xs
xsm
sm
md
lg

หญิงสาวผู้นั้น กับปริศนาการตายของ “แม่นางซินจุย” มัมมี่ 2,000 ปี สุดมหัศจรรย์แห่งโลกตะวันออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล



เมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ ... ผมเพิ่งสังเกตว่า เธอมายืนข้างๆ ไอเย็นจากตัวเธอ ทำให้ผมต้องหันไปมอง

ดวงตาสองข้างของเธอเขม็งมองโลงศพไม้ขนาดใหญ่มหึมา เธอมองมันโดยไม่ละสายตาอยู่นาน นานจนผมรู้สึกอึดอัดและต้องก้าวถอยหลังออกมา

โลงศพโบราณนี้ทำจากไม้ ยาว 4 เมตร สูง 1.5 เมตร ประกอบจากไม้ 100 กว่าชิ้น บางชิ้นเล็ก บางชิ้นก็ใหญ่และหนักอึ้งมากกว่า 1,000 ชั่ง (ราว 500 กิโลกรัม) มันมีอายุอย่างน้อยสองพันปีแล้ว ตั้งแต่สมัยฮั่นตะวันตก (202-25 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

หญิงสาวที่มาพร้อมกับไอเย็น เธอปรากฏตัวพร้อมกับเสื้อคลุมสีแดง ผมยาวสีดำขลับถูกรวบไว้ด้านหลังและปล่อยยาวลงมาเกือบถึงเอว ต่างหูกลมโตกับกระเป๋าถือสีแดงเข้มสอดรับเข้ากับเสื้อคลุมยาวที่ชายทิ้งลงมาเกือบถึงน่อง ใบหน้า รูปร่าง และการแต่งตัวของเธอราวกับหุ่นปั้นดินเผาของหญิงสาวราชวงศ์ฮั่นที่ผมเคยเห็นที่พิพิธภัณฑ์ที่ซีอานอย่างไรอย่างนั้น

โลงศพโบราณอันมหึมานี้มีขนาด 4 ชั้น แม้จะเป็นโลงศพ แต่ก็ใหญ่โตราวกับห้องนอนขนาดย่อม ทั้งยังบรรจุไว้ด้วยข้าวของเครื่องใช้ จานชาม เครื่องประดับ รวมไปถึงเสื้อผ้าอาภรณ์ มากกว่าหนึ่งพันชิ้นของสาวงามผู้หนึ่ง

สาวงามผู้ซึ่งหลับใหลอยู่ภายในห้องนอนอันวิจิตร ลึกลงไปใต้ผืนดิน 20 เมตร ยาวนานกว่า 2,100 ปีแล้ว จนกระทั่งมีผู้ค้นพบเธอเมื่อ 46 ปีก่อน

###################

หม่าหวังตุยตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกชานเมืองฉางซา มณฑลหูหนาน กลายเป็นที่จับตามองของบรรดานักโบราณคดีทั่วโลกเมื่อต้นปี 2515 (ค.ศ. 1972) หลังมีการค้นพบสุสานขนาดใหญ่ในยุคราชวงศ์ฮั่น (汉代) ฝังอยู่ใต้บริเวณนี้ โดยเจ้าหน้าที่สามารถนำวัตถุโบราณทรงคุณค่าจำนวนมากออกมาสู่สายตาสาธารณชนจนทั่วโลกต้องตกตะลึง

หม่าหวังตุย หรือ เนินหม่าหวัง ก่อนการขุดค้นพบสุสาน


ชื่อของ “หม่าหวังตุย (马王堆)” มีที่มาคือ คำว่า “หม่าหวัง (马王)” หมายถึง “อ๋องตระกูลหม่า” (ตรงกับแซ่เบ๊ ในภาษาแต้จิ๋ว) ส่วน “ตุย (堆)” นั้นแปลได้ว่าเนินดิน หรือ กองดิน โดยตั้งแต่อดีตกาลชาวบ้านเชื่อกันว่าอาณาบริเวณนี้เป็นสุสานของ ฉู่อู่มู่ หม่าอิน (楚武穆马殷; ค.ศ. 852-930) เจ้านายชั้นสูงผู้ก่อตั้งแคว้นฉู่ (楚国) ในยุคห้าราชวงศ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศจีนตกอยู่ในยุคสมัยแห่งความวุ่นวาย โดยเพื่อแสดงความรำลึกถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จึงมีการตั้งชื่อบริเวณนี้ว่า “หม่าหวังตุย”

อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และวัตถุโบราณที่ขุดค้นพบ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ ตราประทับ ภาพเขียน ม้วนผ้าที่มีอักษรบันทึก รวมไปถึงเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ กลับบ่งชี้ว่าผู้ที่เป็นเจ้าของสุสานแห่งนี้คือ “ลี่ชัง (利苍) ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วง? - 193 ปีก่อนคริสต์ศักราช)” อัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐฉางซา (长沙国; ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเมืองฉางซาในปัจจุบัน) รัฐฉางซามีอายุอยู่ในช่วง 202 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึง ค.ศ. 7 และเป็นรัฐที่ขึ้นตรงต่อราชสำนักฮั่นตะวันตก โดยในบริเวณนี้มีการค้นพบสุสานของในครอบครัวอัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐฉางซาถึง 3 คนด้วยกัน

ภาพจำลองสุสาน 3 แห่งที่พบที่หม่าวังตุย
ในบรรดาสิ่งของที่ขุดค้นพบได้ใน “สุสานลี่ชัง” แห่งนี้มีสิ่งที่พิเศษ จนเข้าขั้นสิ่งมหัศจรรย์ นั่นคือ ร่างมนุษย์ที่มีอายุยาวนานกว่า 2,100 ปี แต่กลับไม่ย่อยสลายไปตามธรรมชาติ โดยเจ้าของร่างดังกล่าวมิใช่ “ลี่ชัง” อัครมหาเสนาบดีคนสำคัญ แต่เป็นร่างของสตรีผู้สูงศักดิ์ ซึ่งเป็นภรรยาของลี่ชังนาม “ซินจุย (辛追; ?-186 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

ร่างไร้วิญญาณของ “ซินจุย” ทำให้คาดการณ์ได้ว่าขณะเสียชีวิตเธอมีอายุราว 50 ปี ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ด้วยความที่เป็นศพที่ไม่เน่า ไม่เปื่อย และไม่แห้ง ทั้งๆ ที่สตรีผู้สูงศักดิ์ผู้นี้เสียชีวิตมานานกว่าสองพันปี โดยแม้แต่ความก้าวล้ำทางวิทยาการทางวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 ก็ยังมิอาจไขความลับ หาคำตอบที่แน่ชัดได้

ภาพวาดแสดงให้เห็นความลึกของสุสานจากผิวดิน

ภาพถ่ายผสมภาพวาดแสดงให้เห็นวิธีการปิดผนึกสุสานของ แม่นางซินจุย อย่างแน่นหนา
“หลุมสุสานจากทิศเหนือจดใต้ยาวประมาณ 20 เมตร ตะวันออกจดตะวันตกกว้าง 17.8 เมตร ระดับความลึก 20 เมตร ภายในสุสานหมายเลข 1 ค้นพบศพผู้หญิงที่มีอายุร่วม 2,100 ปี ซึ่งยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ร่างกายชุ่มชื้น ข้อต่อข้อพับสามารถยืดงอได้ มีความยืดหยุ่นของเนื้อหนังมังสา เหมือนคนเพิ่งเสียชีวิตมาไม่นาน แตกต่างจากศพของมนุษย์โบราณอื่นๆ เช่น มัมมี่ของอียิปต์ จนนับได้ว่าเป็นความมหัศจรรย์ของวิทยาการการป้องกันการเน่าเปื่อยของซากศพ” จดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยาเล่าถึงเรื่องราวสุดมหัศจรรย์นี้ไว้*

