หัว กวงลู่ เป็นบัณฑิตที่มีชื่อเสียงในยุคราชวงศ์หมิง ทั้งเป็นจิตรกรฝีมือเยี่ยม หากปัญญาชนคนใดมีโอกาสได้วิสาสะกับคนตระกูลหัวก็อาจถือได้ว่าไม่เสียชาติเกิด ยิ่งผู้ใดมีผลงานจากปลายพู่กันของ หัว กวงลู่ไว้ในครอบครองแล้วก็ต้องนับว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งทีเดียว
มีชายขี้อวดแซ่หลิวผู้หนึ่ง เมื่อครั้งที่เขามีโอกาสไปออกเดินทางท่องเที่ยวไปกับกลุ่มสหายในดินแดนเจียงหนาน เมื่อมาถึงฮุ่ยซาน ในแถบอู๋ซี กลุ่มสหายเมื่อพบเห็นชายแซ่หลิวหยิบพัดเล่มหนึ่งที่มีบทกวีและภาพวาดระบุชื่อ หัว กวงลู่ ขึ้นมาพัดโบก แสร้งว่าเป็นการคลายความร้อน ก็แสดงความตื่นเต้นขึ้นมาทันทีราวกับเห็นของวิเศษ หลังจากซุบซิบกันอยู่พักใหญ่เหล่าสหายของชายแซ่หลิวก็ลงความเห็นกันว่า พัดดังกล่าวมิใช่พัดล้ำค่าจากฝีมือของ หัว กวงลู่เป็นแน่แท้ แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรจะมายืนยันกับชายแซ่หลิวว่าพัดดังกล่าวเป็นพัด หัว กวงลู่ของปลอม
อย่างไรก็ตาม นับเป็นเรื่องบังเอิญพอดิบพอดีที่ ณ เวลานั้นชาวบ้านต่างร่ำลือกันว่า หัว กวงลู่เดินทางมาพำนักที่ฮุ่ยซานเพื่อพักผ่อน รักษาตัวพอดิบพอดี ทุกคนจึงพยายามชักนำชายแซ่หลิวให้เดินทางท่องเที่ยวไปยังจุดที่ หัว กวงลู่พำนักอยู่
อีกวันถัดมา เมื่อมาถึงฮุ่ยซาน ณ ที่พำนักของหัว กวงลู่ ขณะที่ทุกคนกำลังนั่งพักเหนื่อยอยู่ ชายแซ่หลิวก็หยิบพัดเล่มเดิมขึ้นมาโบกเพื่ออวดโอ่อีกครั้ง ครานี้ หัว กวงลู่เจ้าตัวพบเห็นพัดที่ระบุชื่อของตน แต่มิใช่ฝีมือตน จึงเอ่ยถามขึ้นว่า “บทกวีและภาพบนพัดที่คุณชายถืออยู่ระบุว่าเป็นฝีมือบัณฑิตหัว ขอละลาบละล้วงสอบถามคุณชายสักหน่อยได้ไหมว่า พัดเล่มนี้ท่านได้แต่ใดมา?”
ชายแซ่หลิวได้ยินดังนั้นจึงกล่าวโอ้อวดด้วยเสียงอันดังว่า “พัดเล่มนี้เป็นบัณฑิตหัว กวงลู่ วาดกับมือเพื่อมอบให้ข้าเป็นการเฉพาะ เราสองคนคุ้นเคยกันมา 20 ปี จริงๆ เรื่องเล็กน้อยเพียงแค่นี้มิควรค่าแก่การกล่าวอ้างแต่อย่างใดดอก”
ทุกคนพอได้ฟังคำกล่าวของชายแซ่หลิวก็หัวร่อขึ้นมาพร้อมกัน ส่งเสียงดังไปทั่วบริเวณ กระทั่งมีคนเดินเข้าไปบอกชายแซ่หลิวว่า “บัณฑิตที่ท่านคุยด้วยน่ะ คือ หัว กวงลู่!” ชายแซ่หลิวจึงได้แต่แสดงอาการอับอาย ก้มหน้า เร้นกายจากไป
เรียบเรียงจาก 《古今谭概》โดยเฝิงเมิ่งหลง (冯梦龙), ราชวงศ์หมิง