xs
xsm
sm
md
lg

Exclusive : New Silk Road เส้นทางสายไหมใหม่ฝันที่ใกล้จริงของจีน (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

1-2-3 การเรียนการสอนของโรงเรียนมัธยมเก่าแก่ในอูหลูมูฉี
เพื่อทำฝันความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในยุคใหม่บน “เส้นทางสายไหมโบราณ” ให้เป็นจริง รัฐบาลจีนจึงทุ่มเทหลายสิ่งหลายอย่างมายังเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (อ่านตอนที่ 1 : New Silk Road ฝันที่ใกล้เป็นจริงของจีน) ภายใต้นโยบาย “เส้นทางสายไหมใหม่” (New silk road)

ไม่เฉพาะแต่การลงทุน ด้านการศึกษา วัฒนธรรม และ การพัฒนาพื้นที่ เพื่อลดความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อยในมณฑลที่ใหญ่ที่สุดของพวกเขาแห่งนี้ก็มาพร้อมๆกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ซินเจียงอุยกูร์มีประชากรอยู่ราว 20 ล้านคนในปัจจุบัน มีชนกลุ่มน้อยกว่า 46 กลุ่ม กว่าครึ่งจากคือ ชาวอุยกูร์ ทั้งศาสนาที่นับถือ ภาษาพูด วัฒนธรรมล้วนแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับคนฮั่นจึงมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์-วัฒนธรรมมาช้านาน

ก่อนที่รัฐบาลจีนจะประกาศนโยบาย เส้นทางสายไหมใหม่ มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นหลายครั้ง บางครั้งมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จากท่าทีที่แข็งกร้าว พร้อมกับ นโยบายปราบปรามอย่างเข้มงวดเด็ดขาดของรัฐบาล

ทว่า หลังจาก 3 ปีที่สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

จากการศึกษาและเยี่ยมชมของ “ผู้จัดการ” พบว่า รัฐบาลจีนได้ให้น้ำหนักต่อการศึกษา และ การพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวอุยกูร์อย่างมาก โดยการเยี่ยมชมการเรียนการสอนของโรงเรียนมัธยมในอูหลู่มู่ฉี (Senior high school Urumqi) พบว่า เป็นโรงเรียนเก่าแก่อายุกว่า 70ปี ก่อตั้งเมื่อปี 1946 หรือ พ.ศ.2489ปัจจุบันเปิดสอนหลักสูตรสองภาษา เด็กนักเรียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของชาวอุยกูร์มีขีดความสามารถสูงมากในการศึกษาแขนงวิชาการเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งการประดิษฐ์หุ่นยนต์ เครื่องร่อน มัลติมิเดีย แอนนิเมชัน ทั้งที่อายุเพียง 13-15 ปีเท่านั้น จนได้รับรางวัลระดับประเทศสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นโรงเรียนมัธยมตัวอย่างมาตรฐานแห่งชาติ

ขณะเดียวกัน ในอูหลู่มู่ฉี มีวิทยาลัยอิสลาม (Xinjiang Islamic Institute in Urumqi )สถาบันการศึกษาของชาวมุสลิมก็ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้สามารถยกระดับเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านศาสนาอิสลามของประเทศ

ปกติแล้วการเรียนการสอนของชาวมุสลิมในจีนก็เหมือนทั่วๆ ไป จัดกันในมัสยิดโดยอิหม่ามเป็นผู้สอนซึ่งข้อมูลระบุว่ามีมากกว่า 35,000 แห่งในจีน ต่อมาจึงยกระดับเป็นสถาบันการศึกษา ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยขึ้น นักเรียนนอกจากจะได้รับการสอนภาษาอาหรับ ภาษาเปอร์เซีย คัมภีร์กุรอ่าน และ ความรู้ศาสนาอิสลาม ยังได้รับการสอนวิทยาการสมัยใหม่ไปด้วย

วิทยาลัยแห่งนี้ถือเป็น 1 ใน 9 สถาบันการศึกษาอิสลามที่ก่อตั้งมาพร้อมๆ กันในปี 1980 หรือ พ.ศ.2523 เช่นที่ ปักกิ่ง คุนหมิง เสิ่นหยาง และมณฑลเหอเป่ย

