เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ทางการจีนสั่งงดกรุ๊ปทัวร์เยือนเกาะฮ่องกงหลังเหตุประท้วงยังยืดเยื้อต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญชี้ ปักกิ่งหวั่นกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยลามถึงแผ่นดินใหญ่ เร่งปิดกั้นโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คเต็มพิกัด
สำนักการท่องเที่ยวแห่งชาติจีน ประกาศ (1 ต.ค.) คำสั่งถึงบริษัทด้านการท่องเที่ยวในประเทศ ให้ระงับการพากลุ่มนักท่องเที่ยวจีนแผ่นดินใหญ่เข้าไปในเกาะฮ่องกง ขณะที่สถานการณ์การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยได้ลุกลามกลายเป็นประเด็นทางการทูตระหว่างประเทศ
“นั้นหมายความว่าจะไม่มีกรุ๊ปทัวร์จากแผ่นดินใหญ่เดินทางมาตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป กินเวลาราวสัปดาห์” โจเซฟ ถังเย่าชุง ผู้อำนวยการระดับสูงของสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฮ่องกงกล่าว
ด้านริคกี้ จิมคามทิง ประธานสมาคมผู้จัดการท่องเที่ยวขาเข้าของฮ่องกง เผยว่า คำสั่งของทางการจีนครั้งนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเสริมว่า “แต่นักท่องเที่ยวที่มาแบบส่วนตัวไม่ได้รับผลกระทบ”
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ครองสัดส่วนร้อยละ 75 ของปริมาณนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่มายังเกาะฮ่องