xs
xsm
sm
md
lg

มองพัฒนาการหนังฮ่องกง-ไต้หวันผ่านเฟรม ‘ภาณุ อารี’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาณุ อารี มองว่าภาพยนตร์กำลังภายในกำลังกลับมาอีกครั้ง และมีนิยายจีนชั้นยอดอีกหลายเรื่องรอการถ่ายทอดออกมาบนแผ่นฟิล์ม ด้วยลีลาการต่อสู้ที่พริ้วไหวมากขึ้น เนื้อหาให้ชาวตะวันตกเข้าใจได้ง่ายขึ้น
ศตวรรษภาพยนตร์จีน(10) / ผู้กำกับหนังสารคดีไฟแรง นาม ‘ภาณุ อารี’ ผู้มีหัวใจสยบให้กับหนังกำลังภายในอย่างเดชไอ้ด้วน ที่นำความประทับใจในวัยเยาว์ และในวันนี้ เขาก็ไม่ต่างจากตัวเอกในภาพยนตร์เรื่องนั้น คือ เคร่งขรึม จริงจัง และเก็บงำฝีมือสะท้านยุทธภพอยู่ภายใน

หลังจากจบการศึกษาด้านภาพยนตร์จากคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาณุได้ทำงานเกี่ยวกับภาพยนตร์มาโดยตลอด เช่น ช่างเสียงในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง คู่กรรม 2 และเพื่อเพื่อน เพื่อฝัน และวันเกียรติยศ ,อาสาสมัครมูลนิธิหนังไทย และปัจจุบัน เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงานต่างประเทศของบริษัทสหมงคลฟิล์ม ที่นอกเหนือจากภาระหน้าที่ในงานประจำแล้ว เขายังคงสร้างผลงานมาสู่วงการภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องจนเป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของบทความในนิตยสารภาพยนตร์ หนังสารคดีขนาดสั้น นิทรรศการหนังสั้นชื่อ First Frame Fastival และการเป็นวิทยากรพิเศษในสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของประเทศ รวมถึงการเป็นตัวแทนเข้าร่วมสัมมนาระดับนานาชาติ โดยเขาบอกว่าให้ความสนใจต่อประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เอเชียเป็นพิเศษ

“ผมดูหนังจีนมาตั้งแต่เด็ก และรู้สึกว่าคุ้นเคยมากกว่าหนังฝรั่งเสียอีก เพราะได้ดูมาอย่างต่อเนื่องทั้งที่เป็นภาพยนตร์และทางโทรทัศน์ ซึ่งผมชอบมาก" คุณภาณุกล่าวกับมุมจีน

ความเปลี่ยนแปลงของภาพยนตร์ฮ่องกงที่เกิดขึ้น มาจากปัจจัยด้านใดบ้าง

ถ้าพูดถึงในทางประวัติศาสตร์ หลังจากที่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ คนทำหนังหลายคนหนีมายังฮ่องกง และในช่วงแรกนี้ จะเป็นหนังเมโลดราม่า ประเภทแม่ผัว ลูกสะใภ้ แต่ว่าพัฒนาการที่สำคัญ เริ่มต้นในยุค 60 ที่ชอว์ บราเดอร์ บุกเบิกหนังกำลังภายใน ซึ่งหลายเรื่องไม่ใช่แค่ได้รับความนิยมเฉพาะในฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายไปทั่วเอเชีย และที่สำคัญ หลายๆ เรื่องก็ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น ‘ เดชไอ้ด้วน ’ ( 独臂刀) ของจางเชอะ (张锲 ) ‘ดรากอน อินน์ ’《龙门客栈》ของคิง ฮู ( หูจินเฉวียน 胡金铨 ) ก็ได้รับเลือกไปฉายในเมืองคานส์ เพียงแต่พัฒนาการของหนังกำลังภายในมันได้รับความนิยมอยู่แค่ 10 ปี

พอมาถึงทศวรรษที่ 70 ก็เป็นบรู๊ซ ลี ที่เอา martial art (ศิลปะป้องกันตัว) มาอยู่ในยุคที่มันร่วมสมัยขึ้น เป็นการผสมผสานเรื่องราวที่เป็นร่วมสมัย เกิดในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ผสมผสานศิลปะการป้องกันตัวหลายๆ อย่างไว้ด้วยกันด้วย เช่น Jeet Kun Do ที่มาจากคาราเต้กับกังฟู ซึ่งบรูซ ลี เป็นคนบุกเบิกตรงนี้ และทำให้หนังแนวนี้เป็นที่นิยมมากขึ้น ยิ่งพอบรูซ ลี ตายก็มีคนสืบทอด อย่างเฉินหลง เฉินกวนไท่ พวกนี้ก็สานต่อมาจนกลายเป็นคาแรกเตอร์ของยุค 70

หลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุคโหด เลว ดี ของจอห์น วู ใช่ไหม

