเข้าเรียนโรงเรียนชั้นนำใกล้บ้านสำหรับชั้นประถมและมัธยมต้น, ให้คะแนนพิเศษเพิ่ม 10 คะแนนเมื่อสอบเข้ามัธยมปลาย, ให้โควตาพิเศษสำหรับเข้าเรียนสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ ฯลฯ ซึ่งเรื่องลูกสามารถเข้าโรงเรียนดีใกล้บ้าน เป็นเรื่องหนักอกของผู้ปกครองชาวจีนทุกคน
การได้รับรางวัลเป็นสิทธิพิเศษด้านการศึกษาของบุตรธิดา จึงเท่ากับยกเอาภูเขาก้อนใหญ่ออกจากอกของเหล่าแพทย์พยาบาลทั้งหลายที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกดดัน
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการชี้นำการทำงานเพื่อรับมือกับโรคปอดอักเสบจากไวรัส COVID-19 ของทางการจีนยังได้ออกมาตรการ 10 ข้อเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปกป้องและใส่ใจแพทย์พยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ในแนวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญได้แก่ เพิ่มอัตราเงินเดือนให้ 2 เท่า, เพิ่มเงินเบี้ยเลี้ยงอุดหนุนพิเศษอีก 1 เท่า, ได้สิทธิพิจารณาเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งก่อน และการไปปฏิบัติงานในแนวหน้า เทียบเท่าอายุการทำงาน 1 ปี ฯลฯ
ขณะเดียวกัน สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในมณฑลยูนนาน เช่น คุนหมิง อวี้ซี ต้าหลี่ สิบสองปันนา ตี๋ชิ่ง ฯลฯ ได้ออกประกาศว่า เมื่อสถานการณ์ไวรัสโคโรนาคลี่คลายลงแล้ว ขอเชิญชวนเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศจีนเข้ามาเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจนถึงสิ้นปี 2563
นอกจากนั้น จีนยังใช้มาตรการลงโทษควบคู่ไปกับการบำรุงขวัญและกำลังใจ โดยมีกรณีผู้ป่วยรายหนึ่ง นายจูเป่าฮวา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีสถานะเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย ได้ปฏิบัติตัวไม่ดีถืออภิสิทธิ์ต่อว่าพยาบาลว่าไม่มาทำความสะอาดให้ ทั้งๆ ที่พยาบาลรายนั้นกำลังไปช่วยชีวิตผู้ป่วยหนักรายหนึ่งอยู่ ผลคือเจ้าหน้าที่รัฐท่านนี้ถูกพักตำแหน่งทันที
จากความกตัญญูที่เริ่มจากแพทย์พยาบาลมีต่อประเทศชาติ ความกตัญญูของผู้หายป่วยต่อชาติบ้านเมืองและเพื่อนร่วมชาติ และความกตัญญูที่สังคมมีต่อแพทย์พยาบาลที่เสียสละทั้งหลาย จึงเป็นพลังที่ส่งต่อกันและกัน และทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในจีนดีวันดีคืน
ดังนั้น จีนจึงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พลังแห่งความกตัญญู...กู้วิกฤติไวรัส COVID-19 ได้จริง
แล้วประเทศไทยจะใช้คุณธรรมที่จีนยกย่องนี้ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติได้อย่างไร?
เมื่อจีนเป็นชาติที่ยึดถือ “บุญคุณต้องทดแทน” ขณะเดียวกันไทยก็มียุทธศาสตร์ “ครัวของโลก” จึงเป็นโอกาสดีของไทยในการแสดงบทบาทครัวของโลกเมื่อโลกกำลังเผชิญวิกฤติ พร้อมทั้งแสดงออกถึงการเป็น “มิตรแท้ยามยาก” ต่อประเทศจีน
โดยนอกจากบริจาคหน้ากากอนามัยแล้ว ไทยยังสามารถบริจาคสินค้าเกษตรสำคัญของไทยที่เน้นตลาดจีน เช่น ข้าวหอมมะลิ ผลไม้ (ลำไยอบแห้ง) ยางพารา (ถุงมือยาง) ส่งตรงไปยังอู่ฮั่น โดยรัฐบาลอาจจะลองพิจารณาจัดสรรงบประมาณบางส่วน เพื่อรับซื้อสินค้าจากเกษตรกร อันจะเป็นการช่วยเยียวยาผลกระทบภายในประเทศที่เกิดจากไวรัส COVID-19 ได้ด้วย ถือเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
ซึ่งหากเราเชื่อมั่นใน “พลังแห่งความกตัญญู” ไทยย่อมจะได้รับอานิสงส์นี้จากจีนในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน!