เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ผู้นำจีนทุ่มเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จัดตั้งกองทุนเส้นทางค้าไหม ( Silk Road Fund) เพื่อปรับปรุงเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศในการประชุมว่าด้วยการพัฒนาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกร่วมกับประธานาธิบดีของบังคลาเทศ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ตลอดจนประธานาธิบดีของลาว มองโกเลีย เมียนมาร์ ปากีสถาน และทาจิกิสถาน ในกรุงปักกิ่งเมื่อวันเสาร์ ( 8 พ.ย.) ว่า กองทุนเส้นทางค้าไหมมีจุดประสงค์เพื่อทำลายคอขวดของการเชื่อมโยงติดต่อกัน
ผู้นำจีนระบุว่า กองทุนดังกล่าวจะเป็นแหล่งเงินสำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการเงิน ตลอดจนพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงถึงกันระหว่างชาติบน “เส้นทางค้าไหมแห่งใหม่”
กองทุนนี้เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของรัฐบาลปักกิ่งในการสร้างกลุ่มเศรษฐกิจ เพื่อรื้อฟื้นการค้าบนเส้นทางระหว่างจีนกับภูมิภาคแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยจะเปิดต้อนรับนักลงทุนจากในและนอกทวีปเอเชียเข้าร่วมในกองทุน
การประชุมว่าด้วยการพัฒนาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกครั้งนี้ยังมีคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ และองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้เข้าร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม ในสายตาของนักวิเคราะห์นั้นเห็นว่า จีนต้องการใช้กองทุนเส้นทางค้าไหมมาต่อกรกับสหรัฐฯ ซึ่งกำลังขยายบทบาทในเอเชียมากกว่า
นายโจว ฟางอิ๋น อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศก่วงตงระบุว่า รัฐบาลจีนจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ผู้มีบทบาทรับผิดชอบต่อนานาชาติ โดยคาดว่า กองทุนจะช่วยชาติในยุโรปและเอเชียกว่า 60 ชาติในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน
การประกาศจัดตั้งกองทุนครั้งนี้บ่งชี้ว่า ประธานาธิบดีสีกำลังผลักดันยุทธศาสตร์เส้นทางค้าไหม ซึ่งเขาเคยเอ่ยถึงครั้งแรกเมื่อเดือนก.ย.ปี 2556 โดยนายโจวเห็นว่า กองทุนเส้นทางค้าไหม ซึ่งมีการค้าและการลงทุนเป็นสิ่งดึงดูดความสนใจ จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพทีเดียว เนื่องจากหลายชาติในเอเชียกระตือรื้อล้น ที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ขาดเงินทุนและเทคโนโลยี
นอกจากนั้น ประธานาธิบดีสียังหวังว่า ยุทธศาสตร์เส้นทางค้าไหม ซึ่งมุ่งให้จีนเป็นศูนย์กลางของเขตเศรษฐกิจในเอเชียนี้ ยังจะช่วยผลักดันการพัฒนาพื้นที่แถบชายแดน เช่นภูมิภาคซินเจียง ทิเบต และหยุนหนัน โดยอาศัยเส้นทางรถไฟความเร็วสูง และท่าเรือระหว่างประเทศเป็นตัวขับเคลื่อน
อย่างไรก็ตาม นายเฉียว มู่ คณบดีของศูนย์การศึกษาด้านการสื่อสารระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง ระบุว่า แรงจูงใจทางการเงินเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดและใช้ได้ผลมากที่สุดในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับชาติเพื่อนบ้านก็จริง แต่ยุทธศาสตร์นี้อาจไม่ส่งผลดีในประเทศ เนื่องจากการหว่านเงินอย่างใจดีของรัฐบาลจีนอาจก่อความไม่พอใจขึ้นในสังคม ซึ่งเห็นว่า ภาคการศึกษาและระบบสาธารณสุขของจีนในปัจจุบันยังจำเป็นต้องได้รับเงินสนับสนุนอยู่อีกมาก