xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางสายไหมไดอารี่ (8) : ตำนานที่น่าสะพรึง กับ ค่ำคืนร่ำลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวอุยกูร์ส่วนใหญ่ทำการเกษตร
วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว

ภารกิจของคาราวานนักข่าวในคาซการ์มาถึงช่วงวันท้ายๆ เป้าหมายของการเดินทางส่วนใหญ่อยู่ที่อำเภอรอบนอกของคาซการ์ และ ไกลที่สุดคือประชิดชายแดนทางฝั่งตะวันตกติดกับประเทศเพื่อนบ้านของจีน เช่น ทาจิกิซสถาน ปากีสถาน

ทุกๆ ท้องที่ที่เรามุ่งไปล้วนเป็นถิ่นทุรกันดาร แต่ถนนหนทางรัฐบาลจีนกับพัฒนาได้อย่างน่าทึ่ง ถนนหลักสี่เลน สายรองแม้จะสวนกันแต่ก็ราบรื่น มีก็แต่ทางเชื่อมหมู่บ้านที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างรวมถึงเครือข่ายโทรคมนาคมที่ซอกซอนทะลุทะลวงแม้รถจะวิ่งไปบนพื้นที่สูงตามแนวเขา ไม่มีที่ใดที่ทำให้เฟซก็เงียบ ไลน์ก็เหงา หรือ ขาดการเชื่อมต่อของอินเตอร์เน็ตให้เสียอารมณ์ลงแดง

พื้นที่ส่วนใหญ่แห้งแล้ง ภูเขาหิน และ ดินไม่เหมาะกับการเพาะปลูก ไม่มีใครคาดคิดว่า จะมีโรงเรือนเพาะปลูกพืชผักที่กลายเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงคนมากมายในคาซการ์ตั้งเรียงรายสุดลูกหูลูกตา

โรงเรือนเหล่านี้มองครั้งแรกไม่เหมือนโรงเรือนที่เคยเห็น ตัวโรงเรือนคลุมด้วยพลาสติกใส อีกด้านเป็นดินและหินเหมือนเป็นบังเกอร์แนวป้องกันลม หรือ พายุทราย ภายในโรงเรือนติดตั้งเครื่องควบคุมอุณหภูมิและน้ำได้ตลอดเวลา พืชผักจึงเจริญงอกงามได้ดีตรงข้ามกับโลกภายนอกโรงเรือนจะคล้ายต่างดาวไม่มีสิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้

ตลอดทั้งเช้า สาย ย้ายมาบ่าย ท่ามกลางอากาศร้อน แสงแดดจ้า เราตะลอนๆ เข้าๆ ออกๆ โรงเรือน ดูวิถีเกษตรกรในหลายพื้นที่

พืชผักที่นี่ใช้น้ำน้อย ไม่เหมือนคนพอร้อนก็ต้องดื่มน้ำเยอะดับกระหาย พอดื่มมากๆ เข้าน้ำในตัวก็เริ่มเต็มตลิ่ง พวกเราทั้งหลายชายหญิงไม่สนุกกันจริงละ ต้องนั่งตัวเกร็ง รถตกหลุมที กระเทือนถึงหัวใจ ความทุกข์เมื่อมาเยือนอยู่ไม่เป็นสุข ภาวนาให้รถถึงที่หมายปลายทางเร็วๆ จะได้หาหนทางปลดทุกข์

ที่สุดก็ถึงเป้าหมายเป็นอาคารที่ทำการของศูนย์ปฎิบัติงานกำกับดูแลพื้นที่เพาะปลูกหลายพันไร่ ซึ่งเป็นผู้ดูแลโรงเรือนที่เห็นสุดลูกหูลูกตาเหล่านั้น ไม่มีรีรอลังเล สบตากับทาเคชิ เพื่อนชาวญี่ปุ่นให้สอบถามเจ้าหน้าที่เจ้าถิ่น ตรงไปหาห้องน้ำทันที

