เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์- ปักกิ่งตัดลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่สองในปีนี้ และนับเป็นครั้งที่สามจากเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว พร้อมกับตัดลดค่าใช้จ่ายในการอัดฉีดทุนให้แก่ธุรกิจที่กำลังขาดแคลนเงินสด
ธนาคารประชาชนจีน หรือกลางจีนได้ประกาศเมื่อวันอาทิตย์(10 พ.ค.) ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะเวลา 1 ปีลง 25 เบซิสพอยท์ (BPS) หรือราว 0.25% ลงมาอยู่ที่อัตรา 5.1% และพร้อมกันนี้ก็ได้ประกาศปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลงในอัตราที่เท่ากันมาอยู่ที่ 2.25% โดยมีผลในวันจันทร์( 11 พ.ค.) เป็นต้นไป
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ นับเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 หลังจากการลดดอกเบี้ยในเดือน พ.ย. ปีก่อน และเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว ขณะเดียวกันก็เพื่อหนุนให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินของผู้ประกอบการลดลงอีก
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นสิ่งที่คาดหมายกันมาช่วงหนึ่งแล้ว เนื่องจากกระแสกังวลเกี่ยวกับว่างงานและการปิดกิจการของภาคธุรกิจ และธนาคารกลางจีนได้ประกาศในเดือนที่แล้วว่าจะมีการใช้มาตรการทางการเงินเพื่อรักษาสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ และที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนก็ยังได้ระบุว่าจะให้ความสำคัญกับความคล่องตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการสถานการณ์การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
นาย เจ้า เฉวียนหมิน ศาตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์แห่ง สถาบันไชน่า เอ็คเซคคิวทีฟ ลีดเดอร์ อคาเดมี่ ผู่ตง (CELEP) ได้ออกมาให้ความเห็นว่า จีนมีความจำเป็นต้องรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อรักษาความต้องการในการจ้างงาน
เศรษฐกิจจีนได้ชะลอตัวลงจาก 7.4 เปอร์เซ็นต์ ในปีที่แล้ว เป็น 7 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสแรกของปีนี้ นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์กันว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ไม่น่าจะถึง 7 เปอร์เซ็นต์ตามเป้าที่ตั้งไว้ ในขณะที่อัตราการส่งออกลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ในเดือนมี.ค.และลดลงเหลือ 6.4 เปอร์เซ็นต์ในเดือนที่แล้ว
นอกจากภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจแล้ว แรงกดดันจากภาวะเงินฝืดยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จีนตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นเกณฑ์ชี้วัดเงินเฟ้อต่างอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าพอใจ โดยดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวลงติดต่อกันยาวนานถึง 37 เดือน ร่วงลงเหลือ 4.6% ในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวมาอยู่ที่ 1.5%
นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง กำลังผลักดันให้ธุรกิจขนาดย่อมมีโอกาสได้รับเงินทุนมากขึ้น โดยการปฎิรูปทางการเงินจะทำให้การกู้ยืมและฝากเงินเป็นไปกลไกตลาดมากขึ้น
นายหลู่ เจิงเว่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารอินดัสเทรียล กล่าวว่า การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเป็นสัญญาณว่าจะมีการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายครั้งใหญ่ นอกจากนี้การลดอัตราดอกเบี้ยยังช่วยลดภาระในต้นทุนทางการเงินให้แก่ภาคธุรกิจได้อีกด้วย