ทองแถม นาถจำนง นามปากกา “โชติช่วง นาดอน” ฝ่าฟันอุปสรรคนานาบนเส้นทางชีวิต เพื่อยืนหยัดในวิถีที่รัก ด้วยใจปรารถนาชีวิตสมถะ สงบสุข แบบยอดกวีจีน เถายวนหมิง แม้จะรู้ว่าบางช่วงก็ต้องประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจบ้าง แต่ก็ได้สู้ด้วยจิตวิญญาณนักสู้มาจวบถึงวัย 60 ปี ในวันที่ 10 ก.ค. พ.ศ. 2558 นี้แล้ว
ดั่งชะตาที่ชักพาให้ชีวิต ทองแถม นาถจำนง มาแวะข้องกับจีน สร้างผลงานเขียนเรื่องจีนมากำนัลบรรณพิภพไทยอย่างต่อเนื่องนับสิบๆปี เป็นทั้งนักเขียนและคอลัมนิสต์นำเสนอเนื้อหาด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ กวี ปรัชญา ศาสนา ไปถึงเศรษฐกิจการเมือง งานทุกชิ้นล้วนออกมาจากใจรัก จากการศึกษาค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลภาษาจีน เฉพาะผลงานหนังสือเล่มเกี่ยวกับเรื่องจีนของทองแถม มีกว่า 45 เล่ม ...
ทองแถม เกิดในครอบครัวคนไทย เป็นชาวสวนฝั่งธนบุรี เติบโตผ่านยุคที่รัฐบาลไทยมีนโยบายต่อต้านจีนคอมมิวนิสต์ ไม่ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมจีนหรือสนใจเรื่องจีนมาแต่วัยเด็ก หากแต่เป็นคนรักความรู้มาก เป็นนักอ่านตัวยง อ่านหนังสือภาษาอังกฤษตั้งแต่วัยเด็ก
“ผมอยากเป็นนักเขียน เขียนกวี เรื่องสั้น ตั้งแต่ช่วงเรียนชั้นมัธยมศึกษาศึกษา และได้เขียนงานเก็บไว้...”
ทว่า ทองแถมกลับได้เข้าเรียนระดับอุดมศึกษา ในคณะเทคนิกการแพทย์ และได้เข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษา เป็นนายกสโมสรนักศึกษาคณะเทคนิกการแพทย์ ด้วยธรรมชาตินิสัยรักการอ่านหนังสือ กอปรด้วยกระแสการเมืองบรรยากาศสังคมในยุคนั้น ก็ได้หันมาศึกษาแนวคิดมาร์กซิสต์ สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เห็นอกเห็นใจคนยากจน ขบคิดเกี่ยวกับชนชั้น ในที่สุด ปีที่เกิดเหตุการณ์นองเลือด “6 ตุลาคม 2519” ก็ได้“เข้าป่า” เข้าร่วมการเคลื่อนไหวการเมือง ปฏิวัติสังคม
“เข้าป่า 2 ปี ก็ถูกส่งไปยังเซี่ยงไฮ้ ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยแพทย์ทหาร ตอนนั้นเรียนภาษาจีน 3 เดือน เรียนหนักทั้งวันทั้งคืน แล้วจึงมาเรียนวิชาการแพทย์โดยเริ่มที่ปีสามเลย เมื่อการเรียนเบาลง ก็เริ่มหันมาอ่านกวี..ตอนนั้นได้อ่านบทกวีวันไหว้พระจันทร์แล้วซาบซึ้งมาก ทั้งช่วยชดเชยความเหงาที่จากบ้านมา ... ซื้อหนังสือกวีจีนเล่มแรก คือ แม่สอนลูก อ่านแล้วชอบมาก แปลออกมาเป็นภาษาไทยเลย จากนั้นก็แปลบทกวีจีนเป็นงานอดิเรก สลับกับการเรียนแพทย์ กระทั่งกลับมาอยู่ที่คุนหมิง มณฑลยูนนาน เป็นแพทย์ชนบท และเดินทางกลับประเทศไทยเดือนมี.ค. พ.ศ. 2526 เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนจบปริญญาตรี”
เส้นทางต่อสู้ เพื่อบรรลุฝันเป็นนักเขียน
เมื่อจบการศึกษา ก็ยังคงอยากเป็นนักเขียน แต่อาชีพนักเขียนอยู่ยาก จึงมารับราชการก่อน ทำงานในกองแพทย์ ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง ช่วงนั้นมีเวลาว่างมากก็ทำงานแปล เขียนหนังสือ เขียนเรื่องลงในนิตยสารค่ายต่างๆ เช่น นิตยสารข่าวพิเศษ นิตยสารสุดสัปดาห์มติชน นิตยสารแพรว