อาคารสูง 3 ชั้นก่อสร้างมั่นคงแข็งแรง โดดเด่นเป็นสง่าของละแวกนี้ ภายในตึกประกอบไปด้วยห้องประชุม ห้องทำงาน และชั้นบนสุดเป็นดาดฟ้ามีที่นั่งให้กวาดสายตามองโรงเรือนเพาะปลูก และ พักสายตามองแนวเขาหิมะที่สวยงาม จินตนาการไปไกลถึงประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่หลังเขาได้เลย คาดว่า ตึกหลังนี้มีมูลค่าไม่น้อย แต่ ไม่มีห้องน้ำ

เราเดินอย่างงุนงงไปในทิศที่เจ้าหน้าที่ชี้ให้เดินไป ขาที่ก้าวแต่ละก้าวรู้สึกหนักอึ้งเหมือนคนเป็นโรคเท้าช้าง อย่างเนิบช้าสโลไลฟ์ยิ่งกว่าตัวสลอตกว่าจะถึงที่ ทั้งๆ ที่ระยะทางก็ไม่น่าจะเกิน 50 เมตร ไม่เข้าใจว่า ในตัวอาคารทำไมเขาไม่ลงทุนทำห้องสุขา

ห้องน้ำข้างตึกหลังนี้มุงหลังคาเหมือนเพิงหมาแหง ผนังก่อปูนขึ้นมาสามด้าน คั่นตรงกลางเพื่อแบ่งเป็นสองห้อง ไม่มีป้ายบอกชาย-หญิง มองยังไงก็ไม่รู้ว่าเป็นห้องน้ำ เหมือนโรงเก็บจอบเสียมอุปกรณ์การเกษตรมากกว่า แต่ บังเอิญผู้หญิงในคณะเลือกไปทางซ้าย เราจึงมาทางขวา

พลันที่เดินเข้าไป ความทุกข์ที่อัดอั้นมาแทบไม่ต้องปลดแล้ว อาการที่เขาบอก “หัวร่อมิออกร่ำไห้ก็ไม่ได้” ได้เจอเข้ากับตัวเองบรรลุเลยว่าเป็นยังไง กลิ่นไม่ต้องพูดถึง พอจะคาดเดาได้ แต่ในห้องถีงกับมีคนๆหนึ่งนั่งอยู่นี่สิ ใครจะคิด มัน ยากจะอธิบายว่า ขนลุกขนพอง สยองขวัญ หวั่นไหว หวาดกลัว ก็ไม่รู้จะใช้คำยังไง

นึกถึงพี่วูดดี้ ขายกระทะวิเศษอีกครั้ง สิ่งที่พี่น้องชาวไทยจะได้เห็นต่อจากนี้ ไม่มีสเปเชี่ยลเอฟเฟกต์ ไม่มีคอมพิวเตอร์กราฟฟิกใดๆทั้งสิ้น นอกจากชายคนหนึ่งนั่งยองๆ ไม่มีโถปัสสาวะ ไม่มีคอห่าน คอหงส์ ชักโครก หรือ ส้วมซืม มีแต่คนยืนซึม ทำตัวไม่ถูก

ก้มมองพื้นที่เขานั่ง พบว่า เจาะตามขวางเป็นช่องแคบยาวราวเมตรเศษพอดีให้คนยืนห่างกันไม่ใช่ไหล่ชนกันได้ 3 คน กว้างประมาณคืบ เป็นช่องพอประมาณให้พลแม่นปืนยิงกระต่ายได้เล็งให้ตรงเป้าลงไปด้านล่างที่ลึกลงไป3-4 เมตรเท่านั้น

สถานการณ์บีบคั้นหัวใจ จะสูดลมหายใจลึกๆ อย่างที่เคยก็ทำไม่ได้ จะถอยหลังกลับรอไปเป้าหมายหน้าก็ไม่รู้ว่าจะทนหน้าเขียวหน้าคล้ำไปได้นานแค่ไหน ไหนๆ ก็ไหนๆ ลูกผู้ชาย ไม่อายฟ้าดิน แต่อายที่จะปลดทุกข์ร่วมกับคนนั่งยองๆ ข้างๆ คิดในใจทำไม คนจีนช่างเป็นคนเปิดเผยจริงๆ

ดึงสมาธิกลับ บังคับสายตาไม่ให้กลอกไปข้างๆ ยังไงก็ถูกบีบให้มองข้างล่างได้เท่านั้น สะกดจิตตัวเอง ใจคิดถึงคำพระ ร่างกาย ตัวตน ไม่ใช่ของเราๆๆ

ปล่อยมันไปๆๆ

….