นอกจากศาสนา ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นก็เป็นอีกแขนงวิชาที่รัฐบาลจีนพยายามผลักดันให้ชาวอุยกูร์อนุรักษ์สืบทอดต่อไป ดัง วิทยาลัยนาฎศิลป์ซินเจียง ที่ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าแก่ สอนศิลปะการร่ายรำที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างช้านาน

วิทยาลัยแห่งนี้ผลิตบุคคลากรชั้นนำด้านนาฎศิลป์ประดับวงการ ผู้ที่ร่ำเรียนมีโอกาสขึ้นเวทีโชว์ความสามารถตามโอกาสต่างๆ ยิ่งใครที่ผ่านงานใหญ่ๆ อาทิ งานเฉลิมฉลองครบรอบสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน งานเลี้ยงฉลองตรุษจีนของกระทรวงวัฒนธรรมจีน โอกาสที่จะเป็นดาวจรัสแสงประดับวงการศิลปบันเทิงระดับประเทศก็ไม่ไกลเกินเอื้อม

กระทั่งเขตสุ่ยหมอโกว เขตที่เคยเป็นจุดปะทะกันระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลอย่างรุ่นแรงเมื่อหลายปีก่อน วันนี้ชุมชุนที่มีคนอาศัยอยู่กว่า 200,000 คนถูกพัฒนาพื้นที่ใหม่ ปรับภาพลักษณ์ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะหลากหลาย คนในชุมชนสามารถใช้เป็นสถานที่พบปะแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน สันทนาการต่างๆ ร่วมกัน

ที่เมืองคาชการ์ “ผู้จัดการ” ยังได้เยี่ยมชม คณะเต้นรำของชนกลุ่มน้อยอีกหลายแห่ง รวมถึงได้สัมผัสกับศิลปินชื่อดังของอุยกูร์ “ไหมไหม่ ถีหมิง” ซึ่งตระเวนเดินทางไปเปิดการแสดงยังประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ คล้ายกับเป็นทูตทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยในซินเจียงอุยกูร์

ศิลปวัฒนธรรมของชาวอุยกูร์ยังสามารถพบเห็นได้ในเมืองเก่าของคาชการ์ผ่านช่างฝีมือทั้งหลาย ทั้ง ช่างเหล็ก ช่างไม้ ช่างปั้น ช่างทำเครื่องดนตรี ที่ทำงานของตนอย่างขะมักเขม้นอยู่บนตรอกอาถู ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ทำไมที่นี่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรม

เมื่อจีนเดินหน้านโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ให้กลับมารุ่งเรืองเหมือนเมื่อครั้งอดีตนอกจากเศรษฐกิจการค้า การศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม เหล่านี้ก็จะเป็นหนึ่งในขบวนที่พร้อมจะแพร่ขยายไปตามเส้นทางสายไหมดังที่เคยเป็น

สำหรับกับสภาพความเป็นอยู่ของชาวอุยกูร์ในวันนี้ ท่ามกลางการพัฒนาไม่หยุดยั้งของอูหลู่มู่ฉี และคาชการ์ เมืองสำคัญของซินเจียงอุยกูร์ และ เส้นทางสายไหมไหม่ พวกเขาก็ได้รับการพัฒนาด้วยเช่นกัน

โรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งสองเมืองเปิดกว้างรับคนงานชนกลุ่มน้อยให้เข้าไปทำงาน ค้าจ้างแรงงานขั้นต่ำแม้จะถูกกว่าเขตเศรษฐกิจอย่างเซินเจิ้น หรือ เซี่ยงไฮ้ แต่ก็ไม่น้อยจนเกินไป สาวโรงงานทอผ้าได้รับค่าจ้างเดือนละ 900-1,200 หยวน (ราว 4,800-6,400 บาท)

นอกเมืองออกไปเราได้พบกับ เกษตรกรชาวอุยกูร์ที่เข้าร่วมกับนายทุนชาวฮั่น ปลูกพืชผักโดยมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยแก้ปัญหา ขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาการตลาดและช่องทางจัดจำหน่ายที่ส่งผลต่อรายได้ รัฐบาลได้ส่งเสริมธุรกิจวิสาหกิจขนาดย่อมเข้ามาดูแลช่วยเหลือชาวบ้าน

การเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างชาวบ้านและนายทุนช่วยให้ผลไม้แห้งที่เป็นสินค้าเลื่องชื่อของซินเจียง หรือ ผลิตผลการเกษตรอื่นๆ ที่เคยตกต่ำกลับมาอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น แนวทางนี้ว่าไปแล้วเหมือนกับนโยบายประชารัฐของรัฐบาลไทยที่เปิดบริษัทประชารัฐในจังหวัดต่างๆ นั่นเอง

ส่วนเขตที่อยู่อาศัยซึ่งเคยมีปัญหาขัดแย้งเนืองๆ วันนี้รัฐบาลจีนได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ สร้างบ้าน สร้างอาคารพาณิชย์เป็นโมเดลไว้ ทั้งจัดระเบียบแบบแผนของชุมชนใหม่ โดยรัฐบาลเป็นผู้จัดหาสาธาณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา แก๊สหุงต้มให้เบ็ดเสร็จ

เมื่อไม่กี่ที่ผ่านมา หากจำได้ รัฐบาลจีนได้สั่งให้รถแทร็กเตอร์ไถทำลายบ้านที่ตั้งอยู่พื้นที่ส่วนใหญ่ในย่านเมืองเก่าในคาชการ์ บ้านเรือนที่ก่อด้วยอิฐฉาบโคลนถูกทำลายไปถึงร้อยละ 85 ด้วยเหตุผลเพื่อความปลอดภัยจากแผ่นดินไหว วันนี้พื้นที่โล่งเตียนเหล่านี้กำลังถูกแทนที่ด้วยอาคารที่อยู่อาศัย อพาร์ทเมนท์สมัยใหม่สำหรับชาวอุยกูร์

จากนโยบาย “กำปั้นเหล็ก” ในอดีต มาถึงเศรษฐกิจการค้านำหน้า “เส้นทางสายไหมใหม่” รัฐบาลจีนถึงกับมีความมั่นใจว่า 3 ปีที่แล้วที่ผู้คนต่างคิดว่าการพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบายเส้นทางสายไหมไหม่เป็นเพียงความฝัน น้อยคนที่จะจินตนาการได้

วันนี้เชื่อว่า หลายๆ คนชอบที่จะใช้ชีวิตในอูหลู่มู่ฉี หรือ คาซการ์ เฝ้ามองการเติบโตของเมืองไปพร้อมกับฝันดังกล่าว

“New silk road New dream” สิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจใหม่ ฝันอันเรืองรองของซินเจียงอุยกูร์


4-5-6 การเรียนศิลปะร่ายรำในวิทยาลัยนาฎศิลป์ซินเจียง


7-8-9 สถาบันการศึกษาของมุสลิม


10-11-12 กิจกรรมเข้าจังหวะ ศิลปะ ในอาคารแหล่งเรียนรู้ในเขตเสิ่นหมอโถว


13-14-15 ช่างฝีมือแต่ละแขนงทำงานของตัวเองในเขตเมืองเก่าคาซการ์

7-8-9 สถาบันการศึกษาของมุสลิม
ช่างแกะลายเครื่องปั้นดินเผา
ช่างทำเครื่องดนตรีพื้นเมือง
ช่างไม้ทำงานข้างถนน
19.-20ศิลปินชื่อดังของชนกลุ่มน้อยในคาซการ์ ไหมไหมถีหนิง

บ้านดั่งเดิมของชาวอุยกูร์ก่อด้วยอิฐฉาบด้วยโคลนค่อยๆหายไป
เด็กๆในชุมชนที่รัฐบาลสร้างบ้านให้ใหม่
รัฐบาลพยายามสร้างงานให้ชนกลุ่มน้อย
25.-26-27 โครงการสร้างอาชีพให้ชาวอุยกูร์ด้วยการทำการเกษตรในฟาร์มปิด


27-28 เกษตรกรชาวอุยกูร์ทำงานในไร่และแปลงผักซึ่งจัดการโดยบริษัทของชาวฮั่น

กำลังโหลดความคิดเห็น