xs
xsm
sm
md
lg

ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่คือเดิมพันครั้งใหญ่ของประชาธิปไตยและอนาคตไต้หวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางไช่ อิงเหวิน หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ตัวเต็งของสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ยกมือทักทายผู้สนับสนุน ขณะเสร็จสิ้นการหาเสียงในเมืองไถจงทางตอนกลางของเกาะไต้หวัน วันที่ 12 ม.ค. 2559 (ภาพ รอยเตอร์ส)
เอเจนซี - อีกเพียงไม่กี่วันนับจากนี้ ประชาชนชาวไต้หวันจะได้เวลาออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งคาดการณ์กันว่านางไช่ อิงเหวิน ผู้สมัครหญิงจากพรรคฝ่ายค้าน จะกุมชัยชนะด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น สร้างบันทึกบทใหม่แก่ประชาธิปไตยของไต้หวัน

ผลสำรวจความคิดเห็นต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดี ครั้งที่ 6 ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ (16 ม.ค.) เผยว่าผู้มีสิทธิ์ส่วนใหญ่ รู้สึกเหนื่อยหน่ายกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา และผลการทำงานตลอดแปดปีของรัฐบาลชุดปัจจุบันอย่างพรรคก๊กมินตั๋ง จึงหันเหไปสนใจตัวเลือกใหม่จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) มากกว่า

นักสังเกตการณ์เชื่อว่า นางไช่ อิงเหวิน หัวหน้าพรรคดีพีพี ซึ่งกำลังจรัสแสงบดบังรัศมีของนายอีริค ชู ผู้สมัครจากพรรคก๊กมินตั๋ง จะเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ไต้หวัน และนำพาพรรคดีพีพี ที่เคยครองอำนาจบริหารระหว่างปี พ.ศ.2543-2551 กลับมาทวงคืนบัลลังก์จากคู่แข่งเก่าได้เป็นครั้งที่สอง

สิ่งเหล่านี้จะช่วยเน้นย้ำว่า การเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองของไต้หวันเป็นไปอย่างปกติ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่ระบอบประชาธิปไตยของไต้หวัน รวมถึงอาจสร้างปฏิกิริยาสะท้อนไกลถึงเกาะฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยการเป็นแรงบันดาลใจแก่ประชาชนจีน ผู้ปรารถนาจะมีประชาธิปไตยเป็นของตนเอง

ชัยชนะของไช่จะยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบจีน-ไต้หวัน ที่พัฒนาขึ้นมากตั้งแต่นายหม่า อิงจิ๋ว จากพรรคก๊กมินตั๋ง ก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของไต้หวันในปี พ.ศ.2551 โดยหม่าเพิ่งจะพบปะกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่ประเทศสิงคโปร์ ในเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา

การหารือครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างหม่าและสีนั้น ถือเป็นก้าวสำคัญของความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบฯ นับแต่สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2492 และยังเป็นความหวังของปักกิ่ง ที่จะสานต่อ “ฉันทามติ 1992” (1992 consensus) ซึ่งสนับสนุนความร่วมมือและการพัฒนาสายสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย

ไต้หวันภายใต้การบริหารของหม่าและพรรคก๊กมินตั๋ง มีมุมมองต่อฉันทามติฯ ว่าเป็นความเข้าใจด้วยวาจา ระบุว่าทั้งสองฟากฝั่งต่างรับรอง “หลักการจีนเดียว” แต่สามารถตีความหมายของคำว่า “จีน” ในแบบฉบับของตัวเอง
นายอีริค ชู ตัวแทนผู้สมัครฯ จากพรรคก๊กมินตั๋ง ขณะหาเสียงอยู่ในกรุงนิว ไทเป ซิตี้ วันที่ 11 ม.ค. 2559 (ภาพ เอเอฟพี)
อย่างไรก็ดี ขณะที่ปักกิ่งให้ความสำคัญกับหลักการจีนเดียว และนายอีริค ชู สนใจการตีความของแต่ละฝ่าย นางไช่ อิงเหวิน และพรรคดีพีพี กลับปฏิเสธฉันทามติ โดยเธอกล่าวบนเวทีโต้วาทีระหว่างผู้สมัครลงรับเลือกตั้งฯ ที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์เมื่อไม่นานนี้ว่า มันเป็นเพียง “ตัวเลือก” มิใช่ชาวไต้หวันทุกคนที่เห็นด้วย

นางไช่บอกว่า เธอจะยังคงรักษาสถานภาพปัจจุบันของความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบฯ แต่ไม่ได้เสนอแผนชัดเจนว่าจะทำอย่างไรโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับฉันทามติดังกล่าว ซึ่งปักกิ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะต่อรองกันได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะหากนางไช่คือผู้ชนะ

เป็นที่คาดการณ์กันว่า บรรดาผู้นำในปักกิ่งจะยังสงวนท่าทีและจับตาดูต่อไป หากนางไช่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี แต่คงไม่อดทนอดกลั้นกับความเคลื่อนไหวใดๆ มากนักที่คิดจะแบ่งแยกไต้หวันออกจากจีนแผ่นดินใหญ่อย่างสิ้นเชิง

นอกจากนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ยังจะส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างปักกิ่ง ไต้หวัน และขาใหญ่จากอีกซีกโลกอย่างสหรัฐอเมริกาด้วย โดยคาดว่านางไช่จะอนุญาตการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ ซึ่งถูกแบนเพราะมีการใช้สารเร่งเนื้อแดง เพื่อเป็นช่องทางถ่วงดุลอำนาจ ท่ามกลางความตึงเครียดกับปักกิ่งที่อาจเพิ่มสูงขึ้น

นักวิเคราะห์มองว่า ปักกิ่งอาจตอบโต้ไต้หวันด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเป้าไปยังภาคการท่องเที่ยวและการขนส่งทางอากาศ แต่พรรคดีพีพีก็อาจงัดข้อกลับด้วยการเดินหน้าความร่วมมือกับญี่ปุ่น ซึ่งจะกลายเป็นชนวนที่ยิ่งยั่วยุความตึงเครียดในภูมิภาค

ด้านกิจการทางการเมืองภายในของไต้หวัน การเลือกตั้งผู้นำสูงสุดจะเกิดขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งรัฐสภา และคาดว่าพรรคดีพีพีจะขุดรากถอนโคนอิทธิพลของพรรคก๊กมินตั๋งจนสิ้นซาก ซึ่งส่อเค้าลางตั้งแต่การเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อสองปีก่อน ที่คะแนนเสียงในพื้นที่ทางตอนเหนือของพรรคก๊กมินตั๋งหดหายไปอย่างมาก

พรรคก๊กมินตั๋งอาจสูญเสียอำนาจในรัฐสภาไต้หวันแก่พรรคดีพีพีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทำให้พรรคดีพีพีสามารถควบคุมหางเสือได้เต็มอัตรา และเป็นไปได้ว่าจะเกิดการเตะถ่วงความพยายามจากปักกิ่ง ที่จะสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันทางการเมืองอีกด้วย

แต่ไม่ว่าใครจะคว้าชัยชนะ ความสำนึกคิดเรื่อง “ไต้หวัน-เซ็นทริค” (Taiwan-centric) หรือการเป็นเอกราชโดยธรรมชาติ ที่อยู่ในจิตใจชาวไต้หวัน ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ด้วยคนรุ่นใหม่จำนวนมากระบุตัวเองว่าเป็นคน “ไต้หวัน” ไม่ใช่ “จีน” ซึ่งเป็นสิ่งที่แม้แต่พรรคก๊กมินตั๋งเองก็ต้องหันมาเหลียวมองเช่นกัน
แผ่นป้ายประชาสัมพันธ์การหาเสียงของนางไช่ อิงเหวิน บนอาคารหลังหนึ่งในกรุงไทเป วันที่ 12 ม.ค. 2559 (ภาพ เอเอฟพี)

กำลังโหลดความคิดเห็น