xs
xsm
sm
md
lg

ชมภาพน่าปิติ... ช่วยคนงานที่ถูกฝังทั้งเป็น 36 วัน รอดชีวิตจากหลุมมรณะในเหตุเหมืองถล่ม!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยกำลังดึงร่างของคนงานเหมืองที่ติดอยู่ในซากเหมืองถล่ม ขึ้นมา เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา (ภาพ รอยเตอร์ส)
MGR OLINE--ณ มุมหนึ่งของโลก มีผู้เผชิญหน้าระหว่างชีวิตและความตายในทุกขณะจิตตลอด 36 วันที่ผ่านมา...รอคอยมือที่จะยื่นลงมาช่วยดึงชีวิตขึ้นจากหลุมมรณะท่ามกลางความมืดความเงียบงัน ที่ดูเหมือนว่า...ยมทูตก็รอที่จะมารับวิญญาณพวกเขาอยู่เช่นกัน

นี่คือนาทีชีวิตและความตายของกลุ่มคนงานที่ติดอยู่ในซากหักพังของเหมืองยิปซัมในอำเภอผิงอี๋ ซึ่งถล่มพังพร้อมกับได้ฝังคนงานที่กำลังปฏิบัติงานอยู่เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2558

ในที่สุด เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา หน่วยกู้ภัยที่ยังติดตามสืบหากลุ่มคนงานเหมืองที่ถูกฝังทั้งเป็นภายในซากเหมืองก็พบผู้รอดชีวิตและช่วยกันพาร่างของคนงานเหมือง 4 คน ขึ้นมาได้

เมื่อวานนี้(30 ม.ค.) สื่อจีนเผยนาทีระทึกที่น่าปิติว่า หะแรก เจ้าหน้าที่ช่วยดึงร่างของคนงานเหมืองสองคนขึ้นมาจากซากเหมืองใต้ดิน และติดตามร่องรอยของคนอื่นๆจนพบคนงานอีกสองคน

ทั้งนี้ เหมืองยิปซัมในอำเภอผิงอี๋ มณฑลซันตง ได้ถล่มพังลงมาในวันคริสต์มาส 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา คร่าชีวิตคนงานไป 1 คน และกลุ่มคนงานสูญหายไป 13 คน วันต่อมาหน่วยกู้ภัยก็ได้ติดตามและพบผู้รอดชีวิต 4 คน ที่ติดอยู่ในซากเหมืองใต้ดินที่ลึกลงไป 200 เมตร จากพื้นดิน

หลังเกิดเหตุฯสองวัน นาย หม่า ฉงโป เจ้าของบริษัทอี้ว์หรง คอมเมอเชียล ที่ทำเหมืองแร่ยิปซั่มแห่งนี้ ได้เข้าร่วมกับหน่วยกู้ภัยพยายามช่วยติดตามผู้รอดชีวิตในซากเหมืองถล่ม แต่ในที่สุดก็กลับคิดสั้น กระโดดบ่อน้ำฆ่าตัวตายที่เหมืองนั้นเอง

ทั้งนี้ จีนติดอันดับประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติภัยเหมืองมากที่สุดของโลก โดยสถิติเมื่อปี 2545 ระบุยอดคนงานที่เสียชีวิตเกือบ 7,000 ราย ทำให้ทางการจีนเร่งปรับปรุงกฎข้อบังคับด้านความปลอดภัยให้เข้มงวดยิ่งขึ้น จนกระทั่งปีก่อนตัวเลขดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ 931 ราย

“หลายวีรบุรุษ” ผู้สร้างความสำเร็จอันน่าอัศจรรย์
รายงานข่าวสื่อจีน ไชน่า เดลี่ เผยในปฏิบัติการช่วยเหลือที่น่าอัศจรรย์ครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยกู้ภัย 7 หน่วย กว่า 30 ชีวิต มาร่วมด้วยช่วยกัน ทุกคนล้วนยืนหยัดทรหดในการกู้ภัยช่วยเหลือชีวิตท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเหน็บเจ็บกระดูกกว่า 30 วัน ต้องกินนอนในรถในเต็นท์บริเวณที่เกิดเหตุฯเป็นเดือนๆ นอนกันเพียงวันละ 2 ชั่วโมง

หลิว ฉังหย่ง ผู้อำนวยการโครงการสำนักงานทรัพยากรเหมืองแร่และธรณีวิทยาแห่งซันตง เล่าว่าบางทีเขาต้องทำงานตลอด 2 วัน ไม่ได้พักหลับนอน ขณะที่กำลังดูแลการปฏิบัติงาน

