ไชน่า เดลี่-อายุขัยเฉลี่ยของชาวจีน ยืนยาวขึ้นมาอีกครึ่งปี หลังจากที่รัฐบาลปรับปรุงคุณภาพอากาศสดใสขึ้น ทั้งนี้จากสถิติที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆนี้โดยสถาบันนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยชิคาโก หรือ EPIC (Energy Policy Institute of Chicago University)
รัฐบาลจีนทำสงครามขจัดมลพิษอากาศอย่างหนักหน่วงในช่วงหลายปีมานี้ ขณะนี้กำลังเห็นผลดีงาม เมื่อปี 2016 ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ลดลง 12 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับเมื่อปี 2013 จากการเปิดเผยของ มิเชล กรีนสโตน ผู้อำนวยการ EPIC ระหว่างให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Daily) เมื่อวันพุธ(16 ม.ค.)
จากการติดตามค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Life Index /AQLI) ของ EPIC สรุปว่า หลังจากที่จีนระดมมาตรการมากมายเพื่อกำจัดมลพิษอากาศ จนประสบความสำเร็จแล้วระดับหนึ่ง ช่วยยืดอายุขัยเฉลี่ยของประชาชน เพิ่มอีก 6 เดือน
สำหรับดัชนี AQLI เป็นมาตรวัดคุณภาพที่จัดทำโดย EPIC ที่ระบุความสัมพันธ์เชิงปริมาณระหว่างการได้รับมลพิษอากาศของมนุษย์กับอายุขัยเฉลี่ย (life expectancy)
ยกตัวอย่าง มณฑลเหอหนัน ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตที่มลพิษเลวร้ายที่สุดเขตหนึ่งในจีน สามารถลดฝุ่น PM2.5 ไปได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี 2013 ถึง 2016 ซึ่งหมายถึงว่าผู้อาศัยในเหอหนันจะมีอายุยืนไปอีก 1.3 ปี
รายงานของ EPIC ที่เผยแพร่เมือเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่าฝุ่นมลพิษเป็นภัยคุกคามสุขภาพมนุษย์ทั่วโลกมากที่สุด เพราะมีผลต่อความยืนยาวของชีวิตคน มากเสียยิ่งกว่าโรคติดต่อที่ร้ายแรงอย่าง โรคเอดส์ และวัณโรค มันเป็นนักสังหารที่น่ากลัวพอๆกับการสูบบุหรี่ และกระทั่งสงคราม
ข้อมูลองค์การอนามัยโลก หรือ ฮู (WHO) ระบุว่าประชากรในโลก ถึง 75 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็น 5.5 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่มีฝุ่นมลพิษสูงเกินขีดความปลอดภัย โดย WHO กำหนดขีดมาตรฐานความปลอดภัย ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัม/คิวบิกเมตร
นอกจากนี้ในงานวิจัยของ EPIC ระบุอีกว่าอายุขัยชาวจีนจะยืดยาวไปอีก 3 ปี หากสามารถปรับปรุงคุณภาพอากาศไปถึงมาตรฐาน WHO
ทั้งนี้จากปี 2013 รัฐบาลมังกรได้ระดมมาตรการหลายชุด เพื่อลดมลพิษอากาศ อาทิ การควบคุมการปล่อยมลพิษของกลุ่มอุตสาหกรรม ตัดลดการใช้ถ่านหิน และปรับปรุงมาตรการรับมือฉุกเฉินสำหรับสภาพอากาศเน่าเสียรุนแรง
Robert O'Keefe รองประธานสถาบันศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพแห่งสหรัฐฯ (US Health Effects Institute) กล่าวว่าจีนประสบความสำเร็จในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ ช่วยให้สุขภาพสาธารณะดีขึ้น โดยอัตราการตายก่อนวัยอันควร อัตราโรคระบบทางเดินหายใจ และอัตราโรคหัวใจ ลดลง.