เอเอฟพี - สืบเนื่องจากการสอบสวนของคณะมุขมนตรีจีน (รัฐบาล) ระบุอย่างเป็นทางการว่า เหตุดินถล่มในนครเซินเจิ้นซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และผู้สูญหายมากกว่า 70 คน เป็น “อุบัติเหตุด้านความปลอดภัยทางอุตสาหกรรม” มากกว่าธรณีพิบัติภัยทางธรรมชาติ
เหตุดินถล่มเมื่อช่วงใกล้เที่ยงของวันอาทิตย์ (20 ธ.ค.) ในเขตก่วงหมิงใหม่ นครเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้งทางจีนตอนใต้ นับเป็นอุบัติภัยร้ายแรงจาก ‘ฝีมือมนุษย์’ ครั้งล่าสุดของจีน ที่เกิดขึ้นตามหลังเหตุโรงงานสารเคมีระเบิดในนครเทียนจิน ที่คร่าชีวิตประชาชนเกือบ 200 คน เพียงไม่กี่เดือน
หนังสือพิมพ์ของกระทรวงที่ดินและทรัพยากรจีนรายงานว่า สาเหตุของหายนะครั้งนี้มาจากการกักเก็บดินเสีย ที่ได้จากงานก่อสร้างอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม โดยหนังสือพิมพ์โกลบอล ไทม์ส ระบุว่ากองดินถูกทับถมอย่างผิดกฎหมายจนสูงกว่า 100 เมตร และกลายเป็นคลื่นโคลนดำระหว่างฝนลงเม็ดในเช้าวันอาทิตย์
สำนักข่าวซินหวารายงานวานนี้ (24 ธ.ค.) ว่า ยอดผู้สูญหายยังคงอยู่ที่ 75 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 7 ราย ส่วนผู้รอดชีวิตนั้นพบเพียงหนึ่งราย เป็นแรงงานชายจากต่างถิ่น วัย 21 ปี ทราบชื่อ เถียน เจ๋อหมิง ที่ติดอยู่ใต้ซากตึกนานเกือบสามวันก่อนถูกพบตัว
ทั้งนี้ คณะมุขมนตรีหรือรัฐบาลจีนประกาศเมื่อต้นสัปดาห์ว่า ได้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษ นำโดยรัฐมนตรีกระทรวงที่ดินและทรัพยากรขึ้นมาสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว
เอกสารบนเว็บไซต์ของทางการเขตก่วงหมิงใหม่แสดงข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้ตระหนักถึงปัญหาการจัดเก็บดินและของเสีย บริเวณนิคมอุตสาหกรรมเหิงไถอี้ว์ และสั่งการให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบดำเนินมาตรการแก้ไขปรับปรุง ตั้งแต่เดือนก.ค. ที่ผ่านมา
อ้างอิงแถลงการณ์ซึ่งลงวันที่ 10 ก.ค. เจ้าหน้าที่รัฐกล่าวว่า การปฏิบัติงานของพื้นที่ดังกล่าวไม่เป็นไปตามแผนงาน ที่ได้รับอนุมัติจากทางการท้องถิ่น จึงออกคำสั่งให้บริษัท หงเอ้า คอนสตรัคชั่น เวสต์ ดัมพ์ ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ เร่งดำเนินการแก้ไขให้กลับสู่แนวทางที่ถูกต้องโดยด่วน
ต่อมาในเดือนก.ย. รัฐบาลท้องถิ่นออกคำเตือนเป็นครั้งที่สอง ชี้แจงว่าใบอนุญาตประกอบกิจการพื้นที่ทิ้งขยะของเสียของบริษัทฯ นั้นหมดอายุ และการดำเนินงานในพื้นที่ควรยุติลงทั้งหมด