xs
xsm
sm
md
lg

วิถีชีวิตยุค “บริโภคปิโตรเลียม” กับชะตากรรมผู้เสี่ยงชีวิตกับโรงงาน PX

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

ภาพถ่ายโดยสำนักข่าวซินหวา เปลวเพลิงและควันไฟที่โรงงานโรงงานผลิตพาราไซลีน หรือ px เถิงหลงฟังทิง ในจังโจว มณฑลฝูเจี้ยน เมื่อวันที่ 7 เม.ย. โดยไฟได้ลุกไหม้และเกิดระเบิดเมื่อคืนวันจันทร์(6 เม.ย.) โดยไฟได้ไหม้โกดังเก็บน้ำมันของโรงงานด้วย สื่อท้องถิ่นระบุแรงสั่นสะเทือนราวแผ่นดินไหว ไกลถึง 50 กม. (ภาพเอพี)
ASTVผู้จัดการออนไลน์--ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจีน เกิดปรากฏการณ์ใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2519 ที่ทำให้เกิด “การปฏิวัติเสื้อผ้า” ในจีนระหว่างปี 2519-2522 “การปฏิวัติ” ดังกล่าว ไม่เพียงทำให้เสื้อผ้าบนเรือนร่างของชาวจีนส่วนใหญ่ เปลี่ยนจากเสื้อผ้าฝ้ายธรรมชาติ ไปเป็นเสื้อผ้าใยสงเคราะห์ ( petro chemical fiber) ที่สำคัญกว่านี้คือ การปลูกฝ้ายจำนวนมากถูกตัดออกจากแผนการปลูกพืชไร่แห่งชาติ

โรงงานผลิตเส้นใยสังเคราะห์ในนครเทียนจิน ที่ผุดขึ้นระหว่างการ “ปฏิวัติเสื้อผ้า” นี้เอง มีนัยสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลงยุคสมัย และเป็นหลักหมายแห่ง “ปัจจัยจำเป็น PX” ในชีวิตประจำวันของผู้คน อุตสาหกรรม PX ที่มีชื่อเต็ม คือ พาราไซลีน (Paraxylean) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสำหรับผลิตโพลิเอสเตอร์หรือเส้นใยสังเคราะห์ ไฟเบอร์ ขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่ม น้ำอัดลม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ฟิล์ม ภาชนะบรรจุอาหาร ถุงที่ใช้สำหรับเก็บความร้อน

ดังนั้น PX มีบทบาทพื้นฐานในปัจจัยดำเนินชีวิตประจำวัน ในการยกระดับมาตรฐานชีวิตตามครรลองของสังคมสมัยใหม่ทั่วไป ที่จีนได้ก่อร่างมาเมื่อเกือบ 40 ปี แล้ว
                                                      ******
เมื่อ PX กลายเป็นผู้ร้ายในสิ่งแวดล้อมจีน
แต่แล้ว...สัญญาณเตือนภัยสารพิษจากโรงงานเคมี ดังลั่นอีกครั้ง จากเหตุระเบิดที่โรงงานเถิงหลงฟังทิง (Dragon Aromatics) ซึ่งเป็นโรงงาน PX ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจท่าเรือกู่เหลยของเมืองจังโจว มณฑลฝูเจี้ยน เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยนับเป็นการระเบิดครั้งที่สองในรอบสองปี

รายงานข่าวจากสื่อท้องถิ่น บรรยายภาพ แรงระเบิดที่โรงงานเถิงหลงฟังทิง สั่นสะเทือนราวแผ่นดินไหว โดยผู้คนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 50 กิโลเมตร รู้สึกถึงแรงสั่นเทือนนี้ มีผู้บาดเจ็บจากเหตุระเบิดฯนี้ อย่างน้อย 14 คน ทางการต้องระดมเจ้าหน้าที่หน่วยดับเพลิงจากเมืองต่างๆกว่า 700 คน พร้อมทั้งกองพันทหารป้องกันสารเคมี 120 นาย สวมหน้ากาก เข้าร่วมปราบพระเพลิง โดยเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้ในเช้าวันถัดมา

ในรายงานข่าวได้เผยถึงความหวาดกลัวพิษภัยจากสารเคมีของประชาชน ผู้เห็นเหตุการณ์หลายคนบอกกับสื่อจีน เป่ยจิง นิวส์ ว่ากลุ่มผู้อาศัยในเขตใกล้โรงงาน ได้พากันย้ายออกไปยังบริเวณที่ห่างจากบ้านของพวกเขา ชาวบ้านบางกลุ่มเผ่นหนีลงเรือไปอยู่เกาะใกล้เคียงที่ไกลออกไปถึง 18 กิโลเมตร

