xs
xsm
sm
md
lg

ค่าแรงพุ่งสูงลดศักยภาพการแข่งขันของเมืองก่วงโจว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

  คนงานง่วงเหงาหาวนอนที่โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในเมืองหูเหมิน มณฑลก่วงตง – รอยเตอร์
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - บริษัทไต้หวัน ฮ่องกง และชาติอื่น ๆ พากันเผ่นหนีต้นทุนการผลิต ที่พุ่งสูงในมณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) โดยย้ายฐานการผลิตไปยังชาติเพื่อนบ้านของจีนแทน

แม้ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลของทางการ แต่นายอู๋ เจิ้น ฉาง ประธานสมาคมบริษัทลงทุนของไต้หวันในเมืองก่วงโจว (กวางเจา) ระบุว่า มีบริษัทของไต้หวันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ได้ย้ายโรงงานผลิตจากมณฑลก่วงตงไปยังชาติเพื่อนบ้านในช่วง 2-3 ปีทีผ่่านมา และมีแนวโน้มว่า จะมีบริษัทย้ายออกไปมากขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า

ด้านสมาพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกงเปิดเผยตัวเลขเมื่อวันอังคาร (10 ก.พ.) ว่า มีผู้ผลิตของฮ่องกง 32,000 รายเปิดโรงงานในมณฑลก่วงตง และจ้างคนงานบนแผ่นดินใหญ่ราว 5 ล้านคน เทียบกับตัวเลขเมื่อปี 2545 ซึ่งมีผู้ผลิตฮ่องกงมากกว่า 63,000 รายเปิดโรงงานบนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลแห่งนี้ และจ้างคนงานกว่า 11 ล้านคน

ขณะที่นายจู เซี่ยวตัน ผู้ว่าการมณฑลก่วงตงประกาศลดอัตราการว่างงานในมณฑลเป็นภารกิจสำคัญอันดับแรก โดยคาดว่า อัตราการว่างงานจะเพิ่มถึงร้อยละ 3.5 ในปีนี้ จากร้อยละ 2.44 เมื่อปี 2557

จากการเปิดเผยของนายอู๋ ต้นทุนค่าแรงทั่วเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูงเจียงมีอัตราเฉลี่ยเดือนละประมาณ 650 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนงาน 1 คน เทียบกับ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯในอินโดนีเชีย 250 ดอลลาร์สหรัฐฯในเวียดนาม และ100 ดอลลาร์สหรัฐฯในกัมพูชา

ส่วนต้นทุนค่าจ้างแรงงานในเมืองก่วงโจวมีอัตราเฉลี่ยเดือนละประมาณ 4,500 หยวน หรือ 730 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อรวมเงินเดือน ค่าทำงานล่วงเวลา บวกกับค่าประกันภัย และการจ่ายด้านสวัสดิการ

ขณะที่ค่าทำงานล่วงเวลาในเมืองแห่งนี้ยังมากเป็นสองเท่าของอัตราเงินเดือนขั้นพื้นฐานบนแผ่นดินใหญ่ และมากกว่าอัตราเงินเดือนขั้นพื้นฐานในไต้หวัน 1.3 เท่า

นอกจากนั้น ผู้ผลิตยังต้องเสียค่าภาษีนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรกลอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานประจำมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิกฮ่องกงระบุว่า การบอกว่าต้นทุนแรงงานในก่วงตงสูงเกือบเท่ากับระดับในไต้หวันนั้นเป็นการกล่าวเกินจริง นอกจากนั้น เขายังเสริมด้วยว่า ค่าจ้างเป็นเพียงส่วนปลีกย่อยหนึ่งเท่านั้นในต้นทุนการผลิตทั้งหมด และสาเหตุที่ทำให้ผู้ผลิตพากันปิดโรงงานก็เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยทำให้ตลาดหดตัว

นายไฉ กว่อง หวา ( Chai Kwong-Wah) ซึ่งเข้ามาตั้งบริษัทในนครเซินเจิ้นเมื่อปี 2536 เพื่อทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเฮลโลคิตตีส่งขายที่ญี่ปุ่น และตุ๊กตาดิสนีย์ ตุ๊กตาสัตว์ต่าง ๆ ส่งขายสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปกล่าวว่า การย้ายฐานผลิตจากก่วงตงเป็นเรื่องที่เหมาะสม โดยเพื่อน ๆ ของเขา ซึ่งล้วนเป็นผู้ผลิตจากฮ่องกงและไต้หวันได้ย้ายโรงงานไปอยู่ในเวียดนามกันมากขึ้น

“ ขณะนี้ผมเองมีคนงาน 3,000 คนในโรงงานที่เวียดนาม เพื่อผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อจากญี่ปุ่และสหภาพยุโรปทั้งหมด” เขากล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น