นานมาแล้ว มีเจ้าสัวอยู่รายหนึ่ง หลังจากโดนลูกหนี้หลายต่อหลายคนเบี้ยวหนี้แล้วเบี้ยวหนี้อีก ถึงจุดหนึ่งเมื่อท่านเจ้าสัวเริ่มรู้สึกว่าตัวเองแก่ตัวลง และเหนื่อยหน่ายกับการไล่ทวงหนี้ จึงเรียกลูกหนี้ทั้งหมดมาประชุมกัน
ในห้องโถงของคฤหาสน์ เจ้าสัวถือตั๋วสัญญาของลูกหนี้ทั้งหมดไว้ ขณะที่เบื้องหน้าก็นำกระถางก่อกองไฟมาตั้งก่อนที่จะกล่าวต่อลูกหนี้ทั้งหมดว่า “ถ้าหากพวกเจ้าไม่มีเงินที่จะใช้หนี้จริงๆ ข้าก็จะยกหนี้ให้ทั้งหมด แต่มีข้อแม้หนึ่งคือ ขอให้พวกเจ้าแต่ละคนสัญญาสาบานกับข้าสักคำว่า เกิดมาชาติหน้าพวกเจ้าจะชดใช้ข้าอย่างไร หากคำสาบานของพวกเจ้าทำให้ข้าพึงพอใจ ข้าก็จะเผาตั๋วสัญญาของเจ้าทิ้งเสีย ณ เบื้องหน้านี้”
บรรดาลูกหนี้เมื่อได้ยินเงื่อนไขดังนั้นต่างก็ลิงโลด ยื้อยุดฉุดกระชากกันขอเป็นคนกล่าวคำสาบานก่อน ด้านลูกหนี้คนแรกที่ได้โอกาสก่อน รีบเอ่ยขึ้นว่า “เพื่อเป็นการชดใช้หนี้ ชาติหน้าข้าขอเกิดเป็นยอดอาชา ให้ท่านได้ควบขี่และฟาดโบยชั่วชีวิต” ด้านเจ้าสัวเมื่อได้ยินก็พึงพอใจ โยนตั๋วสัญญาของลูกหนี้คนดังกล่าวลงในกองเพลิง
ขณะที่ลูกหนี้คนถัดมากล่าวขึ้นว่า “ชาติหน้าข้าขอเกิดเป็นโคถึก ทำไร่ไถนารับใช้ท่านตลอดทั้งปีทั้งชาติ เพื่อเป็นการชดใช้หนี้ในชาตินี้” ท่านเจ้าสัวเมื่อได้ยินก็พยักหน้าแสดงความตกลง ก่อนโยนตั๋วสัญญาของลูกหนี้คนนั้นลงในกระถางเบื้องหน้า
ลูกหนี้คนถัดๆ มาพอเห็นลูกหนี้สองคนแรกกล่าวสาบานได้เป็นที่พอใจของท่านเจ้าสัว จึงเลียนแบบบ้างชาติหน้าขอเกิดเป็นลาม้า เป็นวัวควาย เป็นสัตว์ต่างๆ รวมถึงเป็นคนรับใช้ จนกระทั่งถึงคราวของลูกหนี้คนสุดท้าย
เจ้าลูกหนี้คนสุดท้าย ซึ่งติดหนี้เยอะที่สุด เมื่อเห็นคนอื่นๆ กล่าวกันหมดสิ้นไปแล้ว จึงเอ่ยขึ้นว่า “เรียนท่านเจ้าสัว เพื่อชดใช้หนี้สินที่ข้าก่อไว้ในชาตินี้ ชาติหน้าข้ายินยอมเกิดเป็นบิดาของท่านก็แล้วกัน!”
ฝั่งเจ้าสัวเมื่อได้ยินคำสาบานดังกล่าวก็โกรธหน้าดำหน้าแดง พลางชี้หน้าด่าลูกหนี้คนสุดท้ายว่า “บัดซบ! เจ้าติดค้างหนี้ข้ามากมายขนาดนี้ ถ้าจะไม่คืนก็ไม่คืน ชาติหน้ายังจะมีหน้ามาเอารัดเอาเปรียบขอเกิดเป็นพ่อข้าอีก ไสหัวไปให้พ้น!”
ก่อนที่จะถูกคนรับใช้ของท่านเจ้าสัวหิ้วตัวออกจากคฤหาสน์ ลูกหนี้คนสุดท้ายก็ปากคอสั่นพลางกล่าวอธิบายว่า “ท่านเจ้าสัวอย่าเพิ่งโมโห ฟังข้าอธิบายก่อน ... เพราะว่าข้าติดหนี้ของท่านมากเกินไป ชาติหน้าแม้จะเกิดมาเป็นวัวเป็นม้าก็คงชดใช้ได้ไม่หมด ข้าเลยเห็นว่าขอชาติหน้าเกิดมาเป็นบิดาของท่าน เพื่อทำงานหนัก ให้กำเนิด อบรมเลี้ยงดู ประกอบกิจการสะสมทรัพย์สินเงินทองไว้ให้ท่านเมื่อเติบใหญ่ ให้ท่านได้เสพสุขได้ทั้งชาติไม่มีหมด ข้าเห็นว่าอย่างนี้จึงจะพอชดใช้หนี้ที่ชาตินี้ข้าติดค้างท่านอยู่ เหตุผลเช่นนี้ท่านเห็นว่าเหมาะสมหรือไม่?!?”
เรียบเรียงจาก 《笑得好》โดย สือเฉิงจิน (石成金), ราชวงศ์ชิง