(ความเดิมจากตอนที่แล้ว ฮัฟฟิงตันโพสต์ สื่อต่างประเทศ ได้เผยแพร่ (11 พ.ย.) บทความของบราเดน โกแยตต์ คอลัมนิสต์ ที่ย้อนเล่าประวัติความเป็นมาของไชน่าทาวน์ โดยระบุว่า ไชน่าทาวน์ต่างๆ ในสหรัฐฯ ล้วนเกิดจากปรากฏการณ์กีดกันเหยียดชาวจีนทั้งในทางสังคม และกฎหมายของสหรัฐฯ ในอดีต) (อ่าน : ประวัติไชน่าทาวน์ ในสหรัฐฯ ก่อเกิดชุมชนกลางกระแสกีดกัน)
เนื้อหาบทความในสัปดาห์นี้ ได้บอกเล่าต่อว่า ยุคแห่งการกีดกันนั้น ชาวจีนในสหรัฐฯ หางานและที่อยู่อาศัยนอกเขตไชน่าทาวน์ยากมาก เอเลน ดี อู่ ศาสตราจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินเดียน่า อธิบายว่า ไชน่าทาวน์คือผลพวงจากการแบ่งแยกเชื้อชาติ และว่า ในต้นศตวรรษที่ 19 ยังมีระบบการปกครองที่กีดกันคนเอเชีย ทั้งในด้านกฎหมาย และการปฏิบัติทางสังคม เพื่อที่จะปิดตายไม่ให้ชาวเอเชียเข้ามาอยู่ใช้ชีวิตร่วมกับคนอเมริกัน
ในเวลานั้น มลรัฐทางตะวันตกหลายมลรัฐ ได้ผ่านกฎหมายห้ามชาวจีนอพยพถือครองกรรมสิทธิที่ดิน ไชน่าทาวน์ในแมนฮัตตันนั้น แม้ชาวอิตาเลียนอพยพจะขายอาคารให้ชาวจีนได้ แต่พบเห็นได้ยากมากที่คนอเมริกันจะขายที่ดินให้คนจีน
ชาวจีนยังถูกกีดกันออกจากอุตสาหกรรมต่างๆ ในเวลานั้น เหลืองานให้ทำเพียงซักเสื้อผ้า และร้านอาหาร
ปีเตอร์ กว็อก ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเมือง ในฮันเตอร์ คอลเลจ นิวยอร์ก กล่าวว่า คนขาวทั่วไปโดยปกติ จะปฏิเสธที่จะทำงานกับชาวจีนอพยพ คนจีนอพยพเหล่านั้น จึงต้องดิ้นรนเปิดกิจการเอง เป็นนายจ้างสร้างงานของตัวเอง
ด้วยรัฐบัญญัติกีดกัน ทำให้แรงงานชาวจีนที่เคยเข้ามาทำงานสร้างรางรถไฟในสหรัฐฯ ไม่สามารถเดินทางกลับไปหาครอบครัวที่จีนได้ ดังนั้นไชน่าทาวน์ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีแต่ผู้ชาย ซึ่งเมื่อมีแต่แหล่งรวมผู้ชาย ก็ถูกมองว่าเป็นชุมชนซ่องสุมที่เต็มไปด้วยอาชญากรรม การพนัน ค้าประเวณี และฝิ่น
ในปี 1885 รัฐบาลท้องถิ่นซานฟรานซิสโก ได้ตั้งคณะกรรมาธิการสืบสวนอาชญากรรมในไชน่าทาวน์ โดยรายงานนี้ เต็มไปด้วยความวิตกเกี่ยวกับศีลธรรม กรรมาธิการสอบสวนได้ประเมินสภาพไชน่าทาวน์ว่าเป็นแหล่งเสื่อมโทรมซึ่งหากปล่อยให้คงอยู่ในสภาพนี้ต่อไปจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคร้าย และยังลงความเห็นว่า สภาพพื้นที่เช่นนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงของอาชญากรรม ภัยสังคม
