MGR ONLINE--นับถอยหลังที่จีนจะขนโบราณวัตถุจากสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ที่นำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติไทยกลับเมืองจีนไปแล้ว
ผู้เขียนได้ไปชมทรัพย์สมบัติจากสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ในวันศุกร์ (6 ธ.ค.)ที่ผ่านมา คาดว่าคนจะไม่ล้นหลามเนื่องจากเป็นวันทำงานแต่ก็ผิดคาด ผู้คนมารอคิวเข้าชมกันหนาแน่นเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบการจัดให้ผู้ชมเข้าไปเป็นกลุ่มกลุ่มละ 50 คน ทำให้การเข้าชมนิทรรศการไม่ต้องเบียดเสียดกันจนการเดินชมหยุดชะงัก
แม้ผู้เขียนเคยไปชมกองทหารดินเผาแห่งสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ที่นครซีอันในมณฑลส่านซี การไปชมทรัพย์สมบัติโบราณคดีอันล้ำค่าที่จีนได้คัดสรรมาแสดงในไทยนี้ก็นับเป็นบุญตาทีเดียว
นิทรรศการจิ๋นซีฮ่องเต้จัดที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติมาตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. และกำลังสิ้นสุดในวันอาทิตย์ 15 ธ.ค.นี้ จัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญจากสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ เช่น หุ่นทหารและม้าดินเผา รถม้าสำริด อาวุธสำรัด เครื่องภาชนะ ฯลฯ สำหรับคนไทยค่าตั๋วเข้าชมแค่ 30 บาทเท่านั้น นับเป็นโอกาสดีจริงๆได้ชมสมบัติโบราณคดีที่เป็นประจักษ์พยานและพยานหลักฐานช่วง “ยุคก่อตั้งจีน” เมื่อกว่า 2,200 ปีที่แล้ว
ในนิทรรศการได้ปูพื้นบริบทประวัติศาสตร์ในช่วงยุคก่อนการรวมชาติโดยจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยเงื่อนไขที่สุกงอมจนอ๋องแห่งแคว้นฉินคือฉินหวางเจิ้ง (พระนามเดิมของจิ๋นซีฮ่องเต้) สามารถพิชิตชัยเหนือรัฐมหาอำนาจทั้งหก และรวมรวบแผ่นดินจีนอันแผ่ไพศาลที่ตกทอดมาเป็นแผ่นดินใหญ่ในปัจจุบัน
นาม “จิ๋นซีฮ่องเต้” นี้เป็นที่คุ้นหูชาวไทยมานานแล้ว ชื่อในภาษจีนกลางคือ ฉินสื่อหวงตี้, ฉิน (秦) หมายถึง ราชวงศ์ฉิน, สื่อ(始) หมายถึง แรก, หวงตี้(皇帝) หมายถึงจักรพรรดิ หรือฮ่องเต้ รวมความหมายก็คือ ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฉิน (พ.ศ.323-พ.ศ.338) เมื่อ 2,240 ปีที่แล้ว
ราชวงศ์ที่ครองแผ่นดินในช่วงก่อนรวมชาติจีนคือราชวงศ์ตงโจว หรือโจวตะวันออก (722-221 ก่อนค.ศ. / 227ปีก่อนพ.ศ.-พ.ศ.323) ซึ่งอำนาจอ่อนเพลี้ยแทบไม่เหลือหลอ
ระหว่างรัชสมัยตงโจวนี้นักประวัติศาสตร์ได้แบ่งเป็นช่วงยุคย่อยสองยุคตามสภาพสังคม คือ ยุคชุนชิว (ยุคใบไม้ผลิใบไม้ร่วง 227 ปีก่อนพ.ศ. - พ.ศ.68) และยุคจ้านกั๋ว (ยุครัฐศึก/พ.ศ.69-323) ช่วงเวลากว่า 500 ปีของชุนชิว-จ้านกั๋วสองยุคนี้เต็มไปด้วยสงครามรบพุ่งชิงความเป็นเจ้าใหญ่ระหว่างแว่นแคว้นต่างๆ ในบันทึกประวัติศาสตร์จีนจารึกไว้ว่า เฉพาะในยุคชุนชิวซึ่งกินเวลาราว 300 ปี มีสงครามรบราฆ่าฟันกันระหว่างแว่นแคว้นถึง 483 ครั้ง จนเหลือ “เจ็ดเจ้าใหญ่” คือมหาอำนาจใหญ่ 7 แคว้นด้วยกัน ได้แก่ ฉู่ เจ้า เยียน ฉี ฉิน หัน และเว่ย เจ็ดเจ้าใหญ่นี้รบกันชนิดเลือดท่วมทาแผ่นดินเพื่อชิงเจ้ายุทธจักรกันต่อในยุคถัดมา คือจ้านกั๋ว “จ้าน” (战) คำนี้ แปลว่า สงคราม...
แม้ยุคชุนชิว-จ้านกั๋ว เต็มไปด้วยศึกสงครามซึ่งดูเป็นกลียุคที่มืดมนอนธกาล ทว่า ก็มีการพัฒนาที่เป็นคุณูปการยิ่งใหญ่เป็นมรดกตกทอดจวบจนปัจจุบัน... ได้แก่ การค้าขายสัมพันธ์กันระหว่างประชาชน มีพัฒนาการสำคัญด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านทหาร พัฒนาการด้านวัฒนธรรมความเชื่อ และเป็นยุคที่การหล่อสำริดเฟื่องฟูที่สุด...