ด้านนักโบราณคดีและนักวิชาการจีนเองก็เปิดเผยถึงเหตุการณ์ตอนค้นพบศพไม่เน่าไม่เปื่อยของซินจุยไว้ว่า ตอนเปิดโลงศพพบว่าศพถูกแช่อยู่ในโลงที่บรรจุไว้ด้วยของเหลวไร้สี ลึกประมาณ 20 เซนติเมตร ทว่าเมื่อระยะเวลาผ่านไปไม่นาน ของเหลวดังกล่าวก็ค่อยๆ เปลี่ยนสีไปเป็นสีน้ำตาล โดยในปี 2515 ศพดังกล่าวได้ถูกแพทย์ชาวจีนนำออกมาชันสูตร แยกอวัยวะภายในออก ทำให้ค้นพบเบาะแสและเรื่องราวเพิ่มเติม คือ

ซินจุย มัมมี่สองพันปี สิ่งมหัศจรรย์ของโลกตะวันออก ที่คนทั่วโลกต้องตะลึง
ร่างของ “ซินจุย” สูง 154 เซนติเมตร น้ำหนัก 34.3 กิโลกรัม โดยขณะค้นพบทั้งร่างชุ่มชื้น ผิวหนังและเนื้อกายยังคงความยืดหยุ่นมาก ส่วนข้อต่อต่างๆ ก็สามารถขยับเขยื้อนได้ ขนตา ขนจมูกยังล้วนอยู่ครบถ้วน แก้วหูซ้ายยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ลายนิ้วมือ และลายนิ้วเท้ายังชัดเจน จากการผ่าชันสูตรเพิ่มเติมพบว่าอวัยวะของศพยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ยังพบเส้นใยโปรตีนราวกับว่าเพิ่งเสียชีวิต เส้นประสาทเวกัส (Vagus Nerve; 迷走神经) ที่บางราวกับเส้นผมบริเวณปอดยังสามารถนับเส้นได้ชัดเจน ส่วนเส้นเลือดก็ยังปรากฏลิ่มเลือดที่อุดตันอยู่ โดยจากการตรวจสอบกรุ๊ปเลือดปรากฏเป็นกรุ๊ปเอ

เมื่อตรวจสอบลึกไปถึงสาเหตุการเสียชีวิตของ “ซินจุย” เมื่อราวสองพันหนึ่งร้อยปีก่อน พบว่า ขณะมีชีวิตเธอมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคหลายโรค เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) นิ่วในถุงน้ำดี นอกจากนี้ในช่องทวารหนักและตับยังพบไข่ของพยาธิแส้ม้า ไข่พยาธิเข็มหมุด และไข่พยาธิใบไม้ในเลือด

ในส่วนของหลอดอาหาร และระบบย่อยอาหารพบเม็ดกวยจี๊ขาว (甜瓜子; เมล็ดของแตงหวาน) จำนวน 138 เมล็ดครึ่ง ทำให้ทราบว่าเธอเสียชีวิตในช่วงที่แตงหวานกำลังสุกพอดี ส่วนสาเหตุหลักของการเสียชีวิตนั้นคาดว่าเกิดจากการที่ถุงน้ำดีอักเสบ กระทบไปยังโรคหัวใจจนเสียชีวิต โดยขณะเสียชีวิตอายุราว 50 ปี**


สภาพมัมมี่ซินจุยซึ่งคาดว่าเสียชีวิตในวัยประมาณ 50 ปี กับ ภาพวาด ซินจุย ในจินตนาการของศิลปิน
ส่วนปริศนาการไม่เน่าเปื่อยของ “ร่างแม่นางซินจุย” แม้เวลาจะผ่านไปนานกว่าสองพันปีนั้น นักโบราณคดี และนักวิทยาศาสตร์จีนก็ยังไม่ทราบคำตอบที่แน่ชัด แต่คาดเดาว่ามาจากสาเหตุ 3 ประการหลักๆ คือ หนึ่ง ความลึกของหลุมศพที่ลึกกว่า 20 เมตร โดยแบ่งเป็นหลุมศพจริงๆ 16 เมตร และหน้าดินอีก 4.5 เมตร โดยแม้แต่การขุดค้นของนักโบราณคดีจีนเองก็ต้องใช้เวลานานหลายเดือน สอง การปิดผนึกหลุมจนกระทั่งอากาศแทบจะถ่ายเทเข้าออกไม่ได้เลย โดยเฉพาะการใช้วัสดุอย่าง เช่น ดินเหนียวสีขาวหนากว่าหนึ่งเมตรมาห่อหุ้มโลงศพ อีกทั้งระหว่างดินเหนียวกับโลงไม้ ยังใส่ถ่านไม้ที่มีคุณสมบัติดูดความชื้นไว้กว่าในปริมาณมากกว่า 5 ตัน และ สาม มีการใช้ของเหลวบางประการที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรคและจุลินทรีย์ โดยจากการทดสอบสารดังกล่าวมีส่วนผสมของปรอท และกรดอะมิโน เป็นต้น