รายงานฯ สำรวจอื่นๆ ยังก่อความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าไชน่าทาวน์เป็นเขตพื้นที่ไร้กฎหมายควบคุม โดยไม่เพียงแต่ไม่เคารพกฎหมายท้องถิ่น ยังสร้างกฎหมายขึ้นมาเอง โดยมีหลักฐานว่าคนจีนมีหน่วยองค์กรของตนเองในการลงโทษฝ่ายตรงข้าม แต่กลับไม่เคยลงโทษผู้ที่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายมลรัฐ
อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางกระแสแห่งการโหมความกลัวนี้ ก็ยังมีอเมริกันชนที่เป็นเสรีนิยมไม่น้อย ออกมายืนยันหลักอิสรภาพและประชาธิปไตย ที่มนุษย์ทุกคนพึงมีสิทธิเท่าเทียมกันบนดินแดนแห่งนี้ อันเป็นเจตนารมย์ดั้งเดิมของการประกาศอิสรภาพและร่างรัฐธรรมนูญ และไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้รัฐบัญญัติกีดกันคนจีน ด้วยว่าไม่เห็นคุณค่าของความแตกต่างหลากหลายของเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม นอกจากนี้เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้นำสหรัฐฯหลายคนก็รู้สึกกังวลว่า กฎหมายนี้ เป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาพันธมิตรจีนเพื่อร่วมต่อสู้กับญี่ปุ่นด้วย
อู่ บอกว่า ในการเสนอทบทวนกฎหมายนี้ ก็เริ่มมีข้อมูลที่สะท้อนภาพลักษณ์ชาวจีนอีกแบบ อาทิ นักเขียนอเมริกัน เพิร์ล เอสบัค ได้บอกเล่าเรื่องราวของชาวจีนในลักษณะของคนผู้ต่อสู้เลี้ยงดูครอบครัว ที่เริ่มก่อร่างตั้งตัว ซึ่งแม้ในเวลานั้นสภาพกฎหมายยังเข้มงวดกับผู้อพยพเพศหญิง แต่ก็ยังมีภรรยาและลูกสาวของบรรดาเหล่าพ่อค้าจีน และกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับยกเว้นจากกฎหมายนี้
ด้านกรรมาธิการพลเมืองตระหนักว่ายังมีความวิตกในหมู่ชาวผิวขาวเกี่ยวกับชาวจีน จึงได้ใช้ยุทธศาสตร์ในการปรัภาพลักษณ์ชาวจีนผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ว่า คนจีนเป็นเช่นประชาชนทั่วไป เคารพกฎหมาย อยู่ร่วมอย่างสงบสุข
เมื่อบริบทสังคมเปลี่ยนไปแล้ว ในที่สุดวันที่ 17 ธันวาคม 1943 (พ.ศ. 2486) สหรัฐฯ ก็ได้ออกกฎหมาย Magnuson Act เพื่อเพิกถอนรัฐบัญญัติกีดกันชาวจีน 1882 (พ.ศ.2425) ที่ใช้จำกัดการเข้าเมืองของชาวจีนมานานกว่า 60 ปี และปัจจุบันนี้ เพื่อรำลึกถึงวันที่ออกกฎหมายเพิกถอนรัฐบัญญัตินี้ สภาผู้แทนราษฎรมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ยังได้กำหนดให้วันที่ 17 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันแห่งการอยู่ร่วม "Day of Inclusion" ที่ชาวจีนอพยพไชน่าทาวน์ สามารถมีสิทธิและหน้าที่ในการอยู่ร่วม ทำงาน และใช้ชีวิตเป็นพลเมืองแห่งสหรัฐอเมริกา ขณะที่ไชน่าทาวน์ทุกแห่งในสหรัฐฯ ก็ยังคงรักษาความเป็นชุมชนดั้งเดิมมาตราบจนทุกวันนี้