กลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders) ได้จัดทำดัชนี “เสรีภาพสื่อโลก” (World Press Freedom Index) ประจำปี 2559 ซึ่งระบุระดับเสรีภาพสื่อของประเทศต่างๆทั่วโลก สำหรับจีนติดอันดับที่ 176 ในกลุ่ม 180 ประเทศ ซึ่งหมายถึงว่าเสรีภาพสื่อของจีนอยู่ในลำดับท้ายๆ
จีนเป็นหนึ่งในชาติที่ได้พัฒนาระบบเครือข่ายอันกว้างขวางและซับซ้อนมากที่สุดในโลกสำหรับควบคุมอินเทอร์เน็ต ที่เรียกว่า “มหากำแพงไฟ” (Great Firewall) มาเกือบ 20 ปี จัดตั้งกองทัพเซนเซอร์ออนไลน์ อีกทั้งกำหนดกฎเกณฑ์ทั้งแบบประกาศต่อสาธารณะและแบบลับๆ มากมาย เพื่อสกัดและลบข่าวสารข้อมูลที่ไม่ต้องการออกไปพ้นจากสายตาชาวเน็ตจีน ที่มีจำนวนถึง 680 ล้านคน
นอกจากนี้ จีนยังกำหนดการจดทะเบียนนักข่าวอย่างเข้มงวด นักข่าวจีนต้องได้รับอนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาอาชีพจากคณะบริหารสื่อ การเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลสู่สาธารณะ วิทยุ ภาพยนตร์ และโทรทัศน์ จึงสามารถรายงานข่าวได้อย่าง “ถูกกฎหมาย”
กลุ่มเว็บไซต์ข่าวจีนที่ปรากฏมากมายนั้น มีเพียง 14 รายเท่านั้น ที่ดำเนินการโดยสื่อของรัฐ เช่น สำนักข่าวซินหวา, พีเพิล เดลี่ ซึ่งดำเนินกิจการโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้สื่อข่าวของสื่อทางการเหล่านี้ มีใบอนุญาตนักข่าว ขณะที่รัฐบาลไม่รับรองสถานภาพนักข่าวให้แก่พนักงานที่ทำงานข่าวในเว็บท่าชั้นนำ ทั้ง ซีน่า ดอท คอม, เน็ตอีสต์ ดอท คอม, และ คิวคิว ดอท คอม แม้เว็บท่าเหล่านี้ เป็นเว็บข่าวยอดนิยม มีผู้อ่านหลายร้อยล้านคนก็ตาม
เว็บไซต์เหล่านี้ได้รับอนุญาตให้เพียงเผยแพร่ข่าวซ้ำจากสื่อที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล ดังนั้น พวกเขาจึงได้แต่ปฏิบัติงานใน “พื้นที่สีเทา” โดยการบรรณาธิกรณ์ และนำวัตถุดิบข่าวสารข้อมูลต่างๆมาจัดวางรูปแบบใหม่ ตลอดจนมีการเขียนข่าวขึ้นเอง
มาถึงยุคประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ขึ้นกุมอำนาจในปี 2555 ก็ยังควบคุมสื่ออย่างยิบตา ในเดือนก.พ.สีไปเยี่ยมชมสำนักงานของสำนักข่าวซินหวา, หนังสือพิมพ์ประชาชน (พีเพิล เดลี่) และซีซีทีวีซึ่งเป็นสื่อสถานีโทรทัศน์ธงนำของรัฐบาล และกล่าวว่า “สื่อจะต้องปฏิบัติตามแนวทางของพรรคฯ และธำรง “หลักแนะแนวมติมหาชนที่ถูกต้อง” อีกทั้งสนับสนุน “การประชาสัมพันธ์เชิงบวกเป็นประเด็นหลัก”
ด้านหน่วยเฝ้ายามสื่อของรัฐบาลก็คอยสอดส่องบรรดาสื่อในแผ่นดินใหญ่ ราวกับแมวไล่จับหนู
เดือนก.ค.ที่ผ่านมา ผู้คุมกฎสื่ออินเทอร์เน็ตคือ คณะบริหารจัดระเบียบโลกไซเบอร์สเปซแห่งจีน (Cyberspace Administration of China ชื่อย่อ CAC) ก็ออกโรงมากำหราบกลุ่มสื่อออนไลน์ที่ไม่อยู่ในทิศทางที่พึงปรารถนาของรัฐบาล ได้แก่ เว็บไซต์ข่าวของ ซีน่า คอร์ป (Sina Corp), โซหู ดอท คอม (Sohu.com Inc), เน็ทอีสต์ (Netease Inc), ไอเฟิ่ง (iFeng) ของ โฟนิกซ์ นิว มีเดีย (Phoenix New Media) แห่งฮ่องกง และสื่อรายอื่นๆ
CAC สั่งปรับเงินสื่อออนไลน์เหล่านี้ ในความผิด “พัวพันกับการกระทำที่ละเมิดกฎระเบียบข้อบังคับและนำเสนอเนื้อหาส่งผลกระทบที่เลวร้าย” พร้อมกับออกคำสั่งให้ “แก้ไขปรับปรุง” หน้ารายงานข่าวที่พวกเขาจัดทำขึ้นเอง
