xs
xsm
sm
md
lg

100 ปี ชุดแต่งกายสุภาพสตรีจีน กับการเปลี่ยนผ่านทางสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มสตรียุคราชวงศ์ชิงกับเสื้อผ้าสไตล์แมนจูเรีย ซึ่งเป็นแฟชั่นที่มีอิทธิพลต่อเนื่องยาวนานในสังคมจีน กระทั่งปัจจุบัน ที่สะท้อนอยู่ในชุดกี่เพ้า
เวยปั๋ว สื่อออนไลน์จีน เผย (12 ธ.ค.) ภาพชุดแต่งกายสุภาพสตรีจีนในรอบ 100 ปี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านทางสังคมที่เห็นได้ชัดที่สุด

ไอลีน ชาง นักเขียนนวนิยาย และบทภาพยนตร์ชาวจีน ซึ่งนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ เช่นเรื่อง Love in a Fallen City, Red Rose White Rose และ Lust, Caution เคยเขียนว่า "คนแต่ละคนล้วนดำรงอยู่ภายใต้เสื้อผ้าที่ตนสวมใส่" นับจากราชวงศ์ชิงมาถึงยุคสาธารณรัฐ และปัจจุบัน สังคมจีนได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง บางที อาจจะไม่มีสิ่งใดจะสังเกตความเปลี่ยนผ่านนี้ได้ดีเท่ากับแฟชั่นเสื้อผ้าที่สตรีสวมใส่ตลอดช่วงศตวรรษที่่ผ่านมา

