สื่อท้องถิ่นฮ่องกงเผย (24 ส.ค.) ปักกิ่งยกเลิกการปิดกั้นกลุ่มเว็บไซต์ต่างชาติที่รัฐบาลพิจารณาว่ามีความอ่อนไหวทางการเมือง เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูปในสถานที่จัดการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลก 2015 (2015 World Championships in Athletics) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 22 - 30 ส.ค. 2558
นายคริส เทอร์เนอร์ (Chris Turner) ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations (IAAF)) ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดการแข่งขันฯ ระบุว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันฯจะสามารถเข้าชมสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆที่ถูกจำกัดการเข้าถึงในประเทศจีน ในสถานที่จัดการแข่งขันและโรงแรมที่พักของนักกีฬา ผ่านระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สาย และระบบอินเทอร์เน็ตเคเบิลตลอดการแข่งขัน
รายงานระบุว่า สื่อท้องถิ่นก็ได้เสนอข่าวดังกล่าวเช่นกัน แต่ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าเป็นการยกเลิกการปิดกั้นข้อมูลเฉพาะบริเวณสถานที่จัดการแข่งขันเท่านั้น ทำให้ชาวจีนจำนวนมากต่างเข้าใจผิดว่า สามารถเข้าชมสื่อที่ถูกปิดกั้นจากที่ใดก็ได้ และต่างผิดหวังไปตามๆกันเมื่อพบว่าไม่สามารถเข้าถึงสื่อฯต่างๆได้ตามที่ต้องการ
ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมักประกาศผ่อนปรน การเข้าถึงกลุ่มเว็บไซต์ต่างชาติ ซึ่งรัฐบาลพิจารณาว่ามีความอ่อนไหวทางการเมือง เป็นการชั่วคราว ระหว่างที่มีการจัดกิจกรรมระหว่างประเทศ เช่น ระหว่างการแข่งขันมหกรรมกีฬางานโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งในปี 2551 และมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเยาวชนที่นครหนันจิง (นานกิง) ในปี 2557 ก็สามารถเข้าเว็บไซท์สื่อต่างๆที่ถูกปิดกั้นโดยรัฐบาลจีนได้เป็นการชั่วคราว
จีนได้บล็อกเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ อย่าง เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ มาตั้งแต่ปี 2552 เนื่องจากรัฐบาลจีนพิจารณาว่าการเปิดกว้างรับสื่อสังคมออนไลน์โลกมีความอ่อนไหวทางการเมืองและอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้ ยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรวดเร็ว หรือ "การปฏิวัติดอกมะลิ" ในตะวันออกกลาง ที่โค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ
อนึ่ง แม้ปัจจุบันจีนจะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก แต่รัฐบาลก็ยังคงนโยบายควบคุมสื่อประเภทต่างๆ อย่างเข้มงวดต่อไป โดยเฉพาะโลกไซเบอร์ที่พึ่งพาโปรแกรมกำแพงไฟ (Great Firewall หรือชื่อทางการคือ the Golden Shield) ซึ่งดูแลโดยกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์จีน ทำให้ชาวต่างชาติจำนวนมากที่เดินทางมาทำงาน ศึกษาเล่าเรียน หรือท่องเที่ยว พากันติเตียนถึงความยากลำบากในการเข้าถึงเว็บไซต์ที่พวกเขาใช้งานในชีวิตประจำวัน เพราะแม้แต่เว็บเสิร์ชเอนจิ้นที่ใช้ค้นหาข้อมูลอันดับหนึ่งของโลกอย่างกูเกิ้ล ก็ยังไม่สามารถใช้งานบนจีนแผ่นดินใหญ่ได้อย่างน่าประหลาดใจ