xs
xsm
sm
md
lg

แอร์บัสผุดศูนย์ผลิตเครื่องบินฯ แห่งแรกในจีน รุกชิงส่วนแบ่งคืนจากคู่แข่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 นายฟาบริซ เบรชิเยร์ ซีอีโอแอร์บัส (คนที่สองจากขวา) ดันคันโยกพร้อมกับคณะเจ้าหน้าที่จีน ภายในพิธีเปิดการก่อสร้างศูนย์ประกอบขั้นสุดท้ายและจัดส่งเครื่องบินแอร์บัส รุ่น A330 ในนครเทียนจิน วันที่ 2 มี.ค. 2559 (ภาพ รอยเตอร์ส)
เอเอฟพี - วันนี้ (2 มี.ค.) “แอร์บัส” ผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารรายใหญ่ที่สุดในยุโรป เคาะระฆังเริ่มงานก่อสร้างโรงงานประกอบเครื่องบินลำตัวกว้าง (wide-body aircraft) แห่งใหม่บนแดนมังกร เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งอย่างโบอิ้ง

นายฟาบริซ เบรชิเยร์ ซีอีโอแอร์บัส (Airbus) และคณะเจ้าหน้าที่จีน ได้ร่วมกันฉลองพิธีเปิดการก่อสร้างศูนย์ประกอบขั้นสุดท้ายและจัดส่งเครื่องบิน มูลค่า 150 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะผลิตเครื่องบินรุ่น A330 จำนวน 2 ลำต่อเดือน ในมหานครเทียนจิน ใกล้กับกรุงปักกิ่งทางจีนตอนเหนือ

ศูนย์ฯ ดังกล่าวเป็นการขยับขยายจากศูนย์ประกอบฯ เครื่องบินทางเดินเดียว (single-aisle aircraft) รุ่น A320 ที่สร้างไว้ก่อนหน้านี้ และถือเป็นโรงงานแห่งแรก ที่แอร์บัสใช้ผลิตเครื่องบินลำตัวกว้างนอกยุโรป โดยมันจะนำเครื่องบินที่ยังไม่ได้ตกแต่งสีจากสำนักงานใหญ่ในเมืองตูลูซ ประเทศฝรั่งเศส มาเพิ่มห้องโดยสาร เฟอร์นิเจอร์ และสีสัน ก่อนส่งมอบแก่ลูกค้า

แม้การเปิดศูนย์ฯ ใหม่ป้ายแดงของแอร์บัส จะเกิดขึ้นพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัวหนักสุดในรอบ 25 ปี ซึ่งส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วตลาดโลก แต่ซีอีโอเบรซิเยร์ก็เชื่อมั่นว่า ตลาดการบินของจีนจะยังเติบโตต่อไป ด้วยพลังขับเคลื่อนจากชนชั้นกลางที่มีรายได้สูงขึ้น และการผ่อนปรนกฎระเบียบการขอวีซ่า

ปัจจุบันจีนจัดเป็นผู้ซื้อเครื่องบินที่กระเป๋าหนักที่สุดในเอเชีย ท่ามกลางการขยายตัวของชาวจีนที่เดินทางด้วยเครื่องบินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดการณ์ว่าจีนจะมีผู้โดยสารบนฟากฟ้า 1,700 ล้านคนในปี 2577 และจะเป็นจ้าวตลาดการบินพลเรือนโลกภายในสองทศวรรษข้างหน้า

ด้านผู้ผลิตคู่แข่งสัญชาติอเมริกันอย่าง “โบอิ้ง” (Boeing) ก็ไม่ได้นิ่งเฉย ประกาศแผนการเปิดศูนย์ฯ แบบเดียวกันในจีนเมื่อปีก่อน พร้อมกับขายเครื่องบินอีก 300 ลำ มูลค่า 38,000 ล้านดอลลาร์ ระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เยือนสหรัฐฯในปี 2558
ผู้ร่วมงานพิธีเปิดฯ ชมเครื่องบินจำลอง รุ่น A330 ของแอร์บัส (ภาพ รอยเตอร์ส)
ทั้งนี้ ยักษ์ใหญ่ทั้งสองแห่งวงการผลิตเครื่องบินต่างแข่งขันกันอย่างดุเดือด เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในจีน ซึ่งฝั่งแอร์บัสยอมรับว่าได้สูญเสียส่วนแบ่งจากร้อยละ 27 ในปี 2547 ไปเป็นเกือบร้อยละ 50 ในเวลานี้

จีนถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของแอร์บัส กินสัดส่วนเกือบร้อยละ 25 ของเครื่องบินที่ถูกส่งมอบแก่ลูกค้าทั่วโลกในปีที่ผ่านมา โดยไม่กี่วันก่อนพิธีเปิดการก่อสร้างศูนย์ฯ สายการบินแอร์ ไชน่า ก็แถลงการสั่งซื้อเครื่องบินลำตัวกว้างจากแอร์บัส จำนวน 12 ลำ มูลค่า 2,900 ล้านดอลลาร์

การลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ในจีนจึงไม่เพียงเป็นทางเดียวที่จะเพิ่มการผลิต แต่ยังเป็นช่องทางคว้าใบอนุมัติจากปักกิ่ง ที่ควบคุมอุตสาหกรรมการบินอย่างเข้มงวด เนื่องจากผู้นำจีนยกให้อุตสาหกรรมฯ เป็นพันธกิจเชิงยุทธศาสตร์ ที่สำคัญต่อการยกระดับเศรษฐกิจสู่ระนาบเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว

“ความร่วมมือทางอุตสาหกรรมนั้นเป็นไปตามจุดประสงค์ของเราที่จะเสริมยอดขายในจีน” แอนเดรียส์ อ็อกเกล ผู้จัดการทั่วไปของศูนย์ประกอบฯ นครเทียนจินกล่าว “มันก็เป็นการยื่นหมูยื่นแมวนั่นแหละ”

โรงงานประกอบเครื่องบินแอร์บัส รุ่น A320 เป็นการลงทุนร่วมกันโดยบริษัทจีนถือหุ้นร้อยละ 49 ส่วนบริษัทยุโรปก็ดำเนินงานร่วมกับหุ้นส่วนทั่วประเทศจีน ซึ่งช่วยผลิตประตู ปีกเครื่อง และส่วนอื่นๆ ของเครื่องบิน

“ยอดขายในจีนไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แต่ในมิติการค้าเท่านั้น” อีริค เฉิน ประธานแอร์บัสในจีนกล่าว “คุณต้องบุกเบิกความร่วมมือทางอุตสาหกรรม เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นด้วย”

อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลจีนจะกระตุ้นความเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทต่างชาติ แต่อีกทางหนึ่งก็ซุ่มลงทุนเต็มพิกัดกับการสร้างแบรนด์ของตัวเอง ตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตเครื่องบินพาณิชย์ของจีน (COMAC) ที่สามารถผลิตเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ รุ่น C919 ออกมาอวดโฉมชาวโลกเมื่อไม่นานนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น