xs
xsm
sm
md
lg

สัมผัสมนต์เสน่ห์ “เกาะเปียโน” กู่ล่างอี่ว์ ตอนที่ 1 : สายธารประวัติศาสตร์ที่นำเสียงดนตรีมาสู่ดินแดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ท่าเรือกู่ล่างอี่ว์ ตัวอาคารออกแบบเป็นรูปเปียโน (ภาพ MGR ONLINE)
ใครที่ได้เดินทางไปยังเมืองท่าซย่าเหมินในมณฑลฝูเจี้ยน หรือฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นเขตชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน แล้วพลาดไปเที่ยวเกาะกู่ล่างอี่ว์ นับเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อย กู่ล่างอี่ว์ตั้งอยู่ห่างจากเมืองซย่าเหมิน เพียง 600 เมตร เดินทางโดยสารเรือข้ามฟาก ใช้เวลาราว 5 นาที ก็ถึงกู่ล่างอี่ว์ เกาะแห่งนี้มีฉายาโรแมนติก ว่า “เกาะเปียโน” “เมืองเปียโน” หรือ “เกาะดนตรี”

ชื่อเกาะ“กู่ล่างอี่ว์” เป็นสำเนียงจีนกลาง (鼓浪屿 / Gulangyu) ในสำเนียงท้องถิ่นฮกเกี้ยนหรือหมิ่นหนัน (闽南)คือ โกหล่องซู (Kulangsu) โดยมีความหมายตามตัวอักษร คือ “คลื่นกลอง”ซึ่งมีที่มาจากเสียงคลื่นกระทบกับแนวโขดหินดังราวเสียงกลอง

กู่ล่างอี่ว์ มีพื้นที่เพียง 1.88 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ตรงข้ามกับเมืองซย่าเหมิน ในยุคโบราณเกาะแห่งนี้มีชื่อว่า หยวนซาโจว (圆沙洲) ต่อมาสมัยราชวงศ์หมิงขนานนามเกาะนี้ว่า “สวรรค์บนดิน”
ตึกอาคารเก่าแก่จากยุคอาณานิคมบนเกาะกู่ล่างอี่ว์ ได้รับการอนุรักษ์ไว้ ดั่งอนุสาวรีย์การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์แต่ละยุคของดินแดน และประวัติศาสตร์จีน (ภาพ MGR ONLINE)
เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้นำการพัฒนาความทันสมัยและความหลากหลายทางวัฒนธรรมแก่กู่ล่างอี่ว์ เริ่มจากเมื่อจีนได้ลงนามสนธิสัญญาหนันจิง (นานกิง)กับอังกฤษหลังสงครามฝิ่นครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1842 ซย่าเหมินกลายเป็นเมืองท่าเปิดแห่งแรกของจีนที่เปิดแก่โลกภายนอก ต่อมาในปี ค.ศ. 1902 กู่ล่างอี่ว์กลายเป็นเขตเช่าร่วมของนานาชาติ มีการตั้งสถานกงสุล โบสถ์ โรงพยาบาล โรงเรียน และสถานีตำรวจ เป็นต้น ชาวตะวันตกกว่า 10 ชาติ ได้อพยพมาตั้งรกรากเป็นเวลานับร้อยปีระหว่างศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20
ชายหาดเกาะกู่ล่างอี่ว์ สำหรับชื่อเกาะ“กู่ล่างอี่ว์”มีความหมายตามตัวอักษร คือ “คลื่นกลอง”ซึ่งมีที่มาจากเสียงคลื่นกระทบกับแนวโขดหินดังราวเสียงกลอง (ภาพ MGR ONLINE)
ล่วงสู่ยุคปัจจุบัน ขณะที่ชุมชนสมัยใหม่ก่อตัวขึ้น ตึกอาคารจากยุคอาณานิคมจำนวนมาก ได้รับการอนุรักษ์ไว้ ดั่งอนุสาวรีย์การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์แต่ละยุคของดินแดน และประวัติศาสตร์จีน

ช่วงสมัยที่ชาวตะวันตกเข้ามาตั้งรกรากในกู่ล่างอี่ว์ ได้นำวัฒนธรรมดนตรี โดยเฉพาะการเล่นเปียโนเข้ามา และสร้างค่านิยมการเล่นดนตรีบนเกาะ ครอบครัวชาวกู่ล่างอี่ว์ได้สืบทอดการเล่นเปียโนกันเป็นประเพณี จนมีคำกล่าวขานกันว่า “เสียงบรรเลงเปียโนเพราะพริ้งแว่วหวานดังจากบ้านเรือน กังวาลไปตามถนนหนทางทุกวี่วัน” ด้วยบรรยากาศบนเกาะที่เต็มไปด้วยเสียงดนตรี จึงได้ฉายา เกาะเปียโน หรือเกาะดนตรี กลายเป็นมนต์เสน่ห์ของเกาะกู่ล่างอี่ว์

ตามข้อมูลทั่วไประบุว่า กู่ล่างอี่ว์มีประชากรประมาณ 20,000 คน และครัวเรือนที่มีเปียโน มากกว่า 600 หลัง

ทั้งมนต์เสน่ห์จากวัฒนธรรมดนตรี และสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นทั้งแบบจีนและแบบตะวันตก ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอากาศบริสุทธิ์ ลมเย็นสบาย กู่ล่างอี่ว์ได้รับการจัดอันดับเป็นเขตทัศนียภาพระดับชาติAAAAA นักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลจากทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศ แวะเวียนกันมาเยี่ยมเยือน
ตึกพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโกหล่องซู (Kulangsu) ตึกหลังนี้เคยเป็นสำนักงานกงสุลอังกฤษ (ภาพ MGR ONLINE)
ผู้เขียนและคณะผู้สื่อข่าวจากเอเชียใต้-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ไปเยือนกู่ล่างอี่ว์ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา บนเกาะเล็กๆแห่งกู่ล่างอี่ว์นี้ มีหลายสิ่งให้เรียนรู้ และสัมผัส...

