สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการจีนรายงาน (7 ก.พ.) — เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ บริษัทในจีนจำนวนมากจึงขอให้พนักงานทำงานจากที่บ้านผ่านชุดเครื่องมือออนไลน์ เพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไป นับเป็นการส่งเสริมให้ระบบนี้เข้ามามีบทบาทโดดเด่นในตลาดเฉพาะกลุ่มระยะยาว
ข้อมูลจากวีลิงก์ (Welink) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ในเครือหัวเหวยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี เผยว่า จำนวนผู้ใช้ใหม่ระดับองค์กรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 50 ต่อวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในวันที่ 3 ก.พ. ซึ่งเป็นวันทำการแรกหลังวันหยุดเทศกาลตรุษจีนที่ขยายเวลาออกไป มีการประชุมถึง 120,000 ครั้งบนแพลตฟอร์ม
ในวันดังกล่าว จำนวนผู้ใช้ยังเพิ่มขึ้นอย่างพุ่งพรวดบนแพลตฟอร์มออนไลน์หลายแห่งด้วย เช่น วีแชต เวิร์ก (Wechat Work) แอปพลิเคชันของบริษัทเทนเซนต์ (Tencent) ที่มาพร้อมกับเครื่องใช้สำนักงานอัตโนมัติที่หลากหลาย ดำเนินการแก้ไขความบกพร่องเครือข่าย และขยายขีดความสามารถของเซิร์ฟเวอร์เมื่อผู้ใช้หลายล้านคนหลั่งไหลเข้ามาใช้ฟังก์ชันการประชุมทางไกล ในขณะที่ผู้ใช้ระดับองค์กรกว่า 10 ล้านบัญชีในติงทอล์ก (Dingtalk) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่คล้ายคลึงกันของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ อาลีบาบา ก็กระตุ้นขีดจำกัดในการรับส่งข้อมูล ทำให้อาลีบาบาสามารถเพิ่มเซิร์ฟเวอร์การประมวลผลแบบคลาวด์ได้มากกว่า 10,000 หน่วย เพื่อรับรองว่าบริการวิดีโอจะมีเสถียรภาพ
ข้อมูลจาก วีแชต เวิร์ก ระบุพบจำนวนผู้ใช้ระดับองค์กรเพิ่มขึ้น 3 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่วิศวกรของติงทอล์กเปรียบเทียบข้อมูลล่าสุดพบว่า การใช้งานที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเทียบได้กับเพียงช่วงเทศกาลชอปปิงวันคนโสด (11 พ.ย.) เท่านั้น ที่มีคำสั่งซื้อไหลทะลักเข้ามาพร้อมกันหลายล้านรายการ
ข้อมูลจากบริษัทวิจัยอีโอ อินเทลลิเจนซ์ (EO Intelligence) ระบุว่า ขณะนี้มีบริษัททั้งหมด 17 แห่งที่เสนอผลิตภัณฑ์ทำงานออนไลน์ 21 ชิ้นให้ผู้ใช้เข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแอปพลิเคชันส่งข้อความทันที (IM)
เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถติดต่อจากคนสู่คน ทางการจีนจึงเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ปรับปฏิทินธุรกิจใหม่ ให้พนักงานทำงานที่บ้านชั่วคราว และใช้ระบบทำงานทางไกลหรือการประชุมทางไกลผ่านวิดีโอแทน
วิธีการคล้ายคลึงกันนี้ยังถูกนำมาใช้กับสถาบันการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการประกาศเมื่อปลายเดือนมกราคมว่า จะเลื่อนวันเปิดภาคเรียนฤดูใบไม้ผลิปี 2020 ออกไป และส่งเสริมให้มีกิจกรรมการศึกษาผ่านทางออนไลน์
มหาวิทยาลัย โรงเรียนประถมศึกษา และโรงเรียนมัธยมศึกษา จำนวนกว่า 10,000 แห่ง ที่มีนักเรียนนักศึกษารวมราว 5 ล้านคน จะเปิดชั้นเรียนผ่านการถ่ายทอดสดบนติงทอล์ก ด้วยระบบริเริ่ม “ห้องเรียนในบ้าน” ซึ่งมีภูมิภาคกว่า 20 แห่งของจีนเข้าร่วม
