โดย พชร ธนภัทรกุล
การดูแลสุขภาพ ถือเป็นสาระสำคัญอย่างหนึ่งของอาหารจีน ชาวจีนมักใส่ใจปรับเปลี่ยนรายการอาหารให้สอดคล้องกับฤดูกาลที่เปลี่ยนไป เพื่อป้องกันดูแลรักษาสุขภาพ ไม่ให้เจ็บป่วย ชาวจีนจึงมักมีรายการอาหารจำนวนหนึ่งสำหรับฤดูร้อน มีรายการอาหารอีกจำนวนหนึ่งสำหรับฤดูหนาว และแน่นอนว่า ในยามที่ฝนฟ้าโปรยปราย ชาวจีนก็มีรายการอาหารสำหรับรับมือกับสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงด้วย
อย่างที่ทราบกันว่า ในช่วงหน้าฝน นอกจากในอากาศจะมีความชื้นสูงแล้ว ยังมักมีความกดอากาศต่ำด้วย ความร้อนชื้นในอากาศ มักทำให้เรารู้สึกอ่อนล้า ไม่สบายใจ กระสับกระส่าย หงุดหงิด โมโหง่าย ยิ่งถ้าเจอฝนตกติดต่อกันหลายวัน อารมณ์ก็อาจเปลี่ยนไปถึงขั้นวิตกกังวลและซึมเศร้าได้
นี่เป็นเพียงเรื่องของฝนฟ้าที่มีผลกระทบต่ออารมณ์คนเรา มันยังมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายอีกด้วย
การแพทย์แผนจีนมองว่า ความร้อนความชื้น ซึ่งเป็นพิษร้ายจากภายนอก ที่เรียกว่า ว่ายเส (外邪เสียงจีนกลาง) นั้น คือ 2ใน 6 พิษร้าย** ที่ทำให้ร่างกายมีความร้อนความชื้นสะสม จนไปขัดขวางการทำงานอวัยวะภายในต่างๆ และนั่นก็ทำให้เกิดอาการทางพยาธิวิทยาที่การแพทย์แผนจีนเรียว่า ซือเย่อเจิ้ง (热症状เสียงจีนกลาง) ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย
(** หกพิษร้ายจากภายนอกมี ลม เย็น ร้อน ชื้น แห้ง ไฟ รวมเรียกว่า ลิ่วอิน (六淫เสียงจีนกลาง)
การแพทย์แผนจีนแบ่งความชื้นออกเป็น ความชื้นที่ร่างกายเราสร้างขึ้น อันเนื่องมาจากอาการเจ็บป่วย ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย ความขื้นนี้เรียกว่ เน่ยซือ (内湿เสียงจีนกลาง)หรือชื้นใน กับความชื้นที่เป็นปัจจัยลบจากภายนอกที่ซึมแทรกเข้าสู่ร่างกาย เรียกว่า ซือเส (湿邪เสียงจีนกลาง) หรือพิษชื้น
พิษความชื้นนี้ส่วนมากมาจากการที่เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีตวามชื้นสูง อย่างเช่นอยู่ในที่ที่มีฝนตกต่อเนื่องหรือตกหนักอยู่หลายวัน ต้องเดินตากฝน ทำงานที่ต้องลุยน้ำหรือต้องอยู่ในน้ำบ่อยๆ หรือแม้แต่อยู่ในบ้านที่มีความอับชื้นสูง อย่างนี้ย่อมเอื้อให้ความชื้นซึมแทรกเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วย ซึ่งมักมีสัญญานเตือน เช่น มีเสมหะมาก ปัสสาวะขุ่น เป็นต้น อันเนื่องมาจากความชื้นในร่างกายทำให้สารตัดหลั่งในตัวเราขุ่นเหนียวขึ้นนั่นเอง