เมื่อก่อนหากนึกถึงห้องน้ำหรือส้วมจีนย้อนหลังกลับไป 20-30ปีก่อนถือเป็นตำนานที่เล่าขานกันมาอย่างสยดสยอง น่าสะพรึงกลัวกว่าเรื่องผีใดๆ ในโลกนี้

ทว่า ยุคนี้ โลกก้าวไปไหนต่อไหน ส้วมจีนพัฒนาไปไกล ในแหล่งท่องเที่ยวมีห้องน้ำทันสมัยไฮเทคกว่าประเทศไทยเสียอีก ตอนหลังใครที่ไปเที่ยวจีน จากตำนานก็ค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลาไม่ค่อยมีใครพูดถึงเพราะสุขาแบบเดิมๆนั้นหายไป แต่ในที่ห่างไกล ยังมีวิถีเดิมๆ อยู่ให้เห็น รอให้ท่านไปประสบพบเจอด้วยตัวเอง และ บันทึกเป็นตำนานของท่านเอง

อย่างไรก็ดี ทุกข์ไป สุขก็มักจะกลับมา หมุนวนไปตามวิถี

ค่ำคืนของวันที่จะร่ำลาคาซการ์ หลังอาหารค่ำ ทาเคชิ เดินมากระซิบ บอกว่า เลขาฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเมืองจะเชิญออกไปสำรวจไนท์ไลฟ์

นั่นตรงกับใจของพวกเราพอดี วิถีชีวิตกลางคืน ไม่ว่าที่ไหนล้วนน่าสนใจ เราจะได้เห็นโลกอีกใบหนึ่งที่ไม่คุ้นในช่วงกลางวัน และ ยิ่งเป็นต่างถิ่น ต่างวัฒนธรรม น่าลองท่องอยู่แล้วเพื่อการศึกษาเรียนรู้

เลขาฯ สั่งให้คนเอารถมารับ คนขับๆ มุ่งหน้าไปชานเมืองไม่นานก็มาถึงเวิ้งที่เต็มไปด้วยร้านอาหารในสไตล์สวนอาหารบ้านเรา เสียงตะโกนสั่งอาหารของบริกรแข่งกับเสียงของลูกค้าที่กำลังเฮฮาได้ที่ โต๊ะที่นั่งเป็นพื้นยกสูง มีโต๊ะเตี้ยวางตรงกลาง คนเข้าร้านส่วนใหญ่เป็นครอบครัวในท้องที่ พ่อ แม่ ลูก ญาติพี่น้อง ดื่มชา และ กินข้าวกัน โดยที่มีบางกลุ่มเป็นกลุ่มเพื่อนฝูงชาวจีนสั่งเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์มาพอให้การพูดคุยออกรส

อาหารของร้านที่แนะนำ เป็นปลาย่างราดพริก หรือ เราเรียกกับเพื่อนญี่ปุ่นว่า ปลาเล่นรอบกองไฟ ปลาตัวใหญ่มากถูกผ่าและแผ่ออกเป็นซีกเสียบไม้อังไว้กับกองไฟบนเตาที่สามารถหมุนไปได้เรื่อยๆ

ปลาย่างส่งกลิ่นหอมยั่วประสาทสัมผัสลูกค้า เวลาเสิร์ฟต้องราดด้วยเครื่องปรุงคล้ายที่ใช้กับปลานึ่งมะนาวบ้านเรา รสชาติกินร้อนๆ เผ็ด เปรียว เค็ม กลมกล่อม มีความหอมของเตาถ่านติดมาด้วยให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติละมุนละมัย

โต๊ะของพวกเรามากันหลายคน ส่วนใหญ่เป็นนักข่าวที่ร่วมทำงานกันมาหลายวัน และ เจ้าหน้าที่ดูแลคณะบางส่วน อาหาร ผลไม้ และ เครื่องดื่มพร้อมอยู่บนโต๊ะเตี้ยที่เรานั่งล้อมวง

เมื่อสรวลเสเฮฮาได้ที่ เลขาฯได้เปิดกิจกรรมเชื่อมสัมพันธไมตรีด้วยการขอให้แต่ละคนร้องเพลงของชาติตัวเองเวียนกันไปให้ทั่วๆ เริ่มจากเลขาฯก่อน งัดเพลงที่ฟังดูเหมือนเพลงปลุกใจพรรคคอมมิวนิวส์จีน เจ้าหน้าที่สาวร้องสามัคคีชุมนุมเวอร์ชั่นจีน ทาเคชิ และ ทาคูยะ เลือกเพลง สุกี้ยากี้ (SUKIYAKI- 坂本九 ร้องโดย คิว ซากาโมโตะ) เพลงอมตะนิรันดร์กาลของญี่ปุ่นที่คนไทยรู้จักดี พอขึ้นต้นเราเลยคลอตามได้ เพื่อนญี่ปุ่นแปลกใจที่เห็นเราร้องได้ ความสัมพันธยิ่งดูแนบแน่นขึ้นไป

จากนั้นวนไปเป็น จีน แคนาดา เจ้าหน้าที่บ้าง สลับกันไปบรรยากาศเหมือนเข้าค่ายลูกเสือเล่นรอบกองไฟ โดยกองไฟที่ว่าเป็นเตาถ่านย่างปลาที่ลุกโชนแสงอยู่ไกลๆ จนมาถึงไอ้หนุ่มไท่กั๋วอย่างเรา ทุกคนรอคอย จ้องมองในน้ำเต้าของมันจะขายยาอะไรอีก เพราะ หมอนี่เคยอำเรื่องแชมป์ปิงปองของไทยให้ทุกคนฮือฮามาแล้ว

แต่ครั้งนี้เราต้องทำให้พวกเขาผิดหวัง เพราะเปิดยูทูปแปลงมือถือเป็นจอคาราโอเกะชั่วคราวร้องเพลงที่ชอบ เก็บตะวัน ของอิทธิ พลางกูร ผู้ล่วงลับ ร้องไปๆ แทนที่จะซาบจะซึ้ง ทาเคชิกับทาคูยะลุกจากที่นั่งเดินมามากอดคอแหกปากร้องอะไรก็ไม่รู้คล้ายๆ พยายามจะร้องตาม

เพลงจบ บรรยากาศเงียบกริบ เราถือโอกาสนั้น อธิบายความหมายของเพลง เหตุผลที่ร้องเพลงนี้เพราะ เป็นบทเพลงที่ให้กำลังใจคน เมื่อใดก็ตามที่คุณท้อ มองไปที่พระอาทิตย์สิ จะเห็นความแข็งแกร่ง ความเข้มแข็ง แผดแสงแรงกล้าอยู่อย่างนั้น ในซินเจียงอุยกูร์ยิ่งเห็นพระอาทิตย์ได้ตลอดเวลา สามสี่ทุ่มบางวันยังไม่ลับฟ้าเลย

พูดจบ จากตัวตลกเรียกเสียงฮา อำว่า เป็นแชมป์โน้นนี่นั่น กลายเป็นคนลึกซึ้งไปซะงั้น ค่อยเรียกภาพลักษณ์ที่ดีงามคืนกลับสู่ร่างได้บ้าง

ค่ำคืนนั้นเสียงเพลง รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ทำให้เป็นค่ำคืนที่อบอวลไปด้วยมิตรภาพที่น่าประทับใจ เหมือนจะรู้ว่า งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกรา ภารกิจของคาราวานนักข่าวที่เริ่มต้นจากไม่รู้จักกัน มารู้จักกันบนเส้นทางสายไหมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า2,000 ปี กำลังจะแยกย้ายกันแล้ว

นับจากวันเริ่มต้นเมื่อ7-8วันก่อน เราต่างผ่านอะไรมาด้วยกันตั้งแต่ที่อูหลูมู่ฉี ได้รับรู้วิถีชีวิตของชาวอุยกูร์ เดินไปไหนมาไหนก็ล้วนแต่สัมผัสได้ถึงอารยธรรมโบราณ เห็นความทันสมัยใหญ่โตของเมกะโปรเจกต์ที่จะผลักดันให้แผ่นดินซินเจียงอุยกูร์กลับมาเป็นความหวังใหม่ของคนจีน และคาซการ์ที่เห็นซึ้งถึงความเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมนั้นหาดูได้ยากยิ่งในยุคนี้

ว่าไปแล้วต้องย้อนกลับมาคิด ชีวิตในซินเจียงอุยกูร์ จากอูหลู่มู่ฉีมาคาซการ์ไม่ถือว่าได้สัมผัสซินเจียงได้ทั่วถึง แต่อย่างน้อยก็ได้ซาบซึ้งกับคำจีนที่ว่า …

不到新疆不知地域的辽阔,不到西藏不知天堂的色彩

“ไม่ถึงซินเจียงไม่รู้ความไพศาลของผืนแผ่นดิน ไม่ถึงทิเบตไม่รู้สีสันของสวรรค์ชั้นฟ้า”*

กลับถึงโรงแรมที่พัก บทเพลง สุกี้ยากี้ ที่ทาคูยะร้องสดๆยังดังก้องหู คล้ายเป็นมิวสิควีดีโอ ภาพทุกอย่างของที่นี่รีเพลย์กลับมา เหมือนเล่นคลิปซ้ำๆ อีกไม่กี่ชั่วโมงจากนี้คงต้องร่ำลาจากดินแดนที่กว้างใหญ่ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่สวยงาม อย่างอูลู่หมู่ฉี กลับบ้าน ชีวิต ความเป็นอยู่ก็จะดำเนินไปเหมือนเดิม

อยากจะจดจำทุกๆ อย่าง บอกตัวเองว่า กลับไปจะเขียนไดอารี่ไว้เตือนความจำ ในคืนที่เงียบเหงาจะได้ย้อนกลับมาคลิกอ่าน และ เปิดดูภาพเหล่านี้ ...ภาพที่มี มิตรภาพ และความทรงจำในซินเจียงอุยกูร์

เหม่อมองออกนอกหน้าต่าง ภูเขาดำทะมึน ท้องฟ้ามืดมิดเห็นดาวระยิบ หยิบมือถือมาเปิดเพลงนี้อีกครั้ง เสียงร้อง เนื้อร้อง และ คำแปล ขึ้นมาพร้อมสรรพ ...

อุเอโอมุอุอิเต อารุโค...ฉันแหงนมองฟ้าตั้งหน้าตั้งตาเดินต่อไป

นามิคางา โคโบเร นาอิโย โรนิ...เก็บกลั้นน้ำตาไม่ให้รินไหล

โอเมอิดะซิ ฮารุโนริ...ฉันยังจำช่วงเวลาในฤดูใบไม้ผลิได้อยู่

ฮิโต ริโบ จิโนโยรุ ...

ตอนนี้ฉันอยู่คนเดียวในคืนที่อ้างว้าง.
แตงโมใช้น้ำน้อย ลูกเล็กแต่หวานเนื้อเนียน
พืชในโรงเรือน
มะเขือม่วงสีสวยซึ่งน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวอุยกูร์ทอผ้าทำลายคล้ายๆ
โรงเรือนเพาะปลูกพืชเป็นแนวยาวสุดลูกหูลูกตา

ดินและหินสภาพเพาะปลุกไม่ได้ต้องโรงเรือนเท่านั้น

โรงเรือนเหมือนบังเกอร์


ด่านชายแดนติดกับทาจิกิซสถาน
ึปลาย่างสุดแสนอร่อย


คาซการ์เมืองแห่งศิลปการร่ายรำและขับร้องจนวันท้ายๆยังได้สัมผัส

คณะนักร้อง นางรำ รอส่งก่อนโบกลาจากซินเจียง
กำลังโหลดความคิดเห็น