ใช่ ยุค 80 ก็เริ่มเข้าสู่ยุคแก๊งส์เตอร์ที่เราคุ้นเคย มันสะท้อนถึงความไม่มั่นคงของเกาะฮ่องกง เพราะยุคนั้นเริ่มพูดถึงการคืนเกาะฮ่องกง(สู่แผ่นดินใหญ่ ) หนังก็จะพูดถึงด้านมืดของมนุษย์ ซึ่งมันก็นำไปสู่การเกิดของผู้กำกับหลายๆ คน เช่น จอห์น วู (吴宇森 อู๋อี่ว์เซน) ริงโก แลม (林岭东 หลินหลิ่งตง ) ที่สร้างหนังผสมความรุนแรงจากตะวันตก กับเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของครอบครัวแบบตะวันออก ที่ตัวละครชายในหนังของผู้กำกับเหล่านี้ จะมีความสัมพันธ์กันแบบแน่นแฟ้น ตายแทนกันได้ และจุดนี้ทำให้ตะวันตกรู้สึกว่ามันเป็นความแปลกใหม่

การที่ฮ่องกงต้องคืนสู่อ้อมกอดแผ่นดินใหญ่ละคะ

เหตุการณ์นี้พอมันยิ่งใกล้ก็ยิ่งทำให้คนฮ่องกงไม่มั่นใจในอนาคต เพราะไม่รู้ว่าเมื่อจีนเข้ามาแล้วจะมีความเปลี่ยนแปลงแค่ไหน มันก็จะมีผู้กำกับหลายคนที่ไม่ได้เล่าถึงแก๊งสเตอร์ แต่เป็นหนังดราม่าที่สะท้อนถึงความเปราะบางของคนในช่วงเวลานั้น ที่ผมว่าเด่นๆ ก็คือ หว่องกาไว (王家卫 หวังเจียเหว่ย) ในหนัง ‘Chungking Express’《重庆森林 ’ผู้หญิงผมทอง ฟัดหัวใจให้โลกตะลึง’》 ที่มีตัวละครประเภทเหงาๆ สื่อสารกับคนไม่ค่อยได้ ซึ่งสังเกตได้ว่ามันจะออกมาช่วงปี 1993-97 หรือ ‘Days of Being Wild’ 《阿非正传 》ที่แม้จะใช้ฉากของฮ่องกงยุค 1960 แต่ก็มีหลายๆ อย่างที่ทำให้เรารู้ว่าเขากำลังพูดถึงยุคปัจจุบัน หนังเหล่านี้ผิดกับหนังของจอห์นวู ที่เป็นหนังผู้ชายและเหมือนกับอยู่ในอุดมคติ โดยเป็นอีกแง่มุมที่คนรุ่นใหม่รู้สึกสัมผัสได้มากกว่า

หรืออย่างหนังของฟรุต ชาน (陈果 เฉินกั่ว) ผู้บุกเบิกหนังอินดี้ในฮ่องกง หนังในยุคแรกๆ ของเขา เช่น ‘Made in Hongkong’《香港制造》ก็จะพูดถึงความสับสนของคนรุ่นใหม่ หรือเรื่อง ’ Longest Summer’ 《去年花特别多》ที่แม้จะสร้างหลังปี 97 แล้ว แต่ผมว่ามันสะท้อนความคิดของคนฮ่องกงในยุครอยต่อของความเปลี่ยนแปลง เพราะหนังพูดถึงอดีตทหารของกองทัพในสมเด็จพระราชินีอังกฤษบนเกาะฮ่องกง วันหนึ่งเมื่อฮ่องกงคืนสู่จีน คนเหล่านี้ก็ตกงาน และเมื่อตกงานก็ไม่มีความมั่นคงในชีวิต สุดท้ายก็ตัดสินใจออกปล้น มันก็จะมีหนังแบบนี้อยู่เยอะ

แต่ต่อมาก็คลี่คลายลง เพราะคนก็รู้สึกว่ามันไม่ได้เลวร้าย แต่กลับเต็มไปด้วยความหวัง มันก็เลยมีหนังอย่าง ‘กำไก่’ 《金鸡 น.ส.กำไก่ 》 ที่พูดถึงฮ่องกงในช่วงตั้งแต่ยุค 70 ถึงปัจจุบันในแง่มุมล้อเลียน โดยให้โสเภณีเป็นตัวเดินเรื่อง หลายฉากที่แสดงให้เห็นถึงความเฟื่องฟูของโสเภณีคนนี้ จนถึงยุคตกต่ำ แล้วในที่สุดก็กลับขึ้นมาอีก แม้ไม่ได้อยู่ในจุดสูงสุดที่เคยเป็นแต่ก็อยู่ในจุดที่พอใจ สะท้อนถึงความดำเนินไปของฮ่องกงเหมือนกันนะ ที่ยุค 60-70 เป็นช่วงขาขึ้นของเศรษฐกิจฮ่องกง ก่อนที่จะมาเสื่อมลงในยุค 90 ก่อนเปลี่ยนแปลง พลิกกลับมาอีกทีก็ตอนนี้ เพราะตอนจบของ ‘นส.กำไก่’ ตัวเอกก็เหมือนจะปลงกับตัวเองได้ ในขณะที่ตัวละครเด่นอีกตัวจะย้ายไปอยู่แคนาดา หรือหว่องกาไว ใน ‘2046’ ที่มีประเด็นว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตามก็ยังมีความรู้สึกที่ดีต่อฮ่องกง