ส่วนความร้อนนั้น ทางแพทย์แผนจีนถือเป็นปัจจัยลบหรือพิษอย่างหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วย โดยมีอาการ เช่น ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น ปากแห้ง ลิ้นแดงมีฝ้าเหลือง เรียกว่า หั่วเย่อตือเส (火热之邪เสียงจีนกลาง) หรือพิษไฟพิษร้อน
ความร้อนก็แบ่งไว้สองอย่างเช่นกัน คือความร้อนที่ร่างกายสร้างขึ้นจากการที่อวัยวะต่างๆในร่างกายทำงานผิดปกติ เรียกว่า เน่ยเย่อ (内热เสียงจีนกลาง) หรือร้อนใน กับความร้อนที่เป็นปัจจัยลบจากภายนอกที่ซึมแทรกเข้าสู่ร่างกาย เรียกว่า เย่อเส (热邪เสียงจีนกลาง) หรือพิษร้อน
เมื่อพิษความร้อนเข้าจู่โจมทำร้ายร่างกาย หรืออาจเกิดจากอวัยวะภายในต่างๆของเราเองทำงานหนักผิดปกติ จนก่อเกิดเป็นความร้อนขึ้นในร่างกาย ร่างกายก็จะแสดงอาการร้อนออกมาให้เห็น เช่น ตัวร้อนไข้ขึ้น ปากแห้ง หน้าแดงตาแดง ปัสสาวะสีเข้มและน้อย อุจจาระแห้งแข็ง เป็นต้น
ทีนี้ ถ้าร่างกายถูกทั้งความชื้นและความร้อนเข้าจู่โจมพร้อมกัน ไม่ว่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยาของร่างกาย หรือเป็นเพราะอยู่ในช่วงที่มีฝนตกชุก หรืออาจเป็นเพราะร่างกายสะสมความชื้นไว้นาน จนไม่สามารถขจัดให้หมดไปได้ เกิดเป็นความร้อนขึ้นในร่างกาย จะมีอาการตัวร้อนไข้ขึ้น ปวดและหนักศีรษะ ปวดเนื้อปวดตัว ปากขม แน่นอก ปัสสาวะสีเข้มและน้อย
ถ้าพิษร้อนพิษชื้นเข้าสู่ข้อกระดูก ก็จะเกิดอาการปวดตามข้อกระดูก และพิษร้อนพิษชื้นเข้าสู่อวัยวะภายในต่างๆ เช่น เข้าสู่ม้ามและกระเพาะอาหาร จะเกิดอาการแน่นท้อง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร เข้าสู่ตับและถุงน้ำดี จะมีอาการตับโตปวด ปากขม ไม่ค่อยเจริญอาหาร ตัวเหลืองตาเหลือง หรืออาจมีไข้และหนาวสั่นสลับกันไป เข้าสู่ลำไส้ใหญ่ จะมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย กระทั่งปวดถ่ายแต่ถ่ายไม่ออกหรือถ่ายไม่สุด ถ่ายเหลว เข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ จะมีอาการปัสสาะบ่อย ถ่ายปัสสาวะได้น้อย และมีอาการเจ็บขณะปัสสาวะ
เมื่อความร้อนความชื้นส่งผลต่อสุขภาพขนาดนี้ ชาวจีนจึงเลือกใช้อาหารที่เหมาะกับช่วงฝนตกบ่อย เพื่อดูแลสุขภาพ อาหารที่เหมาะจะรับหน้าฝน เรามาเริ่มที่เครื่องดื่ม
เครื่องดื่มดีที่สุด คือน้ำเปล่า ดื่มน้ำอุ่นๆสักแก้วตอนเช้าหลังตื่นนอน น้ำอุ่นคือน้ำต้มสุกที่ตั้งทิ้งไว้ให้มีอุณหภูมิใกล้หรือสูงกว่าอุณหภูมิของร่างกายเรา น้ำอุ่นจะช่วยให้ความอบอุ่นแก่อวันวะในร่างกาย ช่วยการไหลเวียนของเลือด และช่วยให้ลำไส้บีบรัดตัวดีขึ้น การดื่มน้ำอุ่นในตอนเช้า ก็เหมือนเรากดชักโครก ที่ช่วยชะล้างกระเพาะอาหารและลำไส้ให้สะอาด และภายในเวลาไม่กี่สิบวินาทีหลังจากที่เราดื่มน้ำอุ่นเข้าไป เราจะรู้สึกสดชื่น สมองแจ่มใสขึ้นมาทันที เพราะน้ำอุ่นได้เข้าไปกระตุ้นการเผาผลาญหมุนเวียนของเซลล์ร่างกาย
หลายคนอาจไม่ทราบว่าในขณะหลับ ร่างกายมีการขับเหงื่อออกมาด้วย น้ำอุ่นแก้วแรกหลังตื่นนอน จะช่วยชดเชยน้ำให้แก่ร่างกาย ทำให้เซลล์ในร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ นอกจากน้ำอุ่นยังช่วยให้ปัสสาวะใสขึ้น ทำให้อุจจาระในลำไส้ใหญ่อ่อนตัว ช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น สุดท้าย น้ำอุ่นทำให้เลือดลดความหนืดข้นลง ลดระดับความเข้มข้นของเลือด ป้องกันมิให้ความดันเลือดสูงขึ้น
ในระหว่างวัน นอกจากดื่มน้ำเปล่าแล้ว จะเปลี่ยนไปดื่มชาเขียวร้อนๆก็ได้ อาจใส่น้ำตาลบ้าง เพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้น (ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์) เพื่อให้ร่างกายมีกำลังวังชา กระฉับกระเฉง คลายความวิตกกังวลและซึมเศร้า
ชาเขียวช่วยดับและถอนพิษร้อน กระตุ้นให้สมองแจ่มใส ช่วยให้เจริญอาหาร เสริมสร้างการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร มีประโยชน์ต่อการเผาผลาญหมุนเวียนของกระเพาอาหารและลำไส้ รักษาสภาวะสมดุลภายในของร่างกาย
แต่การดื่มชาเขียวก็มีข้อควรระวัง คือไม่ดื่มขณะท้องว่าง ไม่ดื่มชาค้างคืน ไม่แนะนำให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคตับ โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ โรคกระเพาะอาหารและลำไส้ ดื่มชาเขียว โดยเฉพาะที่ชงแบบเข้มข้น
นอกจากควรดื่มน้ำต้มสุกอุ่นๆและชาเขียวร้อนๆแล้ว ก็ควรกินอาหารที่ปรุงร้อนๆด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
อาหารที่ขอแนะนำ คืออาหารกึ่งเหลว แพทย์จีนเรียกว่า ป้านหลิว (半流เสียงจีนกลาง) เราเรียก อาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก บะหมี่น้ำใส และรวมไปถึงพวกของหวานอย่างลูกเดือยต้มน้ำตาลด้วย อาหารเหล่านี้แหละที่เหมาะสำหรับกินในช่วงหน้าฝน เพราะโดยรวมแล้ว อาหารอ่อน โดยเฉพาะข้าวต้ม ใช้บำรุงร่างกายได้ดี ย่อยง่าย ซึ่งย่อมดีต่อการทำงานของกระเพาะอาหาร เท่ากับช่วยปกป้องกระเพาะอาหารไปด้วย และยังช่วยเสริมสร้างกำลังวังชา
ในวันที่มีฝน บรรยากาศมักทำให้คุณรู้สึกอ่อนล้าง่าย ได้ข้าวต้มร้อนๆสักชาม จะเป็นข้าวต้มแยกกับ หรือข้าวต้มเครื่องก็ได้ ไม่มีข้าวต้ม ก็เปลี่ยนเป็นบะหมี่หมูหรือไก่น้ำใส ก็จะช่วยให้คุณรู้สึกอิ่มอุ่นสบายท้อง
ในที่นี้ขอแนะนำข้าวต้มที่ชาวจีนนิยมกัน เรียกว่า ปาเป่าโจว (八宝粥เสียงจีนกลาง) ผมขอให้ชื่อว่า ข้าวต้มแปดธัญพืช วัตถุดิบที่ใช้มี ถั่วแดง ถั่วลิสง เม็ดบัวแห้ง พุทราจีนแห้ง ลูกเกดชนิดอุ่นแดงไรเมล็ด ข้าวเหนียว ข้าวแดง เมล็ดสน น้ำตาลกรวด และน้ำสะอาด
วิธีทำ เอาวัตถุดิบทุกอย่างแยกแช่น้ำไว้ 2-3 ชั่วโมง เฉพาะถั่วแดงกับถั่วลิสงให้ใส่น้ำแยกต้มต่างหากก่อน ต้มสัก 30 นาที และเก็บน้ำต้มถั่วหม้อนี้ไว้ด้วย ส่วนอย่างอื่นๆที่เหลือ พอแช่ได้เวลาแล้ว ให้ตักชึ้นจากน้ำทั้งหมด เทถั่วแดงกับถั่วลิสงที่ต้มแล้วพร้อมน้ำต้มถั่วใส่หม้อใบใหญ่ ตามด้วยวัคถุดิบที่เหลือทั้งหมด เติมน้ำให้พอ ต้มด้วยไฟแรงให้เดือด จากนั้นปิดฝาหม้อโดยมีตะเกียบสอดไว้ใต้ฝาหม้อ เพื่อเหลือช่องให้ระบายไอร้อน ต้มนานหนึ่งชั้วโมงครึ่ง ระหว่างนี้ก็คอยคนบ้าง เพื่อไม่ให้ข้าวติดก้นหม้อ ครบเวลาแล้วใส่น้ำตาลกรวด คนให้น้ำตาลละลาย ต้มไปอีกครึ่งชั่วโมง ก็เป็นอันสำเร็จ
ผมไม่ได้ให้ปริมาณของวัตถุดิบแต่ละอย่างที่ใช้ คิดว่าหยิบเอาอย่างละนิดอย่างละหน่อยตามที่ต้องการดีกว่า แต่ข้าวเหนียวเป็นวัตถุดิบหลัก ก็ต้องใส่มากหน่อย กะปริมาณประมาณเท่าที่เคยหุงหรือนึ่งก็ได้แล้ว ส่วนข้าวแดง (ใช้ข้าวไรส์เบอร์รี่แทนได้) ใช้แค่ 1 ใน 3 ส่วนของข้าวเหนียวก็พอ
นอกจากนี้ ข้าวต้มแปดธัญพืชนั้น ไม่มีสูตรหรือตำรับตายตัว จึงสามารถปรับเปลี่ยนวัตถุดิบต่างๆได้ตามต้องการ เพียงแต่ต้องจำกัดไว้แต่ 8 อย่างเท่านั้น ยกเว้นวัตถุดิบหลักที่ต้องเป็นข้าวเหนียวกับข้าวแดง (หรือข้าวเจ้า ข้าวไรส์เบอร์รี่) ที่ต้องมียืนพื้นไว้
ถ้าการทำข้าวต้มแปดธัญพืชยุ่งยากไป จะต้มลูกเดือยหวานกินแทนก็ได้ แช่ลูกเดือยไว้แค่ชั่วโมงเดียวก็พอ ล้างสะอาดแล้วเอาไปต้มได้เลย ต้มด้วยไฟแรงให้เดือด ใส่เผือกที่หั่นเต๋าลงต้มด้วย ใช้ไฟอ่อน ต้มไปจนกว่าจะเหนียวข้น ใส่น้ำตาลกรวด คนให้น้ำตาลละลาย ได้ลูกเดือยเผือกต้มน้ำตาล
ลูกเดือยมีสรรพคุณสำคัญคือ ขับความชื้นในร่างกาย บำรุงม้าม ขับปัสสาวะ บรรเทาอาการบวมน้ำ จึงเหมาะที่จะทำกินในช่วงฝนฟ้าพร่ำพรม
การปรับเปลี่ยนอาหารสำหรับหน้าฝน ควรเพิ่มอาหารที่ช่วยขับความชื้นในร่างกายได้ เช่น เลือกใช้น้ำมันถั่วลิสง หรือน้ำมันข้าวโพด ส่วนพวกพืชผักมี ฟักทอง คะน้า กะหล่ำลุ้ย ดอกไม้จีน ผักกาด ผักกาดแก้ว ผักกาดหอม ฟักเขียว ฟักแก่ ข้าวโพด ลูกเดือย
สรุปว่า ช่วงหน้าฝนอย่างนี้ อย่าลืมดื่มน้ำอุ่น จิบชาเขียว กินข้าวต้ม บะหมีน้ำใส และพืชผักที่ช่วยขับความชื้นในร่างกาย เพื่อช่วยสร้างสภาวะสมดุลภายในของร่างกาย จะได้มีสุขภาพที่ดี