สำนักข่าวซินหวา สื่อทางการจีนรายงาน (11 ธ.ค.) จีนประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงจรโคจรที่กำหนดจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมไท่หยวน มณฑลซานซีทางตอนเหนือของประเทศ จำนวน 6 ดวง ด้วยจรวดขนส่งไคว่โจว-1เอ (KZ-1A) เมื่อเวลา 16.52 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันเสาร์ (7 ธ.ค.)
นับเป็นการส่งดาวเทียมจากศูนย์ปล่อยฯ ครั้งที่ 2 ในระยะเวลาไม่เกิน 6 ชั่วโมง หลังจรวดขนส่งไคว่โจว-1เอ ส่งดาวเทียมจี๋หลิน-1 เกาเฟิน 02บี (Jilin-1 Gaofen 02B) สู่ห้วงอวกาศ ณ เวลา 10.55 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ของอุตสาหกรรมการบินและอวกาศจีน
นอกจากนั้นความสำเร็จครั้งล่าสุดยังเป็นหมุดหมายแสดงความก้าวหน้าด้านการปล่อยดาวเทียมอย่างรวดเร็วและความสามารถในการปล่อยดาวเทียมกรณีฉุกเฉินของศูนย์ปล่อยดาวเทียมไท่หยวน ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเข่อหลัน เมืองซินโจวอีกด้วย
ดาวเทียมทั้งหมด 6 ดวง แบ่งเป็นเฮด-2เอ (HEAD-2A) และเฮด-2บี (HEAD-2B) ซึ่งเป็นดาวเทียมชุดแรกของโครงการสกายวอล์เกอร์ คอนสเตลเลชัน (Skywalker Constellation) ที่พัฒนาโดยบริษัท เทคโนโลยีการบินและอวกาศเฮด จำกัด ในกรุงปักกิ่ง และจะให้บริการข้อมูลต่างๆ แก่ผู้ใช้งานทั่วโลก อาทิ การติดตามสภาพแวดล้อม การตรวจสอบสสาร การขยับขยายการสื่อสารฉุกเฉิน และการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรือและเครื่องบินทั่วโลก
ดาวเทียมดวงที่ 3-4 คือสเปซตี-16 และสเปซตี-17 (Spacety-16/-17) ของบริษัท สเปซตี จำกัด ในนครฉางซา มณฑลหูหนาน ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจระยะไกล ขนาดไมโครนาโน ความละเอียดปานกลาง ที่ถูกใช้งานหลักด้านการป้องกันภัยพิบัติ การใช้ประโยชน์ทางทะเล การสำรวจทางการเกษตร และการติดตามสภาพแวดล้อมของขั้วโลก
ดาวเทียมดวงที่ 5-6 คือเทียนชี่-4เอ และเทียนชี่-4บี (Tianqi-4A/-4B) ที่เป็นดาวเทียมที่มีวงโคจรต่ำ พัฒนาโดยบริษัทเทคโนโลยีระดับสูงในปักกิ่ง และจะให้บริการส่งผ่านข้อมูลอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (IoT) การสื่อสารฉุกเฉิน และการติดตามสสาร
อนึ่ง ไคว่โจว-1เอ เป็นจรวดขนส่งเชื้อเพลิงแข็งและต้นทุนต่ำ แต่มีความน่าเชื่อถือสูงและใช้ระยะเวลาเตรียมการสั้น ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทในสังกัดบริษัทวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมการบินและอวกาศแห่งประเทศจีน (CASIC) และใช้ส่งดาวเทียมขนาดเล็กวงโคจรต่ำเป็นหลัก