มีผลงานได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2527 คือ หนังสือรวมบทกวี คือ เงาพระจันทร์ในคมกวี คมคำคมกวี จากนั้นก็เขียนแนวประวัติศาสตร์ยุคชุนชิว-จั้นกั๋ว ผลงานอื่นๆก็ตามมาเรื่อยๆ จนมีความมั่นใจ
“เมื่อสำนักพิมพ์ดอกหญ้ามีนโยบายแปลหนังสือจากต้นฉบับภาษาจีนโดยตรง ก็มาชวนผมไปร่วมงาน จึงตัดสินใจออกจากราชการ ผมทำงานที่สำนักพิมพ์ดอกหญ้าโดยเป็นผู้ร่วมลงทุน และรับตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือแปลจากภาษาจีน ช่วงนั้นปี 2527-28 ผมได้ระดมมือแปลมาพูดคุย แปลงาน ช่วยพวกเขาปรับแก้ไขงาน จนได้ปั้นนักแปลจำนวนมาก ผลิตงานแปลจากภาษาจีน 50-60 เล่ม งานที่โดดเด่น มีชุดหนังสืออมตะพิชัยสงคราม 7 ฉบับ มรดกภูมิปัญญาจีน
“ต่อมา มาทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ เป็นบรรณาธิการบทความ ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา”
เงาพระจันทร์ในคมกระบี่ บทกวีของจอมยุทธ สู่ สามก๊ก ฉบับยอดยุทธ์
“เริ่มทำงานเขียน โดยเลือกทำแนวที่รักที่สุดคือ บทกวี แต่ตลาดคนอ่านบทกวีแคบ ก็หันมาทำงานแนวปรัชญาประวัติศาสตร์ ศึกษาประวัติศาสตร์ยุคชุนชิว-จั้นกั๋ว ซึ่งเป็นช่วงประวัติศาสตร์การหลอมรวมชาติจีน ออกหนังสือ “กว่าจะมาเป็นจีน ประวัติศาสตร์การก่อตั้งจักรวรรดิของจิ๋นซีฮ่องเต้
“แปลปรัชญาเต๋าของเล่าจื๊อ ที่ถือเป็นสุดยอดมรดกทางปัญญาของจีน นั่นคือคัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง ฉบับสำนวนแปล โดย “โชติช่วง นาดอน” แปลจากเต๋าเต็กเก็ง ฉบับหม่าหวางตุย ซึ่งเป็นต้นฉบับอายุเก่าแก่ที่สุด (จารึกบนแผ่นติ้วไม้ไผ่) แต่งานเขียนแนวปรัชญาก็ขายยากเช่นกัน ทำเพราะความรักความสนใจ
“ขณะเดียวกันก็หันมาจับแนวพิชัยสงคราม อาทิ ซุ่นวู แปลเป็นตอนๆ ลงในมติชน คนติดมาก นอกจากนี้ยังนำเสนอวรรณกรรมสามก๊กกับกลยุทธการบริหาร เขียนลงศิลปวัฒนธรรมเป็นตอนๆเป็นสิบๆปี ถือเป็นการเปิดฉากนำเรื่องสามก๊กมาใช้ในเชิงบริหาร ต่อมาก็มีงานแนวนี้ตามมามากมาย
“สำหรับงานเขียนที่แจ้งเกิด คือ บทกวีที่แปลจากภาษาจีน ชุด “เงาพระจันทร์ในคมกระบี่ บทกวีของจอมยุทธ” นี่แจ้งเกิดในฐานะ กวี , นักแปล , นักเขียน
“ต่อมาแปลบทปรัชญา ก็ได้รับความชื่นชม
“ส่วน “สามก๊ก” แจ้งเกิด ในแง่ “รายได้” จากการพิมพ์หนังสือ มันทำให้ชื่อ ทองแถม นาถจำนง โดดเด่นในเรื่องสามก๊ก
“ผลงานที่ดังมาก คือ กลยุทธ์สามก๊ก เป็นคนแปลบทภาพยนตร์ สามก๊ก เฉพาะหนังสือเกี่ยวกับสามก๊ก มี 7 เล่ม ได้แก่ สรรนิพนธ์ ขงเบ้ง, ขุนพลสามก๊ก, สุมาอี้, เบ้งเฮ็ก, สงครามสามก๊ก: กลยุทธ์ในการพลิกสถานการณ์, คำคมสามก๊ก
“ส่วนงานกวี งานปรัชญา คนจะรู้จักในนาม “โชติช่วง นาดอน” ทุกวันนี้ก็ยังมีคนที่ไม่รู้ว่าสองชื่อนี้คือคนเดียวกัน”
ชื่นชอบ เถายวนหมิง กวีจีนผู้ยิ่งใหญ่ใน “ความธรรมดา”
