เอเจนซี--เมื่อ 30 ปีที่แล้ว กลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยรุ่นในประเทศจีน ทุกๆ 100 คน แทบจะไม่เห็นเด็กที่เป็นโรคอ้วนเลย แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนไปอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ในปี ค.ศ. 2014 อัตราเด็กอ้วน ได้แก่ เด็กชายราว 6 คน จะมีตี๋อ้วน 1 คน และเด็กหญิง 11 คน จะมีหมวยอ้วน 1 คน ปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลงนี้ มาจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตการกินอยู่ มาเป็นแบบตะวันตก
จากการวิจัยประมาณว่า แดนมังกรจะมีคนอ้วนถึง 62 ล้านคน ทำให้ผู้กำหนดนโยบายกุมขมับ คิดหาวิธีรีดไขมันเด็กอ้วน เนื่องจากโรคอ้วนจะก่อปัญหาโรคภัยไข้เจ็บอีกบาน ทั้งโรคหัวใจ โรคเบาหวาน ฯลฯ รัฐบาลก็จะต้องสูญงบประมาณมหาศาลในการเยียวยาสุขภาพประชาชนในอนาคต
การวิจัยเด็กอ้วนในจีนฉบับใหม่ล่าสุดนี้ ใช้เวลารวบรวมข้อมูล 29 ปี ทำการสำรวจเด็กนักเรียนในเขตชนบทมณฑลซันตง เกือบ 28,000 คน ผลการวิจัยเพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ในวารสารว่าด้วยการป้องกันโรคเกี่ยวกับหัวใจแห่งยุโรป (European Journal of Preventive Cardiology)
“จีนกำลังกลายเป็นสังคมคนโรคอ้วนที่เลวร้ายมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การศึกษาฉบับนี้ ได้ทำการสำรวจในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ ดังนั้น จึงไม่อาจมองข้ามปัญหานี้ได้ จีนกำลังเผชิญการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคหัวใจ โรคเบาหวาน วิถีตะวันตกที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่นี้ กำลังทำลายชีวิตชาวจีน” ศาสตราจารย์ Joep Perk โฆษกประจำศูนย์ป้องกันโรคเกี่ยวกับหัวใจของสมาคมยุโรป กล่าว
ขณะที่ ดร. จาง อิ้งซิ่ว หัวหน้าทีมตรวจสอบของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค สถาบันการแพทย์เพื่อการป้องกัน มหาวิทยาลัยซันตง กล่าวว่า “จีนเป็นชาติเกษตรกรรมขนาดใหญ่ และการค้นพบนี้ก็ส่งผลไปทั่วประเทศ อัตราโรคอ้วนและน้ำหนักมากเกินที่พุ่งทะยานสูงขึ้นๆนี้ ปรากฏขึ้นในขณะที่รายได้ครัวเรือนในเขตชนบทสูงขึ้น และคาดว่าแนวโน้มนี้จะดำรงอยู่ต่อไปในช่วงหลายสิบปีข้างหน้านี้ ทั้งในมณฑลซันตงและเขตอื่นๆของประเทศจีน”
ข้อมูลการศึกษาฉบับนี้มาจากการสำรวจระดับชาติ 6 ฉบับ โดยสำนักงานการศึกษามณฑลซันตงได้ดำเนินการสำรวจเด็กนักเรียนอายุ 7-18 ปี ระหว่างปี 1985 และ 2014 จำนวนทั้งสิ้น 27,840 คน โดยวัดส่วนสูงและน้ำหนักของร่างกาย
การศึกษาพบเด็กน้ำหนักมากและโรคอ้วนเกินในกลุ่มเด็กชาย เพิ่มจากอัตรา 0.74 เปอร์เซ็นต์ และ 0.03 เปอร์เซ็นต์ในปี 1985 ขึ้นมาเป็น 16.4 เปอร์เซ็นต์ และ 17.2 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2014 ส่วนกลุ่มเด็กหญิง มีอัตราเพิ่มจาก 1.5 เปอร์เซ็นต์ และ 0.12 เปอร์เซนต์ ในปี 1985 พุ่งกระฉูดขึ้น 13.9 เปอร์เซนต์ และ 9.1 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2014 ตามลำดับ
สถานการณ์เด็กโรคอ้วน มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในจีน จากการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ในวารสารออนไลน์ journalObesity ระบุว่า ในสหรัฐอเมริกา โรคอ้วนและน้ำหนักมากเกิน ก็ระบาดหนักในกลุ่มเด็กๆอายุ 2 ขวบ ไปถึง 19 ปี โดยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 1999 จนแตะระดับ 33.4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2014
สำหรับในฮ่องกง จากข้อมูลสถิติศูนย์ป้องกันสุขภาพระบุ อัตราโรคอ้วนและน้ำหนักมากเกินในเด็กนักเรียน ยังอยู่ระดับที่ต่ำกว่า โดยกลุ่มเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา มีอัตราน้ำหนักมากเกินและโรคอ้วนรวมกัน เพิ่มขึ้นจาก 16.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 1995/96 ขยับขึ้นเป็น 22.2 เปอร์เซนต์ ในปี 2008/09 และได้ลดลงมาที่ 20 เปอร์เซ็นต์ในปี 2013/14
“ผู้กำหนดนโยบายจีนจะต้องเข็นมาตรการลดความอ้วนเด็กๆในเขตชนบท โดยให้การศึกษาเกี่ยวกับการกินที่ดี และการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย ติดตามน้ำหนักพวกเด็กๆ”
“การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้น้ำหนักเด็กเพิ่มขึ้นนัก แต่เด็กๆมักนั่งหน้าคอมพิวเตอร์และกินเครื่องดื่มอย่างน้ำอัดลม 2 ลิตร การเผาผลาญแคลอรี่เหล่านี้ พวกเขาจะต้องเดิน 46 กิโลเมตร แต่ก็ไม่ทำ” Joep Perk โฆษกประจำศูนย์ป้องกันโรคเกี่ยวกับหัวใจของสมาคมยุโรป กล่าว
การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วในจีนช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ มีการเปลี่ยนแปลงด้านอาหารการกินไปด้วย ปัจจุบันชาวจีนกินมากขึ้น และทำกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวกันน้อยลงกว่าในอดีต การกินแบบประเพณีจีนเปลี่ยนไปเป็นการกินอาหารที่ไขมันและแคลอรี่สูง ขณะที่กินอาหารที่ให้ไฟเบอร์ต่ำ” ดร.จางกล่าว