ขอนำชุดภาพที่เก็บจากเกาะกู่ล่างอี่ว์มานำเสนอเป็นภาพตัวแทนสะท้อนเนื้อหาสาระ เป็นตอนๆไป โดยขอเริ่มจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโกหล่องซู ที่จะนำเราไปรู้จักกับกู่ล่างอี่ว์
ป้ายแนะนำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโกหล่องซู (ภาพ MGR ONLINE)
ศูนย์จัดแสดงหรือพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโกหล่องซู จัดแสดงอยู่ในตึกเก่าอดีตสำนักงานกงสุลอังกฤษ ภายในพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการ บุคคลในประวัติศาสตร์ และมรดกตกทอดจากชุมชนนานาชาติบนกู่ล่างอี่ว์ โดยการเปิดพิพิธภัณฑ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการยื่นคำร้องไปยังองค์การยูเนสโกเพื่อขอจดทะเบียนเกาะกู่ล่างอี่ว์เป็นมรดกโลก
 “อามอยเปิดสู่โลก” (*อามอย ชื่อซย่าเหมิน ในสำเนียงฮกเกี้ยน) (ภาพ MGR ONLINE)
ประวัติศาสตร์การค้าทางทะเลที่รุ่งโรจน์ในยุคแห่งการค้นพบระหว่างศตวรรษที่ 16 ถึง ศตวรรษที่ 17 (ภาพ MGR ONLINE)
ประวัติศาสตร์การค้าทางทะเลที่รุ่งโรจน์ในยุคแห่งการค้นพบระหว่างศตวรรษที่ 16 ถึง ศตวรรษที่ 17 (ภาพ MGR ONLINE)

ในปี ค.ศ. 1847 หลิน เจิน (林针)ชาวกู่ล่างอี่ว์ ได้รับเชิญไปศึกษายังสหรัฐอเมริกา และได้เขียนหนังสือ “ซีไห่จี้โหยวเฉ่า” 西海记游草 หรือ Travel Notes in The Western Countries นับเป็นหนังสือที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศตะวันตกเล่มแรกที่เขียนโดยชาวจีน (ภาพ MGR ONLINE)

หลิน อี่ว์ถัง (林语堂 1895-1976) ชาวหลงซี มณฑลฝูเจี้ยน ศึกษาชั้นประถมศึกษาที่เกาะกู่ล่างอี่ว์ เป็นนักเขียน นักแปล นักวิชาการ นักภาษาศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงในยุคใกล้ของจีน ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโนเบลไพร์ซสาขาวรรณกรรม จากหนังสือ Moment in Beijing (ภาพ MGR ONLINE)

หลู จ้วงจาง (卢戆章1854-1928) ชาวถงอัน ซย่าเหมิน เป็นผู้คิดค้นสัทอักษร หรือการออกเสียงตัวอักษร (phonetic alphabet) แบบใหม่ที่เกาะกู่ล่างอี่ว์ ได้รับการยกย่องเป็น “บิดาผู้สร้างระบบรหัสตัวอักษรพินอินของภาษาจีนยุคใกล้” และยังเป็นผู้สร้างตัวอักษรจีนแบบย่อ ริเริ่มรูปแบบการเขียนภาษาจีนแบบแนวนอน (ภาพ MGR ONLINE)

หลิน เอ่อร์จยา (林尔嘉) พ่อค้าชาวไต้หวันที่มั่งคั่ง เป็นผู้สร้างสวนซูจวงบนกู่ล่างอี่ว์ในปีค.ศ. 1914 และได้ก่อตั้งสมาคมกวีแห่งซูจวง ได้รับความนิยมนานถึง 30 ปี โดยในช่วงปีแรกๆของการก่อตั้ง มีผู้เข้าร่วม 300 คน ต่อมามีสมาชิกเข้าร่วมเพิ่มถึง 1,000 คน จากมณฑลฝูเจี้ยน เจียงซู และมณฑลเจ้อเจียง นับเป็นกลุ่มกวีที่ส่งอิทธิพลทางความคิดในภาคตะวันออกจีนในยุคนั้น (ภาพ MGR ONLINE)

ตลาดโกหล่องซู (กลาง-ล่าง) ที่ทันสมัยที่สุดในช่วงราว 80 ปีที่ผ่านมา และโรงภาพยนตร์เหยียนผิง (กลาง-บน) ที่มีการฉายภาพยนตร์จีนและต่างประเทศ (ภาพ MGR ONLINE)
ภาพเปรียบเทียบแบบอาคารแบบเก่าในแต่ละช่วงยุคของกู่ล่างอี่ว์ (ภาพ MGR ONLINE)
แบบอาคารอามอย (ซย่าเหมิน) (ภาพ MGR ONLINE)
กำลังโหลดความคิดเห็น