xs
xsm
sm
md
lg

โอลิมปิกแดนมังกรมลพิษลด ทารกจ้ำม่ำขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทารกจีนที่คลอดช่วงจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก2008 มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 23 กรัม - เอเอฟพี
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - มาตรการลดมลพิษในอากาศอย่างเข้มงวดของกรุงปักกิ่งช่วงที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเมื่อปีพ.ศ. 2551 ให้ผลดีอย่างไม่คาดฝัน

ผลการศึกษาของคณะนักวิจัย ซึ่งนำโดยนายเดวิด ริช นักระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยศูนย์การแพทย์รอเชสเตอร์ในนครนิวยอร์กพบว่า ทารก ซึ่งคลอดจากมารดาในช่วงเวลาที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก มีน้ำหนักตัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอีก 23 กรัม เมื่อเปรียบเทียบกับทารก ซึ่งคลอดในช่วงเดียวกันของปีก่อนหรือหลังจากปีพ.ศ. 2551 โดยทารกที่เกิดในปีพ.ศ. 2551 มีน้ำหนักเฉลี่ย 3,400 กรัม

รายงานผลการศึกษาดังกล่าวมีการพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Environmental Health Perspectives โดยทำการศึกษาจากข้อมูลการเกิดของทารกจำนวน 83,672 คน ซึ่งคลอดตามกำหนด และมีมารดาอาศัยอยู่ในเขตซีเฉิง ไห่เตี้ยน เฟิงไถ และเฉาหยังในกรุงปักกิ่งระหว่างปีพ.ศ. 2550-2552

สตรีราว 5,000 คนในจำนวนเหล่านี้มีอายุครรภ์ 8 เดือน ซึ่งเป็นอายุครรภ์ช่วงสุดท้าย ขณะกำลังมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกระหว่างวันที่ 8 ส.ค.- 24 ก.ย. 2551 พอดี ขณะที่สตรีอีกกลุ่มจำนวนเท่ากันคลอดลูกในช่วงเดือนดังกล่าวของปีพ.ศ. 2550 และในปีพ.ศ. 2552 อันเป็นช่วงที่กรุงปักกิ่งมิได้ดำเนินมาตรการลดมลพิษในอากาศ

ทั้งนี้ ทารกแรกเกิด ซึ่งมีน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัมจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสติปัญญา อีกทั้งยังมีแนวโน้มการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่อไปในอนาคต โดยในช่วงอายุครรภ์ตอนปลาย ที่คุณแม่ใกล้จะคลอดนั้น ตัวอ่อนจะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วมากที่สุด

แม้นักวิจัยคณะนี้ไม่ทราบว่า มีกลไกทางชีววิทยาใด ที่ส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักลดลง แต่ก็ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่สารมลพิษอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับช่วงของพัฒนาการอันรวดเร็วนั้น โดยการศึกษาครั้งนี้ไม่พบผลกระทบสำคัญ ที่มีต่อน้ำหนักของตัวอ่อนในช่วงก่อนเดือนที่ 8

ด้านศาสตราจารย์หว่อง ซือ หมิง ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง ซึ่งไม่ได้ร่วมการวิจัยกล่าวว่า แม้ควรมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อยืนยันผลการศึกษาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ระเบียบวิธีของการศึกษาชิ้นนี้มีความแน่นมาก และผลการศึกษาก็มีความสอดคล้องกับงานศึกษาอื่น ๆ

ทั้งนี้ จากผลการวิเคราะห์ทางสถิติ ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า มลพิษในอากาศมีผลต่อน้ำหนักของทารก ไม่ใช่อายุและการศึกษาของมารดา หรือถิ่นอาศัย อายุครรภ์ หรือภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์แต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น