เพียงแต่ในความรู้สึกผม ถ้าพูดถึงความแรงของกระแสหนังฮ่องกง มันก็ฟุบไปเยอะเหมือนกัน เพราะ 1997 ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงไปสู่จีนเท่านั้น ยังมีผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำที่ทำให้หนังฮ่องกงประสบปัญหาเรื่องเงินทุน สเกลการทำหนังก็ไม่ได้หรูหราเท่าเมื่อก่อน การตอบรับก็ไม่ได้ดีเท่า ขณะเดียวกันผู้กำกับหลายๆ คนก็ย้ายออกไปและไม่ได้ทำหนัง ปีหนึ่งอาจจะมีผู้กำกับอย่างโจวซิงฉือ แอนดรู เลา ที่มาสร้างสีสันบ้าง แต่เมื่อเทียบกับยุค 80,90 ก็ยังยากอยู่

แล้วผู้กำกับอย่างโจวซิงฉือ จะสามารถจัดอยู่ในกลุ่มไหนได้

ผมว่าเขาเป็นอีกผู้กำกับหนึ่งที่ไม่สนใจว่าฮ่องกงจะกลับเป็นของจีนหรือเปล่า แต่จะพูดถึงสิ่งดีๆ เสมอ เขาเป็นพวกชาตินิยมอย่างแท้จริง เขาพยายามสร้างความรู้สึกที่ว่าเขาภูมิใจกับความเป็นจีนแค่ไหน อย่างเช่น ‘God Of Cookery ’《食神คนเล็กกุ๊กเทวดา》 สังเกตดูว่าอาหารที่ทำล้วนเป็นอาหารจีน และมีความหรูหราในการทำ หรือ ‘Shaolin Soccer ’《少林足球 นักเตะเซียวลิ้มยี่ 》 ก็เหมือนกัน แสดงออกถึงความภูมิใจในความเป็นจีน และที่สำคัญตัวละครของโจวซิงฉือที่สร้างขึ้นมาและทำให้คนรู้สึกติดก็คือ ตัวละครของเค้าไม่มีฟอร์ม เป็นตัวละครที่สัมผัสได้ เป็นพวก Looser ที่แพ้อยู่เสมอ แต่สุดท้ายก็กลับขึ้นมา แม้ว่าจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย แต่ก็ชนะใจคนดู

หรือ Kungfu Hustle 《功夫 คนเล็กหมัดเทวดา 》 เขาก็มีอิทธิพลขนาดที่ฮอลลีวูดมาลงทุนให้เขา โดยที่เขาไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเหมือนจอห์นวู เงินก็เป็นของโคลัมเบีย แต่เรื่อง สไตล์กลับเป็นของโจวซิงฉือ มันก็พิสูจน์ให้เห็นอย่างหนึ่งว่า เป็นการต่อชีวิตให้กับหนังฮ่องกง ผมว่าโจวซิงฉือก็คงสร้างอิทธิพลให้กับผู้กำกับที่กำลังลังเล มันก็ยังมีความสดใสให้กับวงการหนังฮ่องกง

มีผู้กำกับฮ่องกงคนไหนที่เด่นๆ ในสายตาคุณภาณุอีกคะ

ก็มี แอนดรู เลา (刘伟强 หลิวเหว่ยเฉียง ) ที่ทำเรื่อง Infernal Affair《无间道สองคนสองคม 》ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสำรวจตัวตนความเป็นฮ่องกงผ่านเรื่องราวอาชญากรรมแบบใหม่ เป็นแอคชั่นที่เป็นทริลเลอร์ โดยอาศัยแนวทางความเป็นฮอลลีวูด คือเรื่องมันจะทันสมัยขึ้น เท่ ขณะเดียวกันก็เป็นการมองสังคมอีกมุมแบบเรียลลิสติก แต่ใส่ความน่าตื่นเต้น ชั้นเชิงลงไปด้วย

ผู้กำกับอีกคนที่ไม่น่าพลาดก็คือ ปีเตอร์ ชาน (陈可辛 เฉินเข่อซิน ) จาก ‘เถียนมี่มี่’ 《甜蜜蜜 3,650 วันรักเธอคนเดียว 》ถ้าจะจัดกลุ่มนะ เถียนมี่มี่ก็จะอยู่ในกลุ่มที่สร้างขึ้นในช่วงรอยต่อของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างการนำเติ้งลี่จวินมาเป็นตัวเชื่อมของหนัง ซึ่งมันก็พูดถึงความภาคภูมิใจของคนจีน ที่แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน คนจีนอยู่ที่ไหนก็คือคนจีน เหมือนตอนสุดท้ายของหนัง หากันแทบตาย พอมีเสียงเพลงของเติ้งลี่จวินก็ทำให้ตัวละครได้มาเจอกัน มันก็เป็นการบรรเทาความรู้สึกว่าการกลับไปสู่จีนมันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดนะ เพราะมันก็คือการกลับไปอยู่ในการปกครองของเลือดเนื้อเดียวกัน สายเลือดเดียวกัน

*ตู้ฉีฟ่ง( 杜琪峰 ตู้ฉีเฟิง ) หรือจอนนี่โท ก็เป็นผู้กำกับของฮ่องกงอีกคนที่มีแนวทางโดดเด่น ลักษณะของเขาจะคล้ายแอนดรู เลา โดยจะเป็นหนังฮ่องกงที่เน้นเรื่องการใช้สมองมากกว่าใช้กำลัง ที่เด่นๆ ก็เช่น ‘Breaking News’《大事件》ซึ่งพูดถึงโจรกลุ่มหนึ่งที่เข้าไปยึดตึกและถูกโอบล้อมโดยตำรวจ และโจรกับตำรวจก็งัดข้อกันด้วยสื่อโทรทัศน์ โดยโจรอาศัยความอยากรู้อยากเห็นของสื่อมาโจมตีตำรวจ ขณะที่ตำรวจก็ขอความเห็นใจจากประชาชนผ่านสื่อ คือแทนที่ทั้งสองฝ่ายกันด้วยกำลัง แต่กลับทำสงครามผ่านสื่อ ซึ่งมันก็เป็นการทำหนังแบบใหม่ ที่ยังคงมีความเป็นจอห์นวูอยู่ แต่จะมีลูกล่อลูกชน เป็นชีวิตจริงมากขึ้น

สำหรับวงการภาพยนตร์ไต้หวันมีพัฒนาการเป็นมาอย่างไร

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไต้หวันเริ่มจากที่รัฐบาลจีนคณะชาติของเจียงไคเช็คหนีเข้ามา หนังในช่วงแรกก็คงคล้ายกับประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากอเมริกา คือ พูดถึง Nationalism ที่บอกเล่าความรู้สึกของคนที่ถูกไล่ออกมาจากประเทศของตัวเอง แล้วในช่วงนั้นผมก็เชื่อว่ามันมีความเปราะบางเกิดขึ้นในสังคมเขา ไต้หวันก็เหมือนเมืองไทย คือเมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์ครองเมืองก็ต้องสร้างหนังที่เป็นโฆษณาชวนเชื่อ ให้คนมีความรู้สึกเป็นปึกเป็นแผ่น หนังไต้หวันในยุคแรกๆ ก็เป็นแบบนั้น ที่สำคัญรัฐบาลไต้หวันก็จะเข้มงวดมาก หนังที่พูดถึงการเมืองก็จะถูกห้าม ดังนั้นหนังไต้หวันในยุคแรกๆ มันจึงเป็นเมโลดราม่ามากๆ คือไม่ได้สะท้อนถึงความคิดทางการเมืองใดๆ เลย มันกลับพาคนดูออกไปจากความเป็นจริง ถ้าสังเกตให้ดี หนังไต้หวันจะเป็นอย่างนั้นมาก ดังนั้นมันก็เลยเป็นที่ยอมรับจากประเทศในเอเชียด้วยกัน เพราะมันดูง่าย เนื้อเรื่องสัมผัสได้

มันมามีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ก็ในยุค 80 ที่มีคำว่า New Wave เกิดขึ้น คือกลุ่มผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ ที่นำโดย *หัวเสี่ยวเชี่ยน ( 侯孝贤 โหวเสี้ยวเสียน ) เอ็ดเวิร์ด หยาง (杨德昌หยางเต๋อชัง ) จากเดิมที่หนังไต้หวันจะเป็นประเภทเรียกน้ำตา แต่ผลงานของผู้กำกับกลุ่มนี้กลับพลิกไปเลย เป็นสไตล์ Realistic และสร้างคาแรคเตอร์ใหม่ให้กับหนังไต้หวันซึ่งมีอิทธิพลต่อการทำหนังอาร์ตทั่วโลก เพราะว่าผู้กำกับอย่างหัวเสี่ยวเชี่ยนเป็นคนบุกเบิกการทำหนังแบบที่เรียกว่า Minimalism พูดถึงเรื่องเล็กๆ คนเล็กๆ เล่าไปเรื่อยๆ ไม่มีการตัดต่อ ไม่ดึงให้คนเข้าไปร้องไห้ ใช้เฟรมภาพเฟรมเดียวแต่สามารถสื่อได้มากมาย ซึ่งก็เป็นหัวเสี่ยวเชี่ยนนี่ล่ะ ประกาศศักดาของหนังไต้หวันบนเวทีโลก คือเรื่อง City of Sadness 《悲情城市》โดยได้รับรางวัล Golden Lion รางวัลใหญ่ของเวนิซ ในปี 88 ทำให้หนังไต้หวันเริ่มเป็นที่รู้จักขึ้น

