เอเจนซี - สื่อจีนรายงานวานนี้ (22 ก.ค.) ตลาดออนไลน์ “เถาเป่า” (Taobao.com) ในเครืออาลีบาบา (Alibaba) ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ (e-commerce) จัดโครงการรับบริจาคอสุจิ เป็นศูนย์กลางติดต่อให้แก่ธนาคารอสุจิยักษ์ใหญ่ 1 ใน 7 แห่ง
โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเป็นเวลาสามวัน ตั้งแต่วันพุธถึงวันศุกร์ (15-17 ก.ค.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยช่วงเวลาดังกล่าว มีอาสาสมัครลงชื่อร่วมบริจาคอสุจิมากถึง 22,017 คน ซึ่ง 69 เปอร์เซ็นต์ของอาสาสมัครมาจากกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และนครกวางเจา
อาสาสมัครเพียงแค่กรอกชื่อสกุล เลขท้ายบัตรประจำตัวประชาชน 6 หลัก ที่อยู่อีเมล เพื่อสมัครเข้าร่วมโครงการทางเว็บไซต์ โดยจะต้องเดินทางไปรายงานตัว ตรวจสุขภาพที่ธนาคารอสุจิภายในสามเดือน และหากผ่านการตรวจสุขภาพก็จะมีสิทธิบริจาคอสุจิได้
ทั้งนี้อาสาสมัครยังจะได้รับเงินอุดหนุนตั้งแต่ 3,000-5,000 หยวน หรือราว 15,000-25,000 บาท เมื่อกระบวนการบริจาคอสุจิเสร็จสิ้นแล้วอีกด้วย
ทางด้านธนาคารอสุจิยืนยันว่า จะเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้บริจาคเป็นความลับ ข้อมูลของอสุจิจะถูกเก็บบันทึกโดยใช้รหัส เพื่อไม่ให้ทราบชื่อของผู้บริจาค
สื่อจีนระบุว่า ปัจจุบันกฎหมายจีนกำหนดให้คนหนึ่งคนสามารถบริจาคอสุจิได้เพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น ซึ่งปกติแล้วกระบวนการบริจาคครั้งหนึ่งอาจต้องเดินทางไปบริจาคหลายรอบ กว่าจะเสร็จสิ้นทั้งกระบวนการอาจกินเวลานานนับ 10 เดือน
ขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้หญิงจีนราวสองหมื่นคน เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ชายที่ตนต้องการให้เป็นพ่อแบบของลูก ซึ่งจัดทำโดยเถาเป่า พบว่าคุณสมบัติยอดฮิตที่ผู้หญิงจีนให้ความสำคัญได้แก่ ผู้ชายที่มีสติปัญญาสูง ผู้ชายลูกครึ่ง ผู้ชายหน้าตาดี และผู้ชายรูปร่างสูง
พร้อมกันนี้เถาเป่ายังได้จับมือกับ คิงเม็ด ไดแอกโนสติคส์ (KingMed Diagnostics) ผู้ให้บริการเทคนิคการแพทย์รายใหญ่ที่สุดของจีน ให้บริการตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ความเป็นบิดา (paternity testing ) และบริการทดสอบการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิ (sperm motility test) โดยจะจัดส่งชุดทดสอบให้แก่ผู้เข้ารับบริการถึงบ้าน และผู้รับบริการจะได้รับผลการทดสอบภายใน 10 วัน นับตั้งแต่วันที่ส่งตัวอย่างอสุจิให้แก่ศูนย์วิเคราะห์
รายงานระบุว่า กิจกรรมดังกล่าวสามารถดึงดูดผู้รับบริการตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ความเป็นบิดาได้จำนวน 137 คน และมีผู้ขอรับบริการทดสอบการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิมากถึง 4,060 คน
ปัจจุบันมีคู่สามีภรรยาชาวจีนนับ 50 ล้านคู่ ที่ไม่พร้อมต่อการสืบพันธุ์ เนื่องจากความเครียดในการทำงาน สภาพสังคมและสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ จีนยังเป็นประเทศที่เข้มงวดกับการบริจาคอสุจิมาก เช่นในปี 2557 มีผู้สมัครเข้าบริจาคอสุจิที่มลฑลซันซีราว 1,200 คน แต่มีผู้ผ่านการทดสอบเพียงร้อยกว่าคนเท่านั้น