ผู้เชี่ยวชาญ มั่นใจว่าบริษัทจีนกำลังมาสู่ยุคที่ก้าวออกนอกประเทศขยายอาณาจักรธุรกิจและตลาดกว้างขึ้น โดยมีหลายบริษัทชั้นนำของจีนที่คาดว่าจะประสบความสำเร็จและไปได้สวยในปีนี้
โจเอล บาคเลอร์ คอลัมนิสต์จากนิตยสารฟอร์บส นิตยสารเกี่ยวกับธุรกิจและการเงินในสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้เขียนหนังสือ China Goes West: Everything You Need to Know About Chinese Companies Going Global ได้เขียนถึงบริษัทชั้นนำ 10 อันดับของจีน ซึ่งถูกจับตามองอย่างมากในปีนี้ เมื่อพิจารณาจากปัจจัยทางธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะความเป็นสากลขององค์กร การเงินและธุรกรรมอื่นๆ ศักยภาพในระดับมืออาชีพของคณะผู้บริหาร ไปจนถึงฐานลูกค้ามหาศาล โดยกิจการเหล่านี้ ได้แก่
อันดับ 1 เลอโนโว (Lenovo)
"เลอโนโวกรุ๊ป" ได้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เมื่อรุกเข้าซื้อกิจการส่วน ThinkPad ของไอบีเอ็ม เมื่อปี 2548 และปีที่แล้ว (2557) ยังได้เข้าซื้อกิจการโมโตโรลาต่อจากกูเกิล ด้วยมูลค่า 2.91 พันล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งซื้อกลุ่มธุรกิจเซิร์ฟเวอร์ x86 จากไอบีเอ็ม
หยาง หยวนชิง ประธานของเลอโนโว กล่าวว่า เลอโนโว จะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หากได้ใช้ทรัพยากรระดับโลกอย่างเหมาะสม การวิจัยพัฒนาและความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเศรษฐกิจและทรัพยากรแรงงานในตลาดเกิดใหม่เป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตอย่างรวดเร็วในรอบสิบปีที่ผ่านมา โดยเกือบร้อยละ 60 ของธุรกิจบริษัทดำเนินธุรกิจอยู่นอกประเทศจีนแล้ว
อันดับ 2 ต้าเหลียน วั่นต๋า (Dalian Wanda)
จังหวะก้าวของวั่นต๋า ยักษ์ใหญ่กิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบันเทิงในจีน ได้รับความสนใจทั่วโลก เมื่อเข้าซื้อกิจการบริษัทเครือข่ายโรงภาพยนตร์รายใหญ่อันดับสองของสหรัฐฯ AMC Entertainment Holdings Inc. (AMC) ด้วยมูลค่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้วั่นต๋ากลายเป็นเครือข่ายบริษัทภาพยนตร์รายใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชีย
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ปีนี้ วั่นต๋า ยังประกาศซื้อหุ้นร้อยละ 20 ของสโมสรฟุตบอลอาชีพสเปน แอตเลติโก้ มาดริด (Atletico de Madrid) เป็นจำนวนเงิน 52 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นครั้งแรกที่บริษัทจีนได้ลงทุนกับสโมสรฟุตบอลชั้นนำของยุโรป
ซินหวา รายงานว่า วั่นต๋า ได้ตั้งเป้าหมายรายได้ในปี พ.ศ. 2563 ว่าจะทะลุ 9.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยกว่าร้อยละ 30 เป็นรายได้จากกิจการนอกประเทศ
อันดับ 3 ฝอซัน อินเตอร์เนชั่นแนล (Fosun International)
กลุ่มกิจการฝอซัน อินเตอร์เนชั่นแนลซึ่งขยับการลงทุนมหาศาลไปที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์และภาคธุรกิจประกันภัยอุบัติเหตุในสหรัฐฯ ด้วยการซื้อ Meadowbrook Insurance Group มูลค่า 433 ล้านเหรียญสหรัฐ
ฝอซันยังได้จ่อซื้อกลุ่มกิจการรีสอร์ทหรู คลับเมดของฝรั่งเศส หลังนักธุรกิจสัญชาติอิตาลี อันเดรีย โบโนมี ยอมถอยไม่สู้ราคาไปเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ผู้เชี่ยวชาญฯ กล่าวว่า จากยุทธศาสตร์ครอบครองกิจการต่างชาติที่ครอบคลุมตั้งแต่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมเหล็ก ยา และเหมืองแร่ ทำให้ความแข็งแกร่งของวั่นต๋าเวลานี้ขึ้นชั้นระดับโลกไปแล้ว
อันดับ 4 หัวเว่ย (Huawei)
โจเอล บาคเลอร์ คอลัมนิสต์ฟอร์บส์ กล่าวว่า แม้จะพบอุปสรรค เผชิญความท้าทายในการสร้างตลาดธุรกิจอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคมในสหรัฐฯ แต่หัวเว่ยก็ทำผลงานได้อย่างน่าพอใจในตลาดโลก โดยในเดือนนี้ หัวเว่ย ยังได้นำผลิตภัณฑ์กว่า 100 รายการฯ ไปออกงานแสดงสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า 2015 International Consumer Electronics Show (CES) ที่ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มีรวมถึง โทรศัพท์มือถือรุ่นสำคัญของแบรนด์ อุปกรณ์เสริมต่างๆ แท็บเล็ต ตลอดจนอุปกรณ์สมาร์ทโฮม ที่เชื่อมต่อเทคโนโลยีสื่อสารในบ้านอยู่อาศัยอื่นๆ
อันดับ 5 วั่นเซียง กรุ๊ป (Wanxiang Group Corp.)
