สำนักข่าวพีเพิล เดลี รายงาน (13 พ.ย.) ว่าเมื่อไม่นานนี้ คณะนักโบราณคดีจีนได้ขุดพบตะเกียงทองสัมฤทธิ์ รูปทรงห่านคาบปลา ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี ภายในสุสานของขุนนางยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ที่เมืองหนันชัง มณฑลเจียงซีทางภาคตะวันออกของประเทศ
ตะเกียงเก่าแก่จำนวนสองดวงที่ค้นพบนั้น แต่ละดวงถูกปั้นแต่งให้มีรูปร่างอ้วนท้วน ลำคอเรียวยาว หางสั้น และเท้าลีบแบนเป็นพังผืด แสดงท่าท่างห่านหันหัวกลับไปข้างหลังและกำลังใช้จงอยคาบปลาอยู่ในปาก
สิ่งที่สร้างความแปลกประหลาดใจแก่นักโบราณคดี ไม่ใช่แค่เรื่องรูปลักษณ์ภายนอกที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคุณสมบัติการใช้งาน ที่มีระบบปรับระดับแสงสว่างและการทำงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ตะเกียงห่านคาบปลานี้ นอกจากจะสะท้อนเทคนิควิธีซึ่งนับว่าดีเยี่ยมในสมัยนั้น ยังประกอบด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาของชาวจีนโบราณ” ซิน หลี่เสียง หัวหน้าทีมนักโบราณคดีกล่าว
ซินอธิบายว่าตัวบังตะเกียงถูกออกแบบให้โค้งมนและยกเปิด-ปิดได้ ทำหน้าที่เป็นเกราะบังลมและใช้ปรับเปลี่ยนความสว่างของแสงไฟ ขณะที่รูปร่างของห่านและปลาก็มีลักษณะเป็นโพรง ควันที่เกิดจากน้ำมันก๊าซหรือขี้ผึ้งจะถูกตัวปลาสกัดกั้นก่อนไหลผ่านเข้าไปในร่างของห่าน เชื่อว่าคนยุคนั้นอาจฉีดน้ำใส่ท้องห่านเพื่อชะล้างคราบเขม่าควันด้วย
“ตะเกียงนี้คงถือเป็นสิ่งของราคาแพงมหาศาลในเวลานั้น ผู้ครอบครองก็คงมีแต่พวกขุนนางชนชั้นสูง ไม่ใช่ชาวบ้านตาสีตาสาธรรมดาแน่นอน”
ชมโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆ ที่นักโบราณคดีจีนขุดพบในสุสานฯ เมืองหนันชัง มณฑลเจียงซี (ภาพ ซินหวา)