“เมื่ออุโมงค์ที่หย่อนลงไป ส่อเค้าจะผ่านเข้าไปได้แล้ว พวกเราก็ตื่นเต้นดีใจกันมาก ผู้เชี่ยวชาญหลายคนดีใจจนน้ำตาไหล”

เมิ่ง ฉินจวิน วัย 43 ปี ตาแดงมาหลายวัน ในคืนหนึ่งเขาถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาถึง 7 ครั้ง เพื่อตรวจสอบดูขั้นตอนต่างๆ เขาและเพื่อนร่วมงานไม่ได้เปลี่ยนเสื้อผ้านานถึง 2 สัปดาห์ “พวกเราต้องทำงานแข่งกับเวลา และต่อสู้กับสภาพแวดล้อมที่โหดมาก หลายคนถึงกับล้มป่วย”

เจียง เจี้ยนตง วัย 32 ปี คอยเชื่อมท่อโลหะอยู่ทั้งวันทั้งคืน เขาเชื่อมต่อท่อถึง 19 อันในวันพฤหัสฯ(28 ม.ค.)

ระหว่างปฏิบัติการช่วยชีวิตครั้งนี้ ได้รับความช่วยเหลือทั้งจากแนวหน้าและจากครอบครัวคนงานที่ติดอยู่ใต้ดิน ครอบครัวคนงานก็คอยส่งเสื้อผ้า ยาให้เจ้าหน้าที่กู้ภัย

ก่วน เจิ้งเฟิง วัย 68 ปี อดีตหัวหน้าหมู่บ้านกวนจวง คอยส่งน้ำร้อนให้เจ้าหน้าที่กู้ภัย เขาต้มน้ำร้อน 200 กา ทุกๆวันเป็นเวลา 30 วัน ทั้งนี้ คนงาน 5 คนที่ติดอยู่ใต้ดิน เป็นคนจากหมู่บ้านกวนจวง

นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับคำชมเชยมากอีกคนคือ ผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมนี นาย รูปดี้ วูลฟ์ (Rudi Wolf)วัย 55 ปี คอยเป็นที่ปรึกษาให้แก่ทีมกู้ภัยในที่เกิดเหตุเหมืองยิปซั่มถล่ม

“มันเป็นงานที่ยากที่สุดในชีวิตของผม” วูลฟ์ เล่า

วูลฟ์เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการขุดเจาะ มีประสบการณ์มา 35 ปี เคยช่วยปฏิบัติการกู้ภัยช่วยชีวิตที่คล้ายกันนี้ ในประเทศต่างๆ ทั้งเยอรมนี และชิลี

“เหตุที่ทำให้ปฏิบัติการครั้งนี้ใช้เวลานานมาก ก็คือสภาพแวดล้อมที่โหดมากๆของที่นี่”

วูลฟ์ทำงานวันละ ราว 15 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน ในช่วง 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในตอนแรกที่มาถึงที่เกิดเหตุ เขาทำงานต่อเนื่องถึง 38 ชั่วโมง

“ตอนปีใหม่ ผมก็กินนอนผลักเวรยามอยู่ที่นี่” วูลฟ์ เล่า

กลุ่มสื่อทั่วโลกได้เผยแพร่ภาพการช่วยเหลือชีวิตของคนงานจากหุบเหวเหมืองถล่มเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา (ภาพ รอยเตอร์ส/เอเอฟพี/เอพี)

เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยกำลังช่วยพยุงร่างของคนงานเหมืองที่ติดอยู่ในซากเหมืองถล่ม ขึ้นมา เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา(ภาพ รอยเตอร์ส)
ในวันศุกร์ 29 ม.ค. หน่วยกู้ภัยสามารถติดตามและช่วยชีวิตคนงานที่ติดอยู่ในซากเหมืองถล่มตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.ปีที่แล้ว ขึ้นมาได้อีก 4 คน (ภาพ รอยเตอร์ส)
เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยกำลังช่วยพยุงร่างของคนงานเหมืองที่ติดอยู่ในซากเหมืองถล่ม ขึ้นมา เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา(ภาพ รอยเตอร์ส)
คนงานได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาจากหลุมใต้ดินจากเหตุเหมืองถล่มฯ (ภาพ เอเอฟพี)

กำลังโหลดความคิดเห็น