นับตั้งแต่การบุกเบิกไปตั้งสำนักงานใหญ่ในทวีปอเมริกาเหนือ วั่นเซียง กรุ๊ป (Wanxiang Group Corp.) ผู้ผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ของจีน ได้ซื้อกิจการต่างๆ ในทวีปดังกล่าวมากกว่า 20 แห่งแล้ว รวมถึง ประมูลซื้อกิจการผู้บุกเบิกรถยนต์ไฟฟ้า ฟิสเกอร์ ออโตโมทีฟ (Fisker Automotive) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ด้วยเงินกว่า 149.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังกิจการแห่งนี้ประสบภาวะล้มละลาย
อันดับ 6 อาลีบาบา โฮลดิ้ง (Alibaba Holding)
กลุ่มอาลีบาบา โฮลดิ้ง เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของโลก ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว้ จากราคาเปิดสูงถึง 92.70 เหรียญสหรัฐฯ หรือสูงกว่าราคาที่เสนอขายเป็นครั้งแรกที่ 68 เหรียญสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 40 ทำให้มูลค่าของอาลีบาบานั้นแซงยักษ์ใหญ่ในโลกอินเทอร์เน็ตอย่างเฟซบุ๊กไปตั้งแต่วันแรกที่ทำการซื้อขายในตลาดฯ
แจ็ค หม่า ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานผู้บริหารของอาลีบาบากล่าวเมื่อครั้งเคาะระฆังเปิดตลาดตามประเพณีมงคลฤกษ์ชัย ว่า การเสนอขายหุ้นไอพีโอในตลาดนิวยอร์ก ถือเป็นหน้าธุรกิจใหม่สำหรับบริษัทจีนที่มีอายุเพียง 15 ปี และถือเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ขึ้นด้วย
อันดับ 7 เสี่ยวหมี่ (Xiaomi)
ด้วยยอดขายสมาร์ทโฟน ทะลุกว่า 61.12 ล้านเครื่อง ในปีที่แล้ว (พ.ศ.2557) ซึ่งเพิ่มขึ้น 227 เปอร์เซนต์เทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้บริษัทที่อายุเพียง 3 ปีอย่างเสี่ยวหมี่ ถูกมองว่าจะผงาดขึ้นมาเป็นหัวขบวนแห่งพลวัตรในโลกเทคโนโลยีของจีนแผ่นดินใหญ่ โดย ณ เวลานี้ รั้งอันดับสามในตลาดสมาร์ทโฟนโลกสำเร็จ ตามหลังแต่เพียงแอปเปิล (Apple) และซัมซุง (Samsung) ด้วยเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น ขณะที่ขึ้นแท่นสมาร์ทโฟนยอดนิยมทั้งในตลาดจีน และอินเดียซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้
อันดับ 8 ไป่ตู้ (Baidu)
แม้จะได้เสนอขายหุ้นต่อสาธารณะในตลาดสหรัฐฯ ไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ทว่าเป้าหมายตลาดหลักของกิจการยังคงอยู่ที่จีนแผ่นดินใหญ่มาตลอด จนเมื่อปีที่แล้ว ไป่ตู้เริ่มขยายธุรกิจบุกไปนอกประเทศอย่างคึกคัก ซื้อหุ้นโนเกีย ลงทุนร่วมกับกิจการอูเบอร์ และยังซื้อ Peixe Urbano กิจการออนไลน์สัญชาติบราซิล ด้วยมูลค่าที่ไม่เปิดเผยฯ ถือเป็นการก้าวสู่ตลาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา
อันดับ 9 เทนเซนต์ (Tencent)
เทนเซนต์ เป็นหนึ่งในสามยักษ์ใหญ่ธุรกิจอินเตอร์เน็ตของจีน และก้าวไปสู่ระดับโลกด้วยการลงทุนในซิลิคอนแวลลี่ย์ เมื่อสองปีที่ผ่านมา
เทนเซนต์ประสบความสำเร็จอย่างสูงกับ แอปพลิเคชั่นสื่อสารข้อความวีแชท WeChat และเป็นกุญแจสำคัญที่จะเปิดตลาดระดับโลก
ข้อมูลของไชน่าเดลี ระบุว่า ไตรมาสที่สองของปีที่แล้ว วีแชท มียอดผู้ใช้บริการเดือนละกว่า 468 ล้านคน ไล่เรี่ยกับยักษ์ใหญ่ WhatsApp ผู้ก่อตั้งซิลิคอนแวลลีย์ ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 500 ล้านคน
อันดับ 10 ไบรท์ฟู้ด (Bright Food)
ไบรท์ ฟู้ด (Bright Food Group Co.) กลุ่มกิจการด้านอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของจีน ภายใต้การบริหารของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของรัฐบาลนครเซี่ยงไฮ้ ได้สร้างข่าวฮือฮาเมื่อทุ่มลงทุนในสหราชอาณาจักร และนิวซีแลนด์ โดยมีเป้าหมายว่าจะสร้างรายได้ในสัดส่วนกว่าร้อยละ 25 มาจากนอกประเทศให้ได้ภายในปีพ.ศ. 2560
หลิว หยงเจีย ประธานไบรท์ฟูด กรุ๊ป กล่าวเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วว่า บริษัทเตรียมงบการลงทุนต่างประเทศไว้มากกว่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และว่าการลงทุนของตนนี้ ใช้หลักการ 'เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ เอา'