(ภาพจาก Sina)
ภาพนี้ถ่ายในยุคราชวงศ์ชิง แสดงภาพหญิงชาวฮั่นสวมใส่ชุดพื้นเมืองดั้งเดิมของชาวฮั่น สังเกตุจากปกและแขนเสื้อกว้าง
หลายปีผ่านไป อิทธิพลตะวันตกค่อยๆ ซึมเข้ามาในสังคมจีน คอปกที่สั้นลงและรูปแบบที่กระชับร่างกายมากขึ้น โดยสุภาพสตรีกลุ่มแรกๆ ที่สวมใส่ชุดแบบนี้คือกลุ่มนักศึกษาจีนที่ไปเรียนต่างประเทศ โดยสมัยนั้น เป็นที่นิยมสวมใส่ทั้งในสตรีชั้นสูง และผู้หญิงโสเภณี
ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี ค.ศ. 1907 แสดงภาพกลุ่มสุภาพสตรีที่กำลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่ง ขณะที่เสื้อผ้าของเธอยังคงมีเค้าแบบมาจากชุดแมนจูดั้งเดิม แม้จะเริ่มได้รับอิทธิพลจากตะวันตก แต่ยังมีความเรียบง่ายทั้งสีและแบบชุด
การเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม ได้จุดประกายโดยกลุ่มสตรีที่แต่งกายคล้ายดังในภาพนี้ ระหว่างยุคสาธารณรัฐ มีวิวัฒนาการแยกเสื้อและกระโปรง ซึ่งเหมือนชุดนักเรียน เสื้อฟ้า กระโปรงดำ ถุงเท้าขาว และรองเท้าดำขัดมันเงา
ในภาษาจีน แบบเสื้อผ้าชุดใหม่นี้ มีนัยยะถึง ซินจวง เวินหมิง (文明新裝) ซึ่งแปลได้ว่า ชุดแห่งอารยธรรมใหม่ โดยแบบชุดนี้ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมใหม่ อันมีอุดมคติที่เกี่ยวกับสิทธิเสมอภาคของสตรี และเหล่าสตรีปัญญาชนทั้งในเซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง เป็นหัวหอกในการสร้างเทรนด์ใหม่นี้ ขณะที่ชุดดังกล่าวก็เป็นสัญลักษณ์ของวิวัฒนาการใหม่ทางสถานะของสตรีในสังคมจีน
รูปแบบการแต่งกายประจำโรงเรียนอื่นๆ เป็นชุดสีดำที่เรียบง่าย สวมทับเสื้อเชิ๊ต
ในยุค ค.ศ. 1920 ชาวตะวันตกได้ส่งออกแฟชั่นชุดว่ายน้ำสตรี และกางเกงขาสั้น และหมวกว่ายน้ำ เหล่านี้ล้วนน่าจะมาจากอิทธิพลตะวันตก
หลังปี ค.ศ. 1925 ขบวนการวัฒนธรรมใหม่เริ่มมีอิทธพลมากขึ้น รูปแบบการแต่งกายของสตรีก็กลายเป็นดูเหมือนๆ กันไปหมด
อย่างไรก็ตาม ไอลีน ชาง เขียนว่า ชุดกี่เพ้า นำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่แฟชั่นการแต่งกายสตรีจีน เริ่มจากสุภาพสตรีชาวเซี่ยงไฮ้ ที่มีอาชีพโสเภณี ก่อนจะค่อยๆ เป็นที่ยอมรับสวมใส่ทั่วทุกวงการอาชีพ
ไอลีน เขียนว่า ชุดกี่เพ้าเริ่มปรากฏ ในราวปี ค.ศ. 1921 ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอุดมการณ์ความเสมอภาคระหว่างเพศ ขณะเดียวกันก็ปรับเพิ่มลักษณะความเคร่งขรึมสำรวมมากขึ้น เปิดเผยสัดส่วนน้อยลง
ในช่วง ค.ศ. 1920 ชุดกี่เพ้าจะมีชายกระโปรงที่สั้น ก่อนที่จะปรับเป็นแบบยาวในช่วง ค.ศ. 1930
กี่เพ้ายังได้ปรับความยาวของแขนซึ่งดูคล้ายกับในปัจจุบันนั่นเอง
การเปลี่ยนผ่านจากเสื้อคลุมสั้น และกระโปรงยาวในราชวงศ์แมนจู มาเป็นชุดกี่เพ้ายังสะท้อนให้เห็นประสบการณ์ของความรู้สึกด้านเสรีภาพครั้งแรกของสตรีจีน
ชุดว่ายน้ำมีวิวัฒนาการในช่วงปี ค.ศ. 1930  ซึ่งสตรีเซี่ยงไฮ้อาจจะยังดูเคอะเขินกับแบบมาตรฐานของชุดว่ายน้ำชาวตะวันตกยุคนั้น แต่สมัยนั้นเพียงแค่นี้ก็ถือว่าเร้าใจเปิดเผยมากๆ แล้ว
ด้วยชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ. 1949 ชุดแต่งกายของสตรีเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือจากชุดกี่เพ้า มาเป็นชุดเหมา และเสื้อผ้าแบบสาวโรงงาน
อิทธิพลของชาวรัสเซียในช่วงแรกๆ ของจีนคอมมิวนิสต์ สะท้อนอยู่ในเสื้อฟ้าสีสันสมัยนี้ และกลายเป็นที่นิยมของสตรีจีนจำนวนมาก
รุ่งอรุณของการปฏฺิวัติทางวัฒนธรรม ซึ่งเหล่ายุวชนแดงล้วนแต่งกายเหมือนทหาร ชุดเขียว ดาวแดง และสมุดปกแดงคือแฟชั่น
สีเขียวกองทัพไม่ใช่เป็นสีประจำตัวของเหล่ายุวชนแดงในยุคนั้น บรรดาเรดการ์ดในปี 1973 ก็มีสวมเสื้อสีอื่นเช่นกัน อาทิ เสื้อขาว เสื้อน้ำเงิน และเสื้อเขียว
ระหว่างช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 และต้นปี 1970อันเป็นช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม เหล่าผู้คนสวมใส่แต่เสื้อสีน้ำเงิน เทา เขียว และดำ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเสื้อชาวโรงงานนั่นเอง
ภาพจากกวางโจวในปี 1972 นี้ แสดงให้เห็น ชุดแต่งกายมีมากมายหลายแบบ
ปลายยุคปฏิวัติวัฒนธรรม สาวนักเรียนเริ่มสวมชุดลายดอก แม้ว่าในหมู่สตรีวัยทำงานจะยังคงสวมแต่ชุดเรียบๆเหมือนกันหมด สีเทา สีน้ำเงิน และสีขาว
เมื่อเข้าสู่ยุคปฏิรูปและเปิดประเทศในปี 1980 รูปแบบเสื้อผ้าได้เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกรอบ โดยสีสันใหม่ๆ ของชุดล้วนมาจากอิทธิพลชาติตะวันตก ซึ่งได้รับการยอมรับกว้างขวาง ดังเช่นภาพนี้ ที่ถ่ายในราวปี ค.ศ. 1985
จีนยุคหลังประธานเหมา แนวโน้มของการแต่งกายสตรีจีน ยังคงเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง สาวต้าเหลียนในภาพสวมกระโปรงมินิสเกิร์ต เสื้อผ้าแบบสาวตะวันตกเข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็ว แม้จีนจะยังคงพยายามพัฒนาเทรนด์แฟชั่นที่ทันสมัยบางอย่างของตัวเอง

กำลังโหลดความคิดเห็น