ASTVผู้จัดการออนไลน์ -เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในแผ่นดินใหญ่ มีวลีที่โจษจัน “ความเร็วแบบเซินเจิ้น” (深圳速度) นั่นก็คือ การก่อสร้างตึกระฟ้าศูนย์การค้าระหว่างประเทศ(深圳国贸大厦) ในนครเซินเจิ้น ระหว่างเดือนพ.ย. ปี ค.ศ. 1982 (2525) ถึง เดือนธ.ค. ปี ค.ศ. 1985 (2528) รวมระยะเวลา 37 เดือน คิดเป็นอัตราความเร็ว “สามวันต่อหนึ่งชั้น” ซึ่งก็ถือเป็นฝีมือการก่อสร้างที่เหนือชั้นไร้เทียมทานของจีนยุคสมัยนั้น
เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท บรอด ซัสเทนนาเบิล คอนสตรักชั่น (Broad Sustainable Construction ชื่อย่อ BSC) โดยนาย เซียว ฉางเกิง รองประธานบริษัทฯ ได้ออกมาประกาศศักดาเป็นผู้ก่อสร้างตึกระฟ้าได้เร็วที่สุดในโลก จากการประกอบตึกระฟ้าขนาดย่อม 57 ชั้น “มินิ สกาย ซิตี้” (Mini Sky City/小天城) ในเมืองฉังซา แล้วเสร็จเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา โดยใช้เวลาทำงานก่อสร้างเพียง 19 วัน และกำลังเปิดการซื้อขายเช่าห้องในเดือนพ.ค.นี้แล้ว
สำหรับบริษัท บรอด ซัสเทนนาเบิล คอนสตรักชั่น หรือ บีเอสซี (远大可建科技公司) ผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างตึก มินิ สกาย ซิตี้ นี้ เป็นบริษัทลูกของบอร์ด กรุ๊ป (远大科技集团 - Broad Group) ซึ่งเป็นกลุ่มเครือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจก่อสร้างและบริการพลังงานในนครฉังซา มณฑลหูหนัน ตอนกลางของประกาศจีน
บีเอสซี เป็นจ้าวนวัตกรรมการก่อสร้างด้วยระบบประกอบชิ้นส่วน(Assembly) ในปี 2555 บีเอสซี ประกาศแผนผุดตึกระฟ้าขนาดใหญ่ยักษ์ 220 ชั้น ชื่อ “สกาย ซิตี้” (Sky City/天空城市) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองฉังซาเช่นกัน และจะทุบสถิติตึกระฟ้าที่สูงที่สุดในโลกด้วยความสูง 838 เมตร แซงหน้าอาคารเบิร์จ คาลิฟา หรือหอคอยดูไบ 10 เมตร (828 เมตร)
แต่ต่อมาก็มีรายงานข่าวโครงการก่อสร้าง สกาย ซิตี้ ประสบปัญหาขั้นตอนการอนุมัติ และมีการสั่งพักงานก่อสร้างฯ ขณะนี้ บีเอสซียังรอการอนุมัติที่สมบูรณ์และจะดำเนินการก่อสร้างสกาย ซิตี้ 220 ชั้น ต่อให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
หลังจากที่ มินิ สกาย ซิตี้ แล้วเสร็จ บีเอสซีก็ประกาศอย่างเต็มภาคภูมิว่าเป็นผู้ทำสถิติการก่อสร้างตึกได้เร็วที่สุดในโลก ในอัตราเร็ว “หนึ่งวันต่อสามชั้น” ซึ่งก็ได้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ในงานก่อสร้างอาคารของประเทศจีน
“มีเพียงคนจีนเท่านั้นที่ทำได้ นับถือ...นับถือ!”