นอกจากนี้ เป่ยจิง ไทม์ส ยังรายงานว่า CAC ได้ปิดช่องทางนำเสนอข่าวออนไลน์ของ ซีน่า, โซหู, เน็ตอีสต์ และไอเฟิ่ง ทั้งส่วนเว็บไซต์ หน้าคอลัมน์ข่าว บัญชีวีแชท (WeChat) เป็นต้น
ในเดือนนี้ ก็มีรายงานข่าวเผยว่า คณะกรรมการบริหารจัดระเบียบโลกไซเบอร์แห่งปักกิ่ง ระบุในบัญชีโซเชียลมีเดีย “วีแซท” (Wechat) ขององค์กรว่า เจ้าหน้าที่ได้ “เรียกตัว” บรรณาธิการใหญ่ของเว็บท่าชั้นนำจีนคือ iFeng.com มาเคลียร์เรื่อง “ฝ่าฝืนกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับอย่างร้ายแรง” ของเว็บไซต์ โดยตั้งข้อกล่าวหาต่อไอเฟิ่ง ได้แก่ “รวบรวมข่าวสารข้อมูล พาดหัวข่าว เสนอรายงานข่าว โดยมิได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการก่อน และยังเปิดหน้าข่าวออนไลน์โดยไม่มีใบอนุญาตจากหน่วยเฝ้ายามสื่อจีน แต่ไม่ได้เปิดเผยแจกแจงรายละเอียดข้อกล่าวหาฯดังกล่าว
ขณะเดียวกันแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับกรณีดังกล่าว เผยกับสื่อฮ่องกง เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ว่า บรรณาธิการใหญ่ iFeng.com ถูกเรียกตัวไปตักเตือน ตำหนิโทษ เนื่องจากเสนอรายงานสดเกาะติดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงที่ทางการจีนกำลังดำเนินมาตรการเซนเซอร์สื่ออย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ เซ็คชั่นนำเสนอข่าว 3 เซ็คชั่น บนเว็บไซต์ของไอเฟิ่ง ที่เผยแพร่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ก็ถูกปิด ทั้งนี้จากรายงานข่าวของ เป่ยจิง ยูธ เดลี่ (Beijing Youth Daily) เมื่อวันอังคาร (13 ธ.ค.)
หนึ่งในหน้าข่าวสามเซ็คชั่นของไอเฟิ่ง ดอท คอม ที่ถูกปิดไปนั้น เป็น “ข่าวซีเรียส” ซึ่งมาจากน้ำพักน้ำแรงของ “ทีมนักข่าวสืบสวนสอบสวนมือดีที่สุด” ของไอเอฟิ่ง โดยทีมนักข่าวฯกลุ่มนี้เคยนำเสนอประเด็นอ่อนไหวอย่างเช่นการบังคับรื้อถอนบ้านหรือไล่ที่ คอรัปชั่น และการล่วงละเมิดทางเพศ
โฟนิกซ์ นิวส์ มีเดีย (Phoenix New Media) แห่งฮ่องกง อ้างแหล่งข่าวหัวหน้ากองบรรณาธิการไอเฟิ่ง นาย โจว หมิง ซึ่งได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเซาท์ ไชน่า มอรฺนิ่งโพสต์ ทางอีเมล์ ระบุว่าบริษัทจะปฏิบัติตามกฎหมายจีนเมื่อดำเนินธุรกิจในแผ่นดินใหญ่
โจวยังกล่าวเพิ่มเติมว่าการปิดหน้าเว็บข่าว 3 เซ็กชั่น มีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อการนำเสนอข่าวสารทั้งหมดของสื่อ
ในช่วงการเลือกตั้งสหรัฐฯทางการจีนได้มาตรการจำกัดการรายงานข่าวข้อมูล ขณะที่เว็บไซต์ข่าวจีนรายอื่นๆเชื่อฟังอยู่ในกรอบของทางการ สื่อ ไอเฟิ่ง กลับได้ส่งนักข่าวของตนไปรายงานข่าวสดในกรุงวอชิงตัน
เจ้าหน้าที่เฝ้ายามโลกไซเบอร์จีน กล่าวว่า การรายงานข่าวของไอเฟิ่ง “ส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมาก” และให้ไอเฟิ่งกลับไปศึกษาอย่างถี่ถ้วน เกี่ยวกับจิตวิญญาณ คำปราศรัยสำคัญของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ว่าด้วยการเสนอข่าวสารข้อมูล และการยึดถือทิศทางการเมืองที่ถูกต้อง
ในเดือนนี้ จีนยังได้กำหนดกฎข้อบังคับใหม่สำหรับควบคุมดูเว็บไซต์สตรีมมิ่ง โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธ.ค. 2559