รายงานล่าสุดเกี่ยวกับนโยบายทรัพยากรมนุษย์ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ที่จัดทำโดยบริษัทดีลอยต์คอนซัลติ้ง (Deloitte Consulting) ชี้ว่า ร้อยละ 67 ของผู้ตอบแบบสอบถามอ้างว่า การจัดเครื่องมือทำงานออนไลน์ให้กับพนักงาน เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการสนับสนุนแรงงาน ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน
ความต้องการพื้นที่ทำงานออนไลน์และบริการด้านการศึกษาที่ทะยานสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นในตลาดหุ้นเช่นกัน โดยหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องจัดเป็นกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดตั้งแต่ตลาดเปิดใหม่ในวันจันทร์ ซึ่งมีหุ้นจำนวนมากในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 ในกรอบเปลี่ยนแปลงราคาที่จำกัดไว้ต่อวัน
จางเซี่ย นักวิเคราะห์จาก ‘ไชน่า เมอร์แชนต์ส ซิเคียวริตีส์’ (CMS) บริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ กล่าวว่า “แม้ในปัจจุบัน จีนจะยังมีอัตราการใช้งานด้วยระบบนี้ไม่สูงนัก แต่สถิติการทำงานทางออนไลน์เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีพื้นที่กว้างขวางและโอกาสขยับขยายอย่างรวดเร็วขึ้นอีกในอนาคต” ซึ่งจากการวิจัยเชิงเปรียบเทียบของบริษัทซีเอ็มเอส พบว่า บริษัทต่างๆ ของสหรัฐอเมริกากว่าร้อยละ 80 ได้เปิดใช้กลไกการทำงานทางไกลตั้งแต่ปี 2017 โดยมีแรงงานถึงร้อยละ 19 ของประเทศที่ทำงานจากที่บ้าน
นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์การเติบโตที่เกี่ยวเนื่องกันสำหรับตลาดในประเทศจีน ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยอุตสาหกรรมเฉียนจานในเมืองเซินเจิ้นชี้ว่า ตลาดสำนักงานเคลื่อนที่ของจีนมีมูลค่าประมาณ 2.7 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท) ในปี 2019 และคาดว่าจะเกิน 4.8 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท) ในปี 2024
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์บางคนตั้งคำถามเกี่ยวกับความยั่งยืนของกระแสนิยมดังกล่าว และวิธีการที่ว่าแพลตฟอร์มออนไลน์จะมาแทนที่สถานที่ทำงานจริงได้เช่นไร หลังจากจีนคว้าชัยในการต่อสู้กับโรคระบาดแล้ว
บันทึกการวิจัยของบริษัทหลักทรัพย์ซิโนลิงก์ ซิเคียวริตีส์ (Sinolink Securities) ชี้ว่า ในระยะสั้น บริษัทซอฟต์แวร์ที่ให้บริการพื้นที่ทำงานออนไลน์จะมองเห็นผลประโยชน์ก้อนใหญ่ในธุรกิจของพวกเขาได้ แต่ผลลัพธ์ของการต่อสู้ระหว่างวิถีการทำงานแบบออนไลน์กับการทำงานแบบดั้งเดิมจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของบริการออนไลน์ และขึ้นอยู่กับว่าบริษัทต่างๆ จะพบแรงจูงใจในการอ้าแขนรับระบบการทำงานทางไกล และเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทของตนหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์รับสมัครงานชั้นนำเจาพิ่น (Zhaopin.com) เปิดเผยรายงานว่า ธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ การผลิต และภาคเกษตร มีความกระตือรือร้นต่อระบบนี้น้อยที่สุด และสำหรับบรรดาบริษัทอินเทอร์เน็ตที่มีอัตราการยอมรับรูปแบบการทำงานจากที่บ้านในระดับสูงสุด ก็ยังแสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของบริการการทำงานทางไกลในปัจจุบัน