เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - นักวิทยาศาสตร์แดนมังกรเตรียมส่งยานหุ่นยนต์ดำดิ่งสำรวจก้นทะเล ณ จุดที่ลึกที่สุดของโลก เป็นครั้งแรกของชาติ พร้อมอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อจับสัตว์แปลกประหลาดหายาก และรวบรวมตัวอย่างแร่ธาตุ กลับมาศึกษา
ในเดือนต.ค. นี้ ยานดำน้ำไร้คนขับของจีนจะออกเดินทางไปยังร่องลึกก้นสมุทรมาเรียน่า ( Mariana Trench) ซึ่งตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก โดยพื้นที่เป้าหมายคือแชลเลนเจอร์ดีป ( Challenger Deep) ซึ่งเป็นแอ่งเล็ก ๆ ตรงปลายสุดด้านใต้ของร่องสมุทรนี้ และอยู่ลึกใต้ผิวน้ำราว 11 กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดที่ลึกสุดของมหาสมุทรบนโลกเท่าที่มีการบันทึกกันมา
เคยมีการพิชิตแชลเลนเจอร์ดีปสำเร็จมาแล้วเพียง 4 ครั้ง ซึ่งครั้งสุดท้ายเป็นการลงไปเยือนของเจมส์ คาเมรอน ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวแคนาดาด้วยยานดำน้ำชื่อว่า ดีปซีแชลเลนเจอร์ ( Deepsea Challenger)
ยานสำรวจ ที่จะเดินทางไปครั้งนี้คิดค้นและสร้างร่วมกันระหว่างนักวิจัยของสถาบันระบบอัตโนมัติเสิ่นหยาง ( Shenyang Institute of Automation) ในมณฑลเหลียวหนิง ซึ่งอยู่ในสังกัดของสถาบันวิทยาศาสตร์จีน กับนักวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมทะเลลึกซันย่าในมณฑลไห่หนัน
จากการเปิดเผยของซิง ลู่หรู ผู้ช่วยงานวิจัยของสถาบันเสิ่นหยาง ซึ่งจะร่วมภารกิจสำรวจ ยานดำน้ำลำนี้มีความซับซ้อนน้อยกว่าและขนาดเล็กกว่าดีปซีแชลเลนเจอร์ นอกจากนั้น เมื่อลงจอดที่ก้นสมุทรแล้ว ยานไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์จีนคาดว่า ยานลำนี้จะไม่ทำให้ผิดหวังในการไขความลับเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อม ณ ดินแดน ที่แทบไม่มีใครไปถึง
ยานสำรวจจะนำกล้องถ่ายรูปและถ่ายภาพยนตร์ ซึ่งมีความคมชัดสูงลงไปด้วย นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่สถานีโทรทัศน์จะเข้าร่วมภารกิจนี้ เพื่อถ่ายทอดสดการสำรวจสู่ผู้ชมทั่วโลก และที่ขาดไม่ได้คือยานดำน้ำเจียวหลง จะร่วมสนับสนุนโครงการสำรวจครั้งประวัติศาสตร์นี้ด้วย
ยานดำน้ำเจียวหลงเป็นยานมนุษย์ขับ ซึ่งเคยสร้างสถิติดำน้ำได้ลึกที่สุดในโลกเมื่อปีที่แล้ว โดยลงไปได้ลึก 7.02 กิโลเมตรในก้นสมุทรมาเรียน่า และสร้างแผนที่ของก้นทะเล ซึ่งมีความคมชัดสูง และช่วยให้นักวิจัยสามารถระบุตำแหน่งลงจอดของยานสำรวจในภารกิจ ที่กำลังจะเริ่มขึ้นนี้