เอชเอสบีซี - นับเป็นเวลานานแล้ว ที่เงินหยวนสามารถใช้ได้แต่เพียงในประเทศจีน แต่ปัจจุบัน สถานะของเงินหยวน ก้าวขึ้นมามีบทบาทในการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนและกระทั่งเป็นเงินทุนสำรองเงินตรามากขึ้น
เอชเอสบีซี รายงาน (9 ก.พ.) ว่า ปี 2016 นี้ จะเป็นก้าวย่างสำคัญในการเดินทางของเงินหยวนสู่โลกกว้าง เงินหยวนได้รับความเชื่อมั่นและการยอมรับมากขึ้น ทั้งในการค้าการลงทุนและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยสำหรับการค้านั้น เงินหยวนก้าวขึ้นมาเป็นเงินสกุลแลกเปลี่ยนในการชำระ อันดับที่ 5 จากข้อมูลเมื่อเดือนตุลาคม 2015 รองลงมาจากเงินสกุลดอลลาร์ ที่มีสัดส่วนร้อยละ 42.38 เงินยูโรร้อยละ 29.8 เงินปอนด์ร้อยละ 9.05 เงินเยนร้อยละ 3.00 ขณะที่สัดส่วนเงินหยวนอยู่ที่ร้อยละ 1.92
ด้านการลงทุนทั้งในและนอกประเทศจีนเงินสกุลหยวนนั้น สถาบันการเงินต่างประเทศ สามารถตั้งกองทุน ลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งในออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอังกฤษ ในปี 2015
ในความเป็นเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ได้กล่าวเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ว่าจะรวมเงินหยวนเข้าไปในตะกร้าเงินสำรองการแลกเปลี่ยนฯ ของไอเอ็มเอฟ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เงินหยวนได้มีความสำคัญมากขึ้น ข้อมูลในเดือนตุลาคม ระบุว่าไอเอ็มเอฟ จะนำเงินหยวนเข้าไปอยู่ร่วมในตะกร้าเงินฯ โดยมีสัดส่วนตามลำดับคือ อันดับหนึ่ง เงินดอลล่าร์สหรัฐร้อยละ 41.73 อันดับสอง เงินยูโร ร้อยละ 30.93 อันดับสามเงินหยวน ร้อยละ 10.92 อันดับสี่เงินเยน ร้อยละ 8.33 และอันดับห้า เงินปอนด์ ร้อยละ 8.09 ทั้งนี้ย้ำชัดว่าบทบาทเงินหยวนในเศรษฐกิจโลกของจีนกำลังเพิ่มขึ้น