เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - การเสียเวลานานนับชั่วโมงอยู่บนเครื่องบินที่ไม่ได้กางปีกเหินฟ้าไปไหนอาจเป็นฝันร้ายของใครหลายคน แต่เรื่องเช่นนี้กลับกลายเป็น “ความจริง” ที่ผู้โดยสารชาวจีนต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรม ซึ่งนับวันยิ่งทวีคูณความเลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ
สถาบันการบินพลเรือนของจีนเผยว่า กรณีเที่ยวบินล่าช้าและถูกยกเลิกเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ในปี 2557 แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เก็บข้อมูลครั้งแรกในปี 2549 โดย 1 ใน 3 ของเที่ยวบินบนแผ่นดินใหญ่ทั้งหมดราว 937,000 เที่ยวนั้นไม่ได้ออกเดินทางตรงเวลา อ้างสาเหตุว่ามาจากการควบคุมการจราจรทางอากาศ สภาพอากาศ และสายการบิน
ขณะเดียวกันการสื่อสารอันย่ำแย่และเชื่องช้าระหว่างเจ้าหน้าที่หรือสายการบินกับผู้โดยสาร ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สร้างเสียงบ่นหนาหูอยู่ในปัจจุบัน
“หากคุณได้ออกเดินทางภายในสองหรือสามชั่วโมงของกำหนดการ นั้นคือค่อนข้างตรงเวลามากแล้ว” เจมส์ เซียว หมิงเจี๋ย นักกฎหมายชาวอเมริกันวัย 35 ปี ในฮ่องกง ซึ่งเดินทางเยือนเซี่ยงไฮ้บ่อยครั้งกล่าว
ข้อมูลของไฟล์ทสแตทส์ (FlightStats) ระบุว่าสนามบินและสายการบินจีนถูกจัดอันดับอยู่ขั้นแย่ที่สุดในโลก สำหรับเรื่อง ‘ความตรงเวลา’ ในปี 2557 แต่หลายสายการบินก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ อาทิ คาเธย์ แปซิฟิก วางแผนลดเที่ยวบินเส้นทางฮ่องกง- เซี่ยงไฮ้ หลังการจำกัดพื้นที่ทางอากาศของจีนก่อปัญหาเที่ยวบินล่าช้ากว่า 230 เที่ยวในเดือนพ.ค. และมิ.ย.
เซียวนึกย้อนถึงประสบการณ์หฤโหดของตนเองว่า เขาเคยนั่งอยู่บนเครื่องบินที่จอดนิ่งๆ เป็นเวลา 5 ชั่วโมงบนไฟล์ทฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้เมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่แล้ว หลังจากเครื่องบินถูกสั่งให้วกกลับไปยังลานจอดเดิมโดยไม่ทราบสาเหตุ ซ้ำยังเกิดปัญหาลูกเรือทำงานเกินเวลาที่กำหนดผสมโรงเข้ามา
“น่าผิดหวัง ผมนั่งอยู่ตรงนั่น ทำงานก็ไม่ได้เพราะห้ามใช้คอมพิวเตอร์ ทำได้แค่นั่งและรอไปเรื่อยเท่านั้น” เซียวกล่าว
คริสทาโน เรนฮาร์ท ชาวอินโดนีเซียที่ระหกระเหินมาทำงานในเซี่ยงไฮ้ บอกว่าอีกปัญหาคือขาดแคลนคำแนะนำสำหรับผู้โดยสารที่เผชิญเที่ยวบินล่าช้า “คุณเสียเวลาเยอะมากกับการติดแหง็กอยู่ในสนามบินโดยไม่รู้จะทำอะไร” เธอเสริมว่าเดือนก่อนเพิ่งโดนไป 9 ชั่วโมงในเที่ยวบินฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้
ด้านสมาชิกลูกเรือคนหนึ่งของสายการบินดรากอนแอร์ (Dragonair) เผยความเห็นว่ากรณีล่าช้ามักเป็นเที่ยวบินที่ไปและกลับจากเซี่ยงไฮ้ เพื่อนร่วมงานก็เคยเจอเที่ยวบินล่าช้ากว่า 9 ชั่วโมง ซึ่งเธอบอกว่า “น่าเหนื่อยใจและรู้สึกกดดันจากความไม่พอใจของผู้โดยสาร”
เหตุการณ์วุ่นวายที่เกิดจากเที่ยวบินล่าช้าหรือถูกยกเลิกเป็นข่าวบ่อยครั้งในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เช่น เที่ยวบินสู่ปักกิ่งของสายการบินฮ่องกง แอร์ไลน์ส เมื่อเดือนก่อน นักท่องเที่ยวจีน 6 คน ก่อเหตุทำร้ายร่างกายลูกเรือหลังจากต้องรอนาน 6 ชั่วโมง หรือเที่ยวบินสู่เซี่ยงไฮ้ในเดือนมิ.ย. ปีก่อน ซึ่งถูกสั่งยกเลิก ผู้โดยสารมากกว่า 70 คน นั่งดื้อแพ่งนานกว่า 18 ชั่วโมง
บอนนี่ จัง ซื่อฉี วัย 26 ปี ที่เดินทางภายในประเทศ 2-5 ครั้งต่อเดือน เล่าว่าเคยเจอเที่ยวบินล่าช้า 5 ชั่วโมง เพราะสภาพอากาศเลวร้ายในเที่ยวบินจากเมืองหวงซัน มณฑลอันฮุย สู่นครหลวงปักกิ่ง
นักบิน ชาร์ลส เฉา ซึ่งทำงานกับสายการบินจีนแผ่นดินใหญ่ กล่าวว่าประสบการณ์แย่สุดของเขาคือ 8 ชั่วโมง ที่สนามบินเกาฉี เมืองซย่าเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน โดยเฉามองว่ากรณีล่าช้าเกิดขึ้นในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนมาก เพราะเป็นภูมิภาคที่มีเที่ยวบินหนาแน่น
“สวดอ้อนวอนพระเจ้า” หรือ “อย่าโดยสารเครื่องบิน” เฉาบอกว่านี่คือสิ่งนักเดินทางทั้งหลายทำได้ในตอนนี้
เนื่องจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) กำกับดูแลพื้นที่ทางอากาศส่วนใหญ่ของน่านฟ้าจีน กิจกรรมทางการทหารจึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ โดยสนามบินปักกิ่งสองแห่งจะปิดทำการ 3 ชั่วโมง ในวันที่ 3 ก.ย. นี้ เพื่อรองรับงานเฉลิมฉลองของกองทัพในโอกาสครบรอบ 70 ปี การสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
อย่างไรก็ดี ทางการจีนประกาศเมื่อเดือนเม.ย. ว่า มีแผนการจัดตั้งเส้นทางบินใหม่ 10 สาย ในกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางเจา และจะเจรจากับกองทัพเพื่อเปิดเส้นทางใหม่อีกสายมารองรับอุตสาหกรรมการบินจีน ซึ่งพาผู้โดยสารกว่า 390 ล้านคน ทะยานบนฟากฟ้าในปีที่ผ่านมา