อีกคนก็คือ * ไช่มิ่งเหลียง ( 蔡明亮ไช่หมิงเลี่ยง) แต่ก็อยู่ในยุค 90 แล้ว หนังของเค้าก็พูดถึงเรื่องไต้หวันร่วมสมัย ถ้าหว่องกาไวเป็นคนที่พูดถึงเรื่องราวร่วมสมัยในฮ่องกง ไช่มิ่งเหลียงก็จะเป็นคนที่พูดถึงความร่วมสมัยในไต้หวัน คือพูดในธีมเดียวกันเลย คือความเปราะบางของคน แต่ไช่มิ่งเหลี่ยงจะเด่นในเรื่องที่มักจะพูดถึงการ Disconnect คนในหนังจะไม่ค่อยพูดกันเท่าไหร่ เพราะไม่รู้จะสื่อสารกันยังไง ซึ่งผมว่ามันก็สะท้อนความเป็นไต้หวันเหมือนกันนะ คือสังคมยิ่งเจริญขึ้น ทุกอย่างพัฒนาขึ้น แต่จิตใจของคนกลับแย่ลง

อุตสาหกรรมหนังไต้หวันเข้มแข็งแค่ไหน เมื่อเทียบกับฮ่องกงหรือแผ่นดินใหญ่

ผมว่าคนไต้หวันเองมีทัศนะคติไม่ดีต่อหนังของตัวเองเท่าไหร่ ความแข็งแรงของอุตสาหกรรมเลยสู้จีนหรือฮ่องกงไม่ได้ เพราะคนไต้หวันเอง ก็คงเหมือนคนไทยที่ไม่ชอบหนังดูยาก หนังไต้หวันเหมือนอุตสาหกรรมหนังไทยเมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว คือคนเสื่อมศรัทธา หนังตลาดก็แย่ไปเลย แต่หนังของพวกไช่มิ่งเหลียง หรือหัวเสี่ยวเชี่ยน มันก็จะสูงเกินไป ประกอบกับฮอลลีวูดเองมันก็มีอิทธิพลในตลาดไต้หวันมานานแล้ว จะสังเกตได้ว่าทุนของผู้กำกับหลายคนไม่ได้มาจากไต้หวันอีกต่อไปแล้ว มันจะเป็นทุนจากต่างชาติ ทั้งเอ็ดเวิร์ด หยาง หรือหัวเสี่ยวเชี่ยน และ ไช่มิ่งเหลียงก็ทุนฝรั่งเศส ทุกคนต่างขวนขวายหาทุนจากข้างนอก

ส่วนอย่าง Blue Gate Crossing 《蓝色大门 สาวหน้าใสกับนายไบซิเคิล》 (ของอี้จื้อเหยียน 易智言Yee Chin Yen ) ก็เป็นรุ่นใหม่ที่กำลังมาแรง แต่ว่า มันก็ยังไม่ชัดเจน เพราะว่าพวกนี้เพิ่งจะสร้างกันได้แค่ 2-3 เรื่อง แต่ก็ถือว่าได้รับอิทธิพลจากผู้กำกับที่พูดไว้ข้างต้น คือสไตล์ของหนังจะนิ่งๆ ไม่เร้าอารมณ์มากนัก คือมีแนวโน้มใหม่อย่าง Formula 17 《17 岁的天空 17 ใส..รักนายไม่มีเบื่อ 》ที่เหมือนจะเอารูปแบบการทำหนังของไต้หวันเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาใช้ คือเป็นหนังแบบน้ำเน่า เพียงแต่เปลี่ยนตัวละครจากความสัมพันธ์ชายหญิง เป็นความสัมพันธ์ชายกับชาย

เปรียบเทียบวงการภาพยนตร์จากจีนทั้ง 3 แห่ง

ผมก็คิดว่ามันยากนะสำหรับอุตสาหกรรมหนังไต้หวัน เพราะรากฐานมันไม่แข็งแรงเหมือนฮ่องกง ผมยังนึกเลยว่าอีกไม่นานคงถึงยุคเรอเนสซองต์ของฮ่องกง แต่ไต้หวันเรายังมองไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่ หนึ่งคือมันเล็กด้วย แล้วแต่ละปีสร้างหนังไม่กี่เรื่อง ไม่ถึง 20 เรื่องด้วย อย่างฮ่องกงยังปีละ 40 เรื่อง มันก็เท่ากับว่ายิ่งสัดส่วนหนังมีเยอะ โอกาสที่เราจะเจอหนังที่ถูกใจตลาด ถูกใจนักวิจารณ์ก็จะมีเยอะ

หนังแผ่นดินใหญ่ก็คงมีการผ่อนปรนมากขึ้น หลังจากที่จีนเข้าดับบลิวทีโอ(องค์การการค้าโลก) ไปแล้ว แต่ว่าในแง่คาแรคเตอร์ก็คงเลือนรางมากขึ้น เพราะในผู้กำกับรุ่นที่ 5 เรายังบอกได้ว่ามีคาแรคเตอร์ยังไง รุ่นที่ 6 เราก็ยังพอเห็นถึงการเป็นนักทำหนังเลือดร้อน ก้าวร้าวบ้าง แต่รุ่นต่อไปเราอาจจะไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไง แล้วประเด็นที่จะให้ทำมันอาจจะไม่มีอะไรใหม่แล้ว