ชาวจีนต่างกลัว PX จากพิษสงของมันที่อาจทำลายอวัยวะในช่องท้อง และระบบประสาท และอาจก่อมะเร็งในคนที่สูดหายใจหรือดูดซึมสารนี้ผ่านทางผิวหนัง
ผู้ประท้วงโครงการ PX ในต้าเหลียน ชูป้าย “ไม่เอา PX” บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่เทศบาลนครต้าเหลียน (ภาพ เอพี)
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีการประท้วงใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมนับพันนับหมื่นเพื่อต่อต้านโครงการพาราไซลีน หลายๆกรณีทั่วประเทศจีน นับเป็นโครงการอุตสาหกรรมที่ถูกต่อต้านจากประชาชนมากที่สุดในจีน

การต่อต้านโครงการพาราไซลีนครั้งแรกในจีน คือ กรณีประท้วงที่เมืองซย่าเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ปี พ.ศ. 2550 โดยมีประชาชนเข้าร่วมนับหมื่นๆคน ในที่สุดรัฐบาลยอมเปลี่ยนที่ตั้งโรงงานฯไปยังเมืองจังโจว มณฑลฝูเจี้ยน

การประท้วงใหญ่ที่คล้ายคลึงกันนี้ เกิดที่เมืองอันหนิงในต้าเหลียน เมืองเอกของมณฑลเหลียวหนิงเมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยรัฐบาลสั่งหยุดการผลิตและย้ายที่ตั้งโรงงานฯ ปีถัดมา (2555) ชาวหนิงปัวหลายพันคนก็ออกมาประท้วงต่อต้านการขยายโครงการ PX ในเจิ้นไห่ เมืองหนิงปัว มณฑลเจ้อเจียง ประสบชัยชนะโดยรัฐบาลยอมระงับโครงการฯ

ทว่า การประท้วงใหญ่ต่อต้านโครงการก่อสร้างโรงงาน px มูลค่ากว่า 3,500 ล้านหยวน ซึ่งเป็นการจับมือร่วมทุนระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นเม่าหมิง กับผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ China Petroleum and Chemical Corp. (Sinopec) ในเม่าหมิง มณฑลก่วงตง ประชาชนหลายพันคนหลั่งไหลออกมาบนท้องถนนเพื่อหยุดโครงการที่อาจปล่อยสารพิษสู่อากาศ ขยายวงไปยังเซินเจิ้น และก่วงโจว จนเกิดการปะทะระหว่างตำรวจปราบจลาจลและผู้ชุมนุม ในที่สุดทางการก็ออกมาว่าแถลงว่า การประท้วงนี้ ผิดกฎหมาย ทำลายความสงบเรียบร้อยของสังคม มีการจับกุมผู้ประท้วง 18 คน บางแหล่งข่าวชี้ว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 15 คน บาดเจ็บ กว่า 300 คน แต่หน่วยพิทักษ์สันติราษฎร์ หรือตำรวจ ยืนยันมีแค่ผู้บาดเจ็บ 15 ราย

การประท้วงต่อต้านโรงงาน พีเอ็กซ์ ที่บ้างก็ดูเหมือนประชาชนจะได้ชัยชนะ บ้างก็ต้องเลือดตกยางออก ถูกตำรวจลากตัวไปเข้าห้องขังดั่งกรณีการประท้วงที่เม่าหมิง ไม่ผิดอะไรกับ “เกมแมวไล่จับหนู”

จากความสำเร็จในการประท้วงโครงการ พีเอ็กซ์ ครั้งแรกของประเทศจีน ที่เมืองซย่าเหมิน กลุ่มนักเฝ้ามองชี้แบบรูปการณ์ของประเด็นขัดแย้งนี้ ประการแรกคือ การตอบสนองของเจ้าหน้าที่ต่อประเด็นนี้ไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดเลย ขณะเดียวกันก็มีกระแสคาดเก็งเกี่ยวการก่อสร้างโรงงาน PX โดยมีข่าวฯกระจายสู่สาธารณะอย่างรวดเร็ว จากนั้นประชาชนในท้องถิ่นก็ออกมาชุมนุมประท้วง และรัฐบาลท้องถิ่นก็พยายามอธิบายฯ หลายกรณีจบลงโดยโครงการถูกย้ายไปสร้างในเขตอื่น หรือไม่ก็ยกเลิกไป
ตำรวจสลายการประท้วงต่อต้านโครงการ PX ในเม่าหมิง มณฑลก่วงตง เมื่อเดือนเม.ย. ปีที่แล้ว (2557) ระหว่างการปะทะ (ภาพ รอยเตอร์ส)
PX “ปัจจัยจำเป็นในชีวิตประจำวัน”
แม้พญามังกร โดยนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ประกาศ “สงครามปราบมลพิษ” และกระแสต่อต้านการปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมกำลังมาแรง แต่ถึงที่สุดแล้ว จีนก็ยังต้องการขยายโครงการพาราไซลีน ยิ่งวิถีชีวิตในยุคไฮเทค การบริโภคพาราไซลีนก็ยิ่งสูงขึ้นๆ จากอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ต่างๆ เช่น อุปกรณ์ในคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์จอแบน ไปยันสิ่งของใหญ่ๆอย่างป้ายโฆษณาไฟลีด (LED)

พาราไซลีน ได้กลายเป็น “ปัจจัยจำเป็น” ในชีวิตประจำวันของผู้คนสังคมสมัยใหม่ ข้อมูลการปิโตรเลียมจีนเผยตัวเลขที่น่าตื่นตะลึง นั่นคือ ชั่วชีวิตคนๆหนึ่ง “กินน้ำมัน” (ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม) 551 กิโลกรัม “สวมใส่น้ำมัน” (ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม) 290 กิโลกรัม และ “อยู่อาศัยในน้ำมัน” (ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม) 3,780 กิโลกรัม นี่คือ วิถีชีวิตที่ “บริโภคปิโตรเลียม” ที่คนทั่วไปคาดไม่ถึง และถอยกลับกันไม่ได้แล้วสำหรับสังคมสมัยใหม่

จากปี 2553 มาประเทศจีนได้กลายเป็นผู้บริโภคและผู้ผลิต PX รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยตัวเลขแตะระดับ 16 ล้านตันในปี 2556 กว่าครึ่งของการบริโภคฯนี้ต้องพึ่งพิงการนำเข้า ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องพยายามผลักดันการผลิตในประเทศ และโครงการพีเอ็กซ์ก็เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับกลุ่มบริษัทภาคน้ำมัน

รัฐบาลท้องถิ่นเม่าหมิง เสนอโครงการก่อสร้างโรงงาน PX เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นในปี 2552 สื่อท้องถิ่นที่เป็นของรัฐ คือ เม่าหมิง เดลี โต้กระแสประท้วง โดยโฆษณาคำขวัญในหน้าหนึ่งของสื่อฉบับภาษาจีน ว่า “PX เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างชีวิตที่มีความสุข”

หนังสือพิมพ์ประชาชน สื่อกระบอกเสียงพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็เคยระบุในสื่อฉบับภาษาจีน ชี้ว่า “PX มิได้เป็นสารก่อมะเร็งที่เลวร้ายมากไปกว่ากาแฟ”

สถานีโทรทัศน์ในมณฑลอวิ๋นหนัน หรือยูนนาน ก็นำเสนอซีรีย์สสารคดีเกี่ยวกับการผลิต PX ในญี่ปุ่น ที่แสดงให้เห็นภาพอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมดำรงอยู่ควบคู่กันไปโดยไม่มีประเด็นใด

แต่เม่าหมิงก็มีประวัติแย่ในด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม รายงานข่าวของ Oriental Outlook หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ในเครือซินหวา ระบุว่าเม่าหมิงเป็นจอมละเมิดขั้นตอนการรับรองหรือประเมินด้านสิ่งแวดล้อม

การประท้วงฯในซย่าเหมิน ทำให้รัฐบาลย้ายสถานที่ตั้งโรงงานฯ PX ไปยังเขตเศรษฐกิจท่าเรือกู่เหลยในเมืองจังโจว มณฑลฝูเจี้ยน เพื่อลดกระแสกดดันจากสาธารณชน และได้กลายเป็นแบบอย่างในการรับมืออย่างบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นด้วยการประชาสัมพันธ์โครงการ แต่แล้วโรงงาน PX ในจังโจวก็ระเบิดถึงสองครั้งในรอบสองปี

สิ่งที่สาธารณชนต้องการก็คือ ความโปร่งใสมากกว่านี้ และการได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตัดสินใจ ท่าทีที่ออมชอมมากขึ้นในการเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประเมินผลกระทบด้านต่างๆ รายงานจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านปิโตรเคมี การจัดทัศนะศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ไปถึงการประชาสัมพันธ์ “เชิงบวก” ที่จำเป็นอื่นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น