“ผมชอบปรัชญาเต๋า เถายวนหมิงนี้ ถือเป็นกวีเต๋าที่ยิ่งใหญ่
“ความคิดเต๋านี่มันคล้าย ๆ “โพธิสัตว์ธรรม” คือ “ตื่นรู้” เข้าใจถึงความ “ธรรมดา” แต่ไม่ออกบวช ยังเป็นฆราวาสประกอบสัมมาชีพ ช่วยเหลือผู้คนในด้าน “ปัญญา”อาชีพที่จะทำตัวอย่างนั้นได้ก็คือเกษตรกร กวี, ศิลปิน, นักปราชญ์สายเต๋า ส่วนใหญ่ที่ปลีกวิเวกได้อย่างมีสุขนั้น ส่วนใหญ่มีต้นทุนคือไม่ต้องถึงขั้นใช้แรงงานหนักแบบชาวนาชาวไร่ แต่เถายวนหมิงต้องทำนาเพาะปลูกด้วยตัวเอง การดำรงชีวิตในช่วงวัยชราจึงยากจน
“บทกวีของเถายวนหมิง โดดเด่นตรงที่ใช้คำศัพท์ธรรมดาสามัญ (คำศัพท์ในภาษาเขียนกับภาษาพูด สมัยโบราณต่างกันมาก) เขียนเล่าเรื่องวิถีชีวิตธรรมดา (ส่วนใหญ่เป็นฉากชีวิตชนบท) แต่มีนัยสอนการเข้าถึง “เต๋า” คือรักทุกสรรพสิ่งเท่า ๆ กัน เข้าใจความเป็นธรรมดาของชีวิต ฯ
“ผมปรารถนาชีวิตสมถะ สงบสุข แบบเถายวนหมิง แม้จะรู้ว่าบางช่วงก็ต้องมีปัญหาด้านเศรษฐกิจบ้าง”
คนไทยยังสื่อกับจีนลำบาก เพราะไม่เข้าใจ “วัฒนธรรมจีน” อย่างซึ้ง
ต่อคำถามความเห็นสถานการณ์ความรู้ความเข้าใจจีนของชาวไทย ทองแถมกล่าวว่า คนไทยยังขาด “ความเข้าใจเรื่องจีน” คือ รู้แต่ภาษา แต่ไม่รู้วัฒนธรรม เป็นจุดอ่อนมากๆ การเรียนภาษาด้านเดียว ไม่เรียนวัฒนธรรม ทำให้สื่อกับจีนไม่ได้
ไทยกลัวคอมมิวนิสต์กันมานานจากยุคต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ไม่ให้ความรู้เศรษฐศาสตร์ การเมือง รวมทั้งวัฒนธรรมชาวพรรคคอมมิวนิสต์แบบจีน ซึ่งมีรูปแบบจารีตเฉพาะตัวอยู่ เรื่องนี้คนไทยยังรู้ยังเข้าใจน้อยมาก
ในอนาคตเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐขยายใหญ่ขึ้น ก็จะมีปัญหา ถ้าผู้นำไม่เข้าใจจารีตของผู้นำจีน อำนาจรัฐ สังคมนิยมแบบจีน วิถีในการบริหาร ค่านิยม รูปแบบการเจรจา โดยเฉพาะพฤติกรรมชาวพรรคฯ ...ในอนาคตจะมีปัญหาได้หากไม่เข้าใจจีนให้ซึ้งในบริบทที่ว่ามานี้
เรายังขาดความรู้อย่างลงลึกในวัฒนธรรมท้องถิ่นแต่ละมณฑล ขาดงานคุณภาพเชิงลึก ...ถ้าคนทำงานด้านจีนศึกษา ไม่ใส่ใจก็น่าเสียดาย เพราะความรู้เหล่านี้จะช่วยเสริมการติดต่อด้านการค้าให้ลุล่วง เรายังขาดแคลนการสนับสนุนการศึกษาด้านนี้
คำแนะนำคนรุ่นหลังที่อยากทำงานด้านจีน
ในแง่การเขียน การแปล ต้องมีความอุตสาหะ อดทนมาก ๆ
การเป็นนักเขียนอาชีพที่จะพึ่งรายได้ จากการแปลภาษาจีน มันยากมาก หนึ่ง เราต้องมีความสามารถในเชิงวรรณศิลป์มาก ๆ สำนักพิมพ์จึงจะกล้าพิมพ์หนังสือให้เรา
สอง ต้องเข้าใจตลาดด้วย ต้องวิเคราะห์ให้เป็นว่า แนวเรื่องแบบใดจะขายได้ในตลาด เพื่อให้มีรายได้พอเลี้ยงชีพ
สาม เราควรมี “กล่อง” ไว้บ้าง คือมีงานมาสเตอร์พีซที่จะทำให้เราได้รับการยอมรับ แล้วสร้างแนวเรื่องของตนเองได้สำเร็จ เช่นว่าถ้าเรื่องกลยุทธ์บริหารโดยพิชัยสงครามจีนแล้ว อ่านงานของเราแล้วไม่ผิดหวัง ฯ
สี่ ควรมีทั้งงานแปลและงานค้นคว้าเขียนเอง
คลิกอ่าน รู้จัก “กวีจีนแนวเต๋า” โดยทองแถม นาถจำนง