ตอนที่ มินิ สกาย ซิตี้ แล้วเสร็จ ก็มีการจัดทำวิดีโอแบบไทม์แลปซ์ (time-lapse video) ความยาว 4 นาที แสดงขั้นตอนการประกอบตึก มินิ สกาย ซิตี้ คลิปฯนี้ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ยูทิวป์ เป็นที่ฮือฮาในสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลก ชาวเน็ตจีนผู้หนึ่งอุทานว่า “นึกไม่ถึงเลยว่า นี่คือความเร็วของจีน!” ชาวเน็ตอินเดียคนหนึ่ง ว่า “มีเพียงคนจีนเท่านั้นที่ทำได้ นับถือ...นับถือ!” ฯลฯ
มินิ สกาย ซิตี้ ใช้วิธีการประกอบอาคารแบบโมดูลาร์ (modular method) ประกอบโครงเหล็กและกระจกขึ้นเป็นตึกรูปทรงแท่งสี่เหลี่ยม การสร้างอาคารโดยนำวัสดุหรือชิ้นส่วนสำเร็จรูปมาประกอบที่หน้างานเช่นนี้ ทำให้งานก่อสร้างเป็นไปอย่างรวดเร็ว
สำหรับตัวเลขอัตราเร็วในการก่อสร้าง 19 วันนี้ เป็นการนับเฉพาะวันที่มีการทำงานก่อสร้างรวมกัน ได้ 19 วัน นาย เซียว รองประธาน บีเอสซี แจงรายละเอียดการสร้างมินิ สกายซิตี้ว่า คนงานได้ใช้ระยะเวลา 4 เดือนครึ่ง ประกอบชิ้นส่วนต่างๆของอาคาร จำนวน 2,736 ยูนิต ก่อนที่จะเริ่มต้นการก่อสร้างซึ่งแบ่งเป็นสองช่วง โดยมีการพักการทำงานช่วงอากาศเลวร้ายในฤดูหนาว การก่อสร้าง 20 ชั้นแรก เสร็จในปีที่แล้ว(2557) และอีก 37 ชั้น ก่อสร้างระหว่างวันที่ 31 ม.ค. ถึงวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา
สำหรับอาคาร 57 ชั้นหลังนี้ มีพื้นที่รวม 180,000 ตารางเมตร ภายในอาคารมีทางเดินเท้ายาวถึง 3.6 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยห้องโถงสูง 10 เมตร จำนวน 19 ห้อง พื้นที่สำนักงาน/ร้านค้าซึ่งจุพนักงานได้ถึง 4,000 คน และอพาร์ทเมนท์ที่เป็นส่วนที่อยู่อาศัยอีก 800 ห้อง มินิ สกาย ซิตี้ เสมือนเมืองน้อยๆเมืองหนึ่ง มีทั้งโรงเรียนอนุบาล สถานที่พักคนชรา ศูนย์อยู่ไฟคุณแม่หลังคลอด ศูนย์ออกกำลังกาย 6 แห่ง โรงภาพยนตร์ ห้องแสดงคอนเสิร์ต
นาย เซียว ให้สัมภาษณ์กับสื่อจีน ถึงความปลอดภัยของมินิ สกายซิตี้ “สามารถต้านแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ และแม้เกิดการจู่โจมจากลัทธิก่อการร้าย ก็ไม่อาจก่อความเสียหายแก่อาคารเลย”
มินิ สกาย ซิตี้ มิใช่โครงการก่อสร้างอาคารด้วยอัตราเร็วชนิดโลกตะลึงโครงการแรกของบีเอสซี เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เดือนมิ.ย. พ.ศ. 2553 บีเอสซี ได้ผุดโรงแรม 15 ชั้น สูง 50 เมตร ในเมืองฉังซา แล้วเสร็จ โดยใช้เวลาไม่ถึง 6 วัน ตัวตึกสามารถต้านทานแผ่นดินไหวระดับ 9 ริกเตอร์ ในปีถัดมา 2554 บีเอสซีสร้างโรงแรม T30 Hotel ขนาด 30 ชั้น ในอำเภอเซียงอิน เมืองชิวหยัง มณฑลหูหนัน ในเพียง 15 วัน เฉลี่ยสองชั้นต่อวัน! และต้านทานแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ได้เช่นกัน
นาย เฉิน เซียงเฉียน วิศวกรของบีเอสซี กล่าวว่า ระบบประกอบอาคารแบบโมดูลาร์ ได้ถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารสูงในประเทศต่างๆ รวมถึงอังกฤษและสหรัฐฯ แต่ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาคารแบบประกอบชิ้นส่วนพวกนี้ มีข้อจำกัดในด้านแบบอาคาร ซึ่งในที่สุดภาพทิวทัศน์เมืองก็จะมีแต่แบบตึกหน้าตาคล้ายๆกันไปหมด
"การก่อสร้างอาคาร มินิ สกาย ซิตี้ 57 ชั้น ในนครฉังซา ในเวลา 19 วัน ได้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ในงานก่อสร้างอาคารของประเทศจีน ด้วยอัตราเร็วการก่อสร้าง “หนึ่งวันต่อสามชั้น"
ขอนำคลิปวีดีโอ Time-lapse ของ ยูทูวป์ แสดงการก่อสร้างอาคาร มินิ สกาย ซิตี้ 57 ชั้น ในเวลา 19 วัน มาให้ชมกันอีกครั้ง