เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - สหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) เปิดเผยผลการศึกษาระดับนานาชาติ ระบุว่าจีนจะพบเด็กอายุ 5-17.9 ปี มีน้ำหนักเกินเข้าขั้นโรคอ้วนกว่า 48.5 ล้านคนภายในปี 2568
ตัวเลขดังกล่าวซึ่งสูงกว่าจำนวนประชากรสเปนทั้งประเทศนั้น ยังทิ้งห่างเป็นเท่าตัวจากเด็กอ้วนในอินเดียและสหรัฐอเมริกา ที่สหพันธ์ฯ ประเมินตามกรอบเวลาเดียวกันไว้ที่ 17.3 ล้านคน และ 16.7 ล้านคนตามลำดับอีกด้วย
การศึกษาได้อ้างอิงฐานข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ภาระโรคทั่วโลก (Global Burden of Disease) ประจำปี 2543 และปี 2556 ซึ่งสำรวจโดยองค์การอนามัยโลก (WTO) และจัดให้จีนอยู่ที่อันดับ 8 ของ 20 ประเทศที่มีเด็กอ้วนเพิ่มสูงขึ้นเร็วที่สุดในโลก ส่วนสามอันดับแรกคือ เวียดนาม อาเซอร์ไบจัน และเซอร์เบีย
“คาดการณ์ได้ว่าเด็กจีน 1.5 ล้านคนจะเผชิญภาวะความทนทานต่อน้ำตาลบกพร่อง ขณะที่อีก 4.6 ล้านคนจะเป็นโรคไขมันพอกตับ รวมถึงกลุ่มโรคอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับโรคอ้วน เช่น ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน”
“การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงและเครื่องดื่มที่ไร้แอลกอฮอล์ อาทิ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ฯลฯ ได้เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ส่วนเด็กๆ ก็ใช้ชีวิตแบบอยู่นิ่ง ไม่ออกกำลังกายกันมากขึ้น” ทิม ล็อบสไตน์ ผู้ทำการศึกษาและหัวหน้าฝ่ายนโยบายของสหพันธ์ฯ กล่าว
“การโฆษณาของอาหารขยะซึ่งเป็นเมนูที่เพิ่มน้ำหนักตัว ยังคงส่งอิทธิพลต่อการเลือกรับประทานอาหารของครอบครัวรายได้ต่ำที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง”
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปีก็มีการเปิดเผยผลการศึกษาฉบับหนึ่งซึ่งจัดทำโดยคณะนักวิจัยในมณฑลซันตง ระบุว่าความชุกของโรคอ้วนในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่อาศัยอยู่แถบชนบทของมณฑล ได้ขยายตัวมากขึ้นระหว่างปี 2528-2557
การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสารว่าด้วยการป้องกันโรคเกี่ยวกับหัวใจแห่งยุโรป (European Journal of Preventive Cardiology) กล่าวว่าความชุกของโรคอ้วนในเด็กชายเพิ่มจากร้อยละ 0.74 ในปี 2528 ไปเป็นร้อยละ 16.35 ในปี 2557 ส่วนเด็กหญิงเพิ่มจากร้อยละ 1.45 ไปเป็นร้อยละ 13.91
ทั้งนี้ จีนได้วางมาตรการป้องกันโรคอ้วนในเด็กเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาเด็กแห่งชาติ ปี 2554-2563 ซึ่งออกโดยคณะมุขมนตรี (รัฐบาลจีน) ในปี 2554 โดยกำหนดให้พัฒนาการอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการรับประทานอาหารอย่างสมดุลแก่พ่อแม่ชาวจีนทั่วประเทศ