คณะแพทย์จีนในปี 2515 พยายาม ผ่าชันสูตรร่างซินจุยอย่างละเอียด เพื่อค้นหาคำตอบจากปริศนาความไม่เน่า ไม่เปื่อย และไม่แห้ง ของร่างของเธอที่ผ่านกาลเวลามานานกว่า 21 ศตวรรษ

ซินจุย (ขวา) จากละครโทรทัศน์ โดยนักแสดงในปัจจุบัน

ความงามของ ซินจุย ในจินตนาการของคนในยุคปัจจุบัน
“ร่างสองพันปีแต่กลับไม่เน่าเปื่อยของซินจุย” เป็นเพียงรายละเอียดหนึ่งในความมหัศจรรย์ของ “หม่าหวังตุย” ที่ถึงทุกวันนี้ก็ยังคงมีปริศนาให้พวกเราต้องสืบค้นความเร้นลับ และรายละเอียดกันเพิ่มเติมกันต่อไป

###################

ณ บริเวณชั้นที่สามของพิพิธภัณฑ์ ผมพบกับหญิงสาวคนเดิม เวลานั้นเธอกำลังพินิจพิจารณาเสื้อคลุมผ้าไหมสีแดงของซินจุย แม้ผมจะเดินผ่านเธอในระยะห่างกว่าหนึ่งเมตร ก็ยังรู้สึกได้ถึงกลิ่นไอของความเย็นจากตัวเธอ

ว่ากันว่าซินจุยเป็นคนพิถีพิถันกับการแต่งตัวอย่างยิ่ง พิจารณาจากเสื้อผ้าและสิ่งทอที่เธอหวังจะนำติดตัวไปสู่โลกหน้าด้วย มากกว่า 100 ชิ้น โดยทุกชิ้นล้วนแล้วแต่มีความประณีตและวิจิตรงดงามยิ่ง อีกทั้งหลายชิ้นยังมีความมหัศจรรย์ถึงขั้นเทคโนโลยีการทอในปัจจุบันก็ยังมิอาจรังสรรค์ให้เทียบเท่าได้


หญิงสาวคนเดิมดูท่าทางชอบเสื้อคลุมสีแดงตัวนี้มากเป็นพิเศษ เพราะแม้ผมจะเดินวนดูเสื้อผ้าอื่นๆ จนรอบแล้ว เธอก็ยังยืนมองเสื้อตัวนี้อยู่ ณ ตู้จัดแสดงจุดเดิม แต่พอผมหยิบกล้อง เตรียมยกขึ้นจะบันทึกภาพเธอกับเสื้อตัวนั้น เพียงพริบตาหญิงสาวผมยาวในเสื้อแดงคนเดิมกลับอันตรธานไปอย่างไร้ร่องรอย

ครับ ... คนจีนยุคคอมมิวนิสต์ไม่เชื่อเรื่องผีสาง ส่วนผมเองก็ไม่เคยเจอผีที่เมืองจีนเหมือนกัน




หมายเหตุ :
*ข้อมูลจากจดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา ฉบับที่ 117 เมษายน 2555
**ข้อมูลที่ผู้เขียนได้จากการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์มณฑลหูหนาน (湖南省博物馆)
***ขอขอบคุณ อาศรมสยาม-จีนวิทยา และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่เอื้อเฟื้อการเดินทางของผู้เขียนและคณะสื่อมวลชนในครั้งนี้


ชมเพิ่มเติมสารคดีไขปริศนาความมหัศจรรย์หม่าหวังตุย (考古探秘-马王堆传奇 : ภาษาจีน)



กำลังโหลดความคิดเห็น