xs
xsm
sm
md
lg

จีนยกเลิกคุยนายกฯ สโลวัก ท้วงผู้นำฯ ทานอาหารกับทะไลลามะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณทิเบต ขณะรับประทานอาหารกลางวันกับ นายอันเดรีย กิสตา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐสโลวัก ระหว่างการเยือนยุโรป เมื่อวันที่ 15 - 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา (ภาพจาก dalailama.com)
ซั่งไห่อิสต์ - การประชุมทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐสโลวัก นายโรเบิร์ต ฟิโก้ และนายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เค่อเฉียง ถูกยกเลิกไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยที่ประธานาธิบดีสโลวัก นาย อันเดรีย กิสตา ร่วมโต๊ะนัดทานอาหารกับทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

รายงานข่าวกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีจีนได้มีกำหนดการพบกับนายกรัฐมนตรีสโลวัก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน แต่ยกเลิกก่อนการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปตะวันออก และยุโรปกลาง ในการประชุมสุดยอดผู้นำ 16+1 ด้วยต้องการย้ำแสดงจุดยืนกับนานาชาติว่าทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีนอันไม่อาจแบ่งแยกได้ และไม่เห็นด้วยที่ประธานาธิบดีสโลวัก นายอันเดรีย กิสตา ร่วมนัดทานอาหารกลางวันกับองค์ทะไล ลามะผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบตเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ผู้นำจีนยังต้องการแจ้งให้นายกรัฐมนตรีสโลวักทราบถึงสถานการณ์ที่อาจบั่นทอนความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีจีน-สโลวัก ซึ่งยังต้องปรับกันก่อนที่จะคุยถึงโครงการต่างๆ ในอนาคตสองชาติ

ทั้งนี้ ทิเบตกลายเป็นดินแดนแห่งความขัดแย้ง นับตั้งแต่รัฐบาลปักกิ่งส่งกองทัพเข้ายึดครองดินแดนบนเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้ หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีอำนาจปกครองประเทศเมื่อปี 2492 โดยอ้างว่า ทิเบตเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนมานานหลายร้อยปีแล้ว แต่ชาวทิเบตมากมายแย้งว่า ทิเบตเป็นรัฐอิสระมายาวนานในประวัติศาสตร์ภายการปกครองของผู้นำในศาสนาพุทธ

ภายหลังการเข้ายึดครองของจีน ชาวทิเบตได้ก่อกบฎ แต่ไม่สำเร็จ ทำให้ทะไลลามะเสด็จลี้ภัยไปประทับในอินเดียและมีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตในเมืองธรรมศาลาในปี 2502 จากนั้น จีนได้จัดตั้งเขตปกครองตนเองทิเบตในปี 2508 ซึ่งเป็นภูมิภาคอาศัยของชาติพันธุ์ 1 ในทั้งหมด 5 ภูมิภาคชาติพันธุ์ของจีนในปัจจุบัน โดยความขัดแย้งในภายหลังจนปัจจุบันนี้ จีนกล่าวเสมอมาว่าองค์ทะไลลามะ มีส่วนรู้เห็นกับการเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดน และเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ในทิเบต
กำลังโหลดความคิดเห็น