xs
xsm
sm
md
lg

หลุยส์ วิตตอง ยอดขายหด ทยอยปิดสาขาในจีน เหตุเศรษฐกิจซบเซา ผู้คนหันประหยัดเงินทอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หญิงสาวเดินผ่านร้านหลุยส์ วิตตอง ในเมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน (ภาพ ไชน่า เดลี)
ไชน่า เดลี - หลุยส์ วิตตอง แบรนด์หรูสัญชาติฝรั่งเศส ปิดร้านสาขาสำคัญทางจีนตอนใต้ และจ่อปิดอีกหลายสาขาเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจ หลังจากยอดขายชะลอตัวลงเพราะชาวจีนประหยัดมัธยัสถ์กันมากขึ้น

ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานว่าต้นสังกัดของหลุยส์ วิตตอง ได้สั่งปิดร้านสาขาสามแห่งในนครกวางเจา มณฑลกวางตุ้ง นครฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียง และนครอูรุมชี เขตปกครองตนเองซินเจียง ชนชาติอุยกูร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคนวงในระบุว่ายังมีแผนจะปิดอีกหลายสาขาในอนาคตข้างหน้า

สาขาล่าสุดที่เพิ่งปิดตัวตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้าเลอ แปร์ล เขตเย่ว์ซิ่วของเมืองกวางเจา โดยรายงานเบื้องต้นระบุว่า สัญญาเช่าพื้นที่ตั้งร้านระหว่างหลุยส์ วิตตอง กับทางห้างฯ จะสิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือนนี้ ซึ่งกรณีดังกล่าวจะทำให้หลุยส์ฯ เหลือร้านสาขาบนแผ่นดินจีนราว 50 แห่ง

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญวงการอุตสาหกรรมกลับไม่รู้สึกวิตกกังวลกับความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่อาวุโสของหลุยส์ วิตตอง เคยชี้แจงตอนต้นปีว่า บริษัทจะทำการปิดร้านสาขาบางแห่งในจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรื้อโครงสร้างการบริหารงาน

หัวหน้าฝ่ายการเงินของเครือบริษัท แอลวีเอ็มเอช โมเอต์ เฮนเนสซี่ หลุยส์ วิตตอง (LVMH Moet Hennessy Louis Vuitton) ผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรูรายใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงหลุยส์ วิตตอง และแบรนด์ดังอื่นๆ นาย Jean-Jacques Guiony กล่าวในที่ประชุมผลประกอบการเมื่อเดือนต.ค. ว่าการปิดร้านสาขาในจีนส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่หัวเมืองรองลำดับสอง (second-tier city)

กีโอนีบอกว่าธุรกิจของเครือบริษัทฯ ในจีนเผชิญด่านโหดหินในช่วงไตรมาสสามที่ผ่านมา เหตุจากความผันผวนของตลาดหุ้น การเติบโตของผลประกอบการในภูมิภาคเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ตลอดเก้าเดือนแรกของปี ก็ลดลงจากปีก่อนเกือบร้อยละ 6 แม้ว่าผลประกอบการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ไปอยู่ที่ 27,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กรณีแบรนด์หรูเมืองนอกทยอยปิดร้านสาขาในจีนมิใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ผู้ค้าปลีกชั้นนำรายอื่น อาทิ จอร์โจ อาร์มานี, แอร์เมส และเวอร์ซาเช เคยสั่งปิดร้านสาขาตั้งแต่ปี 2556 แล้ว เพียงแต่ปัจจุบันการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนกำลังชะลอตัว บวกกับการรณรงค์เรื่องความประหยัดมัธยัสถ์จากรัฐบาล ทำให้การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยลดปริมาณลงยิ่งขึ้น

อ้างอิงข้อมูลจากเบน แอนด์ โค (Bain & Co) บริษัทวิจัยการตลาดระบุว่า การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยบนแผ่นดินใหญ่ มีการเติบโตเชิงลบเป็นครั้งแรกในปี 2557 ส่วนการปิดร้านสาขาก็นับเป็นการปรับเปลี่ยนเชิงกลยุทธ์ ซึ่งหลายแบรนด์จะเริ่มดำเนินการในปีนี้

“บรรดาแบรนด์หรูต่างเตรียมตัวรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการยกระดับคุณภาพและลดขนาดของร้านลง” โจว ถิง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฟอร์จูน คาแรคเตอร์ (Fortune Character Research Center) ผู้ให้คำปรึกษาด้านอุตสาหกรรมสินค้าฟุ่มเฟือยในนครเซี่ยงไฮ้กล่าว

“วิธีการดังกล่าวเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการลงทุนเพิ่มเติมหรือการเปิดสาขาขึ้นมาใหม่” โจวกล่าว “หลายแบรนด์เริ่มหันไปสนใจการค้าบนโลกออนไลน์ รวมถึงวิธีตัดลดราคาสินค้าลงเพื่อดึงดูดใจผู้บริโภคชาวจีน”

โจวมองว่าการเติบโตอันรวดเร็วของตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยได้ผ่านพ้นไปแล้ว และตอนนี้แบรนด์หรูก็พึ่งพาการปรับเปลี่ยนราคา เทคโนโลยี และกลยุทธ์สดใหม่ เป็นเครื่องมือช่วยกระตุ้นการเติบโตต่อไป

นอกจากนั้นการปรับเปลี่ยนตัวเองของแบรนด์หรูในจีน ยังส่งผลกระทบต่อห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์ (Hi-end) เฉกเช่นห้างฯ เลอ แปร์ล ที่หลุยส์ วิตตอง เช่าทำเลทองบริเวณด้านซ้ายของประตูทางเข้าตั้งร้านสาขามาตั้งแต่ปี 2546 แต่ปัจจุบันร้านถูกปิดและแปะคลุมด้วยภาพโปสเตอร์ของห้างฯ จนไม่เหลือร่องรอย

เจ้าหน้าที่ของเลอ แปร์ล กล่าวว่าพวกเขาจะหาแบรนด์หรูชั้นนำระดับนานาชาติมาทดแทนหลุยส์ วิตตอง และไม่มีแผนจะโยกย้ายความสนใจออกจากการขายสินค้าฟุ่มเฟือย อย่างไรก็ดี เลอ แปร์ล ไม่ได้เผยรายละเอียดชี้นำว่า แบรนด์หรูที่จะมาตั้งทัพเป็นรายต่อไปคือใคร

กำลังโหลดความคิดเห็น