ผมว่าจีน(แผ่นดินใหญ่) กับอิหร่านคล้ายกัน คือช่วงที่อิหร่านกำลังดัง มันพูดถึงประเด็นที่แรง เช่นศาสนา ผู้หญิง ตัวละครในหนังอิหร่านส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ คือผู้หญิง เด็ก และมีความขัดแย้งในตัวสูง และมีข่าวออกมาว่าหนังโดนแบนในประเทศบ้าง พอสถานการณ์ในประเทศผ่อนปรนขึ้น มันเริ่มแตะประเด็นที่เป็นสากลขึ้น เลยทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเลย ไม่ใช่ว่าผู้ชมทั่วโลกรอดูความเจ็บปวดนะ แต่เขารอดูการค้นหาอะไรใหม่ๆ มากกว่า

มีหนังที่ประทับใจเป็นพิเศษไหม

ที่ผมชอบมากๆ เลยก็คงเป็น ‘Days of Being Wild’ ของหว่องกาไว เพราะในแง่ส่วนตัวผมรู้สึกว่าเขาเก่งในแง่การสร้างบรรยากาศ คือหนังมันพูดถึงในยุค 60 โดยที่ไม่มีฉากอะไรใหญ่โตเลย รวมถึงเพลงที่เขาเอามาประกอบ มันได้นะ มันทำให้เราจินตนาการได้ว่ายุคนั้นมันสวยงามยังไง ส่วนเนื้อหาของมันก็สะท้อนความคิดร่วมสมัย คือสังคมยิ่งโตขึ้น เรากลับมีความรู้สึกเชื่อมถึงกันน้อยลง

หรือ ‘Vivre L’amour ’ 《爱情万岁》ของไช่มิ่งเหลียง ที่แม้จะพูดถึงความเป็นไต้หวัน แต่สิ่งที่เค้านำเสนอมันดูเป็นสากลมาก เรื่องเกิดขึ้นภายในอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่ง ที่มีผู้หญิงคนหนึ่งอาศัยอยู่โดยไม่รู้ตัวว่ามีคนอีกคนเข้ามาแอบดูพฤติกรรมของเธอ ผมเข้าใจว่าผู้กำกับพยายามย่อไต้หวันเหมือนอพาร์ทเมนต์ห้องนั้น ไต้หวันเป็นเพียงเกาะเล็กๆ มีเนื้อที่อยู่เพียงเท่านั้น แต่คนกลับมีปัญหาในการสื่อสาร และสิ่งที่เกิดขึ้นก็สามารถเกิดขึ้นได้ในกรุงเทพได้เหมือนกัน จุดที่ผมประทับใจคือตอนจบที่พูดถึงตัวละครผู้หญิง มันเป็นภาพโคลสอัพตัวละครตัวนี้ที่ร้องไห้นานถึง 5 นาที ผมรู้สึกว่ามันแสดงถึงความเปราะบางของคน ซึ่งบางทีไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล อย่างในหนังก็ไม่ได้บอกว่าเค้าอกหัก เพียงแต่เค้าอยู่ตัวคนเดียว แล้ววันหนึ่งเขาก็มานั่งพักตรงสวนสาธารณะ จู่ๆ ก็น้ำตาไหล ผมก็รู้สึกว่าคนคงอาจจะเหงาจนต้องปลดปล่อยด้วยน้ำตา

หนังของโจวซิงฉือหลายๆ เรื่องผมก็ชอบเหมือนกัน เพราะมันทำให้เราได้เข้าใจวัฒนธรรมจีนโดยไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ อย่าง ‘God of Cookery’ ผมชอบตรงที่ว่าเค้าทำให้รู้สึกว่าอาหารจีนมันไม่ใช่แค่ทำธรรมดา แต่มีศิลปะของการทำ มีการใส่วิญญาณลงไป และก็ตอบได้ว่าทำไมวัฒนธรรมจีนถึงเข้มแข็งได้ไปทุกที่ทั่วโลก

หรือ ‘Shaolin Soccer ’ มันตลกก็ตลกได้นะ ผมรู้สึกดีตรงที่เขา(โจวซิงฉือ)เป็นคนชาตินิยมที่ไม่เสแสร้ง ชอบก็บอกว่าชอบจริงๆ และไม่สนใจที่จะมีคนบอกว่า หนังเรื่องนี้ทำให้ความเข้าใจเรื่องฟุตบอลผิดเพี้ยนไป เขาภูมิใจที่จะทำแบบนี้ก็ทำแบบนี้ มันเป็นการเข้าใจวัฒนธรรมจีนได้โดยไม่ต้องถูกยัดเยียดเหมือนหนังไทยหลายๆ เรื่อง ที่พูดถึงวัฒนธรรมไทยก็ต้องมีฉากการไหว้

ผู้กำกับในดวงใจก็เป็นกลุ่มนี้เหมือนกันใช่ไหมคะ

ใช่ครับ หว่องกาไว ไช่มิ่งเหลียง โจวซิงฉือ และอีกคนที่ผมชอบ หัวเสี่ยวเชี่ยน เขาทำให้เรารู้สึกว่า การทำอะไรเล็กๆ แต่ถ้าเราจับจุดได้ รู้ว่าเราจะสื่อสารยังไง บางทีมันก็ได้ผลนะ อย่าง ‘Millennium Mambo’ 《千禧曼波》ที่มีพลังโดยไม่ต้องอาศัยการตัดต่อที่หวือหวา

คิดว่าความแตกต่างระหว่างหนังจีนกับหนังฮอลลีวูดอยู่ที่ไหน

หนังจีนมีเรื่องให้เราได้เรียนรู้ได้เรื่อยๆ มันทำให้เรารู้สึกว่าหนังแต่ละยุคแต่สมัยมันสะท้อนสภาพสังคมสมัยนั้น และสนุกด้วย ในขณะที่หนังฮอลลีวูดเรารู้สึกว่าดูเพื่อดูเพียงอย่างเดียว แต่หนังจีนอย่าง ‘เถียนมี่มี่’ เราดูแล้วเกิดคำถามว่า มันเกิดอะไรขึ้น พอมา ‘น.ส.กำไก่’ มันก็ทำให้เราฉุกคิดมากกว่าความสนุก มันแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น พอเกิดความรู้สึกตรงนี้ก็ทำให้เราเกิดการค้นหามากขึ้น บางทีดูเสร็จอาจจะกดอินเทอร์เน็ตดูว่าฮ่องกงปัจจุบันเป็นอย่างไร และเป็นการชวนติดตามที่ไม่ใช่แค่เรื่องความบันเทิง แต่มีเรื่องสังคม วัฒนธรรมด้วย หนังจากประเทศโลกที่ 3 อย่างจีน อิหร่านมันทำให้เราคิดไปไกลมากกว่าหนังจะจบยังไง

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราไม่ค่อยรู้จักประเทศเหล่านี้ และผมว่าประเทศเหล่านี้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคมมากมาย อีกอย่างที่สำคัญคือมันเป็นเอเชียด้วย แต่ก็พูดยาก เพราะผมก็ไม่รู้สึกกับหนังญี่ปุ่นหรือเกาหลีเท่าไหร่ เพราะหนังประเทศเหล่านี้พื้นฐานทางสังคมการเมืองมันมั่นคง อย่างจีนเรายังรู้สึกว่ามันจะมีทางเป็นอย่างเยอรมันตะวันออกหรือยุโรปตะวันออกได้ไหมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นทุนนิยมหรือเสรีนิยม ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันอยู่ในหนัง และก็ดีนะที่ทำให้เราได้คิดตลอดเวลา

ประเมินว่าแนวโน้มของภาพยนตร์จีนจะไปในทิศทางใด

ผมว่าคงเป็นหนังกำลังภายในที่จะกลับมาอีกครั้ง เพราะมีคนอย่างหยวนอู่ปิง (袁和平Yuen Wo ping ) เขาเป็นคนที่นำเอาศิลปะ Martial Art ไปประยุกต์ แล้วก็ที่สำคัญคือมันมีความน่าตื่นตาตื่นใจมากขึ้นกว่าเดิม ยิ่งตอนนี้ที่ใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกมันทำให้การออกแบบการต่อสู้ไม่มีข้อจำกัดมากขึ้น อย่าง ‘Crouching Tiger Hidden Dragon’ 《卧虎藏龙 พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก》เราจะเห็นการกระโดดจากจุดหนึ่งมายังอีกจุดหนึ่งอย่างพลิ้วมาก ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะมีข้อจำกัดของสลิง แต่ปัจจุบันทำได้หวือหวามาก แล้วอีกอย่าง เนื้อหาของมันก็ปรับให้คนตะวันตกดูได้ง่ายขึ้น อย่าง ‘Crouching Tiger ’ อาจจะอาศัยพล็อตรูปแบบเดิมที่เป็นการแก้แค้นหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่คนจะเข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมว่าหนังจีนสมัยก่อนฝรั่งดูแล้วไม่เข้าใจนะ ว่าความสัมพันธ์ของตัวละคร ทำไมถึงต้องอดทน อดกลั้น มันมีหลักของความเชื่อ ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ผมว่าของสมัยนี้เป็นเรื่องผิวๆ มากเลย อย่าง ‘House of Flying Dagger ’《十面埋伏 จอมใจบ้านมีดบิน》 หรือ ‘Hero’《英雄 ฮีโร่》จะพูดถึงเรื่องที่ใครๆ ก็สัมผัสได้ มันมีความเป็นการ์ตูนเหมือนกันนะในความคิดผม

อีกอันหนึ่งก็เป็นเพราะว่าสตูดิโอฝรั่งมาทำ อย่าง ‘Crouching Tiger ’ ก็เป็นโคลัมเบีย ซึ่งถ้าเป็นสตูดิโอในอเมริกาเป็นคนออกทุนให้ แน่นอนอยู่แล้วที่สิทธิในการจัดจำหน่ายในอเมริกาก็ต้องเป็นของเขา พอเขาจัดจำหน่ายมันก็กว้างขึ้น ทราบไหมว่า ‘Crouching Tiger ’ มันทำรายได้เกิน 100 ล้านดอลลาร์ เงินจำนวนนี้ถือว่ายากมากอยู่แล้ว นี่ยังเป็นหนังต่างประเทศอีก แล้วรู้สึกว่ายังไม่มีหนังเรื่องไหนลบสถิตินี้ได้ ‘Hero’ ก็เหมือนกัน เปิดตัวอันดับ 1 บ๊อคซ์ออฟฟิศนะ ถึงแม้ว่าจะไม่ถึง 100 ล้านแต่ก็แรงมาก

ซึ่งผมก็รู้สึกว่าแนวโน้มของหนังกำลังภายในมันกลับมาแล้ว และจะยืนระยะอีกนาน ผมยังรู้สึกว่ามันยังมีเรื่องอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้เอามาสร้าง และถ้าสร้าง ฝรั่งจะต้องทึ่ง เช่น เดชไอ้ด้วน หรือนิยายของกิมย้งหลายเรื่อง ผมว่ามันมีความเป็นตะวันตกสูง อย่างฤทธิ์มีดสั้น ที่เอื้อต่อการออกแบบการต่อสู้ได้เยอะด้วย นอกจากนั้น อย่างน้อยตอนนี้ผู้กำกับรุ่น 5 ที่มาทำหนังกำลังภายในก็มีแล้ว 2 คน คือ เฉินข่ายเกอกับจางอี้โหมว

หาดูภาพยนตร์จากจีน ทั้งแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงและไต้หวันได้ยากไหม

ก็ไม่เชิงนะ แต่ถ้าเป็นจีนแดงผมว่าอาจจะหายากขึ้น แม้ว่าจะมีหนังเข้าฉายตามเทศกาลมากมาย แต่ความโดดเด่นมันก็ไม่เท่าสมัยก่อน อย่างจางอี้โหมวในมุมของคนซื้อหนังก็จะรู้สึกว่ามันต้องซื้อแน่นอน แต่ว่าพอเป็นผู้กำกับเล็กที่แม้งานจะเด่นแต่เราก็รู้สึกเฉยๆ

ส่วนหนังฮ่องกงก็มีความเป็นไปได้เรื่อยๆ ผมว่ามันยังลูกผีลูกคนอยู่ จะว่ามันตกต่ำมันก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยในปีนึงอาจจะมีหนังเปรี้ยงสักเรื่อง 2 เรื่อง อย่าง Kungfu Hustle ทำให้คนมองเห็นว่ามันมีแสงสว่างเกิดขึ้น แต่ว่ามันยังไม่เป็นระบบแบบยุคจอห์นวู

สหมงคลฟิล์มก็นำเข้าเยอะเหมือนกัน แต่ว่ามันไม่เวิร์คจริงๆ รายได้นี่ถือว่าแย่มากๆ ล่าสุดก็ ‘White Dragon’《飞侠小白龙 ไอ้บอดเจ้ายุทธจักร》ของ Wilson Yip (叶伟信 เยี่ยเหว่ยซิ่น)ส่วนตัวผมก็จะซื้อแผ่นจากร้านแว่น และก็ฝากเพื่อนที่มีโอกาสไปฮ่องกง .

หมายเหตุ * อ้างอิงตามการออกเสียงของผู้ให้สัมภาษณ์ และคำในวงเล็บคือการออกเสียงตามภาษาจีนกลาง

** สารคดีชุด ‘ศตวรรษภาพยนตร์จีน’ นำเสนอทุกวันอาทิตย์ โปรดติดตามตอนหน้า 'ลูกผู้ชายชื่อเฉินข่ายเกอ'
ภาณุ อารี ผู้หลงใหลในภาพยนตร์เอเชีย โดยเฉพาะภาพยนตร์จีน
งานชิ้นเยี่ยมจากหว่องกาไว ที่สะท้อนความเปราะบางของชีวิตคน
‘食神 คนเล็กกุ๊กเทวดา’หนึ่งในตัวแทนความชาตินิยมของโจวซิงฉือ
‘甜蜜蜜 3,650 วันรักเธอคนเดียว’ นอกจากความหวานแล้ว ยังสะท้อนภาพรอยต่อของความเปลี่ยนแปลงบนเกาะฮ่องกง
‘大件事 Breaking News’ ผลงานเด่นของตู้ฉีเฟิง เล่าเรื่องการทำสงครามผ่านสื่อของฝ่ายตำรวจและโจร โดยไม่เน้นการใช้กำลังเหมือนภาพยนตร์แอคชั่นยุคก่อนๆ
‘悲情城市 City of Sadness’ภาพยนตร์ฝีมือโหวเสี้ยวเสียน ผู้กำกับคลื่นลูกใหม่และเป็นผู้บุกเบิกการทำหนังแบบ Minimalism จากเกาะไต้หวัน
‘爱情万岁 Vivre Lamour’อีกหนึ่งเรื่องจากไช่หมิงเลี่ยง ตีแผ่ความเปราะบางและการไม่สามารถสื่อสารกันได้ของคนในสังคม
‘蓝色大门 สาวหน้าใสกับนายไบซิเคิล’ ภาพยนตร์แห่งการค้นหาในวัยเยาว์ เรื่องโปรดของใครหลายคนในบ้านเรา จากผู้กำกับรุ่นใหม่ อี้จื้อเหยียน

กำลังโหลดความคิดเห็น