xs
xsm
sm
md
lg

พิพิธภัณฑ์วังต้องห้ามกรุงปักกิ่งโกยยอดขายของที่ระลึกถล่มทลายทะลุหลักพันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ตุ๊กตาฮ่องเต้ซึ่งออกแบบโดยพิพิธภัณฑ์พระราชวังออกเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์พระราชวังในนครเสิ่นหยัง เมืองเอกของมณฑลเหลียวหนิงทางจีนตะวันออกเฉียงเหนือ (12 ธ.ค. 2558/ ภาพ ไชน่า เดลี) โดยตุ๊กตาทั้งสองถูกบันทึกภาพ “การท่องเที่ยว” พื้นที่ต่างๆ เฉกเช่นที่จักรพรรดิจีนเคยเสด็จเยือนนครเสิ่นหยังในยุคราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911)
เอเจนซี - พิพิธภัณฑ์พระราชวัง (Palace Museum) ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระราชวังต้องห้าม ใจกลางกรุงปักกิ่ง เผยตัวเลขรายได้จากการจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกพุ่งทะลุหลัก 1,000 ล้านหยวน ในปี พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา

สื่อทางการจีนอ้างอิงข้อมูลจากนายซัน จี้เสียง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งเดินทางเยือนเกาะฮ่องกงเมื่อกลางสัปดาห์ก่อน ระบุว่าพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ศึกษาและพัฒนาสินค้าของที่ระลึก ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเป็นจำนวนถึง 6,754 ประเภท

“เวลาจะออกแบบและผลิตสินค้าออกมา เราย่อมจำเป็นต้องรู้ว่าประชาชนต้องการอะไรก่อน ซึ่งพิพิธภัณฑ์สามารถทราบจุดนี้ได้จากแหล่งข้อมูลที่เก็บสะสมมา”

ในปี พ.ศ.2551 พิพิธภัณฑ์ฯ ได้เปิดร้านค้าออนไลน์บนเว็บไซต์เถาเป่า (taobao.com) แต่ยอดขายก็ยังไม่กระเตื่องขึ้นจนกระทั่งปี พ.ศ.2556 พิพิธภัณฑ์ฯ เริ่มนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ควบคู่ไปกับสินค้าบนแอพพลิเคชั่นวีแชท (WeChat) ทำให้สาธารณะชนหันมาสนใจสินค้าชนิดต่างๆ มากขึ้น

ตัวอย่างสินค้าที่กลายเป็นของขึ้นหิ้งขายดิบขายดี อาทิ ตุ๊กตาฮ่องเต้ขนาดเล็กและหูฟังเลียนแบบสร้อยไข่มุก ซึ่งประชาชนเห็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงสวมใส่ใช้งาน โดยผู้อำนวยการซันเผยว่า “สื่อใหม่” (new media) กลายเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าใกล้ชีวิตประจำวันของผู้คนยุคปัจจุบัน

“ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ในอดีตมักเป็นของจำลองศิลปะวัตถุที่ดูเชยและล้าสมัย แต่ตอนนี้เราสามารถสร้างสินค้าแบบใหม่ ที่บ่งบอกรสนิยมที่ดีและมีความน่าสนใจในเวลาเดียวกันได้”
 ร่มกันแดดที่ทำลวดลายเลียนแบบหมวกขุนนางจีนโบราณในยุคราชวงศ์ชิง (ภาพ ไชน่า เดลี)
สื่อท้องถิ่นฮ่องกงรายงานว่า ขณะนายซันเยือนเกาะฮ่องกงนั้น เขาได้รับการบริจาคเงินกว่า 80 ล้านหยวน หรือมากกว่าสี่ร้อยล้านบาท เพื่อเติมเต็มงบประมาณที่ขาดหายของโครงการบูรณะพระตำหนักหยั่งซินเตี้ยน อันเป็นที่ประทับของจักรพรรดิจีน 8 พระองค์

โครงการฯ ซึ่งมีกำหนดเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2563 จะต้องใช้เงินงบประมาณทั้งหมด 220 ล้านหยวน หรือมากกว่า 1,100 ล้านบาท โดยพิพิธภัณฑ์ฯ ได้รับเงินบริจาคจากบรรดามหาเศรษฐีชาวจีนเป็นจำนวนกว่า 140 ล้านหยวนแล้ว

“แต่ไม่ว่าพิพิธภัณฑ์จะเดินหน้าพัฒนาไปอย่างไร มันจะยังคงสถานะสถานที่มอบความรู้อันเป็นประโยชน์มากกว่ามุ่งหวังกำไรทางการค้า” ซันกล่าวเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา
 พัดขนาดพกพาที่พิมพ์ตัวอักษรจีนจากพระราชหัตถเลขาของจักรพรรดิหย่งเจิ้งแห่งราชวงศ์ชิง โดยมีความหมายว่า “นั่นคือความเป็นบุรุษของข้าพเจ้า” (ภาพ ไชน่า เดลี)
ทั้งนี้ พระราชวังต้องห้ามหรือ “นครต้องห้าม” (Forbidden City) จัดเป็นอาณาจักรพระราชวังที่มีความยิ่งใหญ่มากที่สุดในโลก โดยเป็นที่ประทับของจักรพรรดิและเชื้อพระวงศ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.1963 จนกระทั่งจีนสิ้นสุดยุคราชาธิปไตยในช่วงต้นปี พ.ศ.2455
 “จวงจวง” (ซ้าย) และ “เหมยเหม่ย” มาสคอต์สของพิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้าม ถูกนำมาจัดแสดงภายในงานนิทรรศการพิพิธภัณฑ์และผลิตภัณฑ์-เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ในเมืองซย่าเหมิน มณฑลฝูเจี้ยนทางจีนตะวันออก (23 พ.ย. 2557/ ภาพ ไชน่า เดลี)
 ลวดลายบนเสื้อยืดที่ระลึกซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่ปรากฏบนเสื้อคลุมยาวของจักรพรรดิจีนโบราณ (ภาพ ไชน่า เดลี)
 หูฟังเลียนแบบสร้อยลูกปัด ราคา 120 หยวน หรือราว 600 บาท ที่วางจำหน่ายผ่านร้านค้าออนไลน์ของพิพิธภัณฑ์ฯ บนเว็บไซต์เถาเป่า (22 ต.ค. 2557/ ภาพ ไชน่า เดลี)

กำลังโหลดความคิดเห็น