ในยุคชุนชิว-จ้านกั๋ว ยังมีปวงปราชญ์ยิ่งใหญ่ถือกำเนิดขึ้นจนเกิดคำกล่าวขวัญ “ปรัชญาร้อยสำนักประชันแข่ง”.. ขงจี่อ เมิ่งจื่อ และมั่วจื่อ เป็นต้น สำหรับฉินหวางเจิ้งนั้นชื่มชมหลักนิติธรรมของหานเฟยจื่อและยึดถือใช้ปกครองบ้านเมือง... จนกระทั่งรบชนะหกแคว้นใหญ่ผนวกดินแดน และปราบดาภิเษกเป็นจิ๋นซีฮ่องเต้ ปฐมจักรพรรดิแห่งฉิน หรือปฐมจักรพรรดิแห่งจีน
ในทฤษฏีหนึ่งจึงว่า คำว่า “จีน” (Chin) มาจาก “ฉิน”
เหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้แคว้นฉินที่แต่เดิมเป็นเพียงนครรัฐเล็กๆที่อ่อนแอถูกดูหมิ่นดูแคลน รุ่งเรืองขึ้นมาเป็นแคว้นมหาอำนาจที่แข็งแกร่งก็คือการปฏิรูปซางยาง หลักสำคัญของการปฏิรูปซางหยางคือ ผู้นำต้องให้ความสำคัญกับการเกษตร เมื่อประชาชนมีกินมีใช้แล้ว กองทัพก็จะมีเสบียงเพียงพอและเข้มแข็ง เป็นต้น
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของการเรียนรู้เกี่ยวกับ “จิ๋นซีฮ่องเต้” สำหรับผู้เขียนแล้วคือเงื่อนไขที่ทำให้แคว้นฉินเรืองอำนาจขึ้นมาจนเป็นผู้พิชิตเหนือเหล่าแว่นแคว้นอำนาจใหญ่ แต่ราชวงศ์ฉินกลับเป็นราชวงศ์ที่อายุสั้นที่สุดเพียง 15 ปีเท่านั้น ตามที่กล่าวขานกันเกี่ยวกับสาเหตุที่ฉินอายุสั้นที่สุดคือความโหดเหี้ยม
...การเป็นผู้พิชิตเหนือแคว้นอำนาจใหญ่ สิ่งที่ยากยิ่งกว่าการทำสงครามแย่งชิงดินแดน คือการปกครองบ้านเมือง...เป็นข้อความโปรยบนบอร์ดนิทรรศการที่น่าใคร่ครวญและค้นหาต่อไป
“พระราชวัง หอคอย กลุ่มอาคารจำลองนับร้อยแห่ง เครื่องใช้มีค่าและวัตถุสวยงาม บรรจุไว้จนเต็มสุสาน กับดักเกาทัณฑ์พร้อมที่จะปลิดชีพผู้บุกรุกทุกเมื่อ ปรอทไหลเวียนดุจแม่น้ำนับร้อยสาย เบื้องบนจำลองหมู่ดาวบนสวรรค์ เบื้องล่างนั้นจำลองพิภพ ตะเกียงไขปลาวาฬสว่างไสวไม่มีวันดับ” เป็นคำโปรยในนิทรรศการภาคสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้
สิ่งเหล่านี้คือองค์ประกอบในสุสานจิ๋นซี ที่ได้ชื่อว่า “มหาอาณาจักรใต้พิภพ”…เป็นสุสานที่มีขนาดใหญ่สุดในประวัติมนุษย์ชาติ สุสานฯนี้ตั้งอยู่บริเวณลี่ซานหลิงในเมืองเสียนหยาง ห่างจากนครซีอันราว 100 กิโลเมตร ตัวสุสานสูงถึง 100 เมตร ความกว้างโดยรอบ 2.5 กิโลเมตร บันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่าการก่อสร้างสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้นี้ ใช้แรงงานถึงสามแสนกว่าคน
ในเดือนมี.ค. พ.ศ.2517 ชาวนาในหมู่บ้านซีหยาง ทางตะวันออกของนครซีอัน ขุดพบประติมากรรมดินเผารูปทหารขนาดเท่าคนจริงโดยบังเอิญ กองทหารดินเผานับหมื่นรูปนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งที่อยู่ชายขอบสุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้ ต่อมายังพบประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่เป็นรูปจำลองรถศึกมีประทุน ม้า และสารถีขนาดย่อมกว่าของจริงครึ่งหนึ่ง นักโบราณคดีขุดพบฯในชั้นใต้ดินลึกถึง 56 ฟุต เมื่อพ.ศ.2524
จิ๋นซีครองราชย์ 11 ปี เฝ้าเสาะหายาอายุวัฒนะ ระดมแรงงานนับแสนมาก่อสร้างสถานที่พำนักในโลกหน้าของพระองค์ แม้สวรรคตไปเมื่อ 2,225 ปีที่แล้ว แต่เรื่องราวและความมหัศจรรย์ของมหาสุสานแห่งนี้กลับทำให้พระนามจักรพรรดิจิ๋นซียังไม่ตายตราบจนทุกวันนี้
ในนิทรรศการฯ ยังได้จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับราชวงศ์ฮั่น (ค.ศ. 206-220 /พ.ศ.338-763) เป็นยุคที่สืบสานความรุ่งโรจน์ต่อจากฉิน ถูกจัดยุคที่รุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน...เป็นยุคทองแห่งการค้าและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านเส้นทางสายไหม เส้นทางสายไหมโบราณถือกำเนิดในยุคจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ เมื่อ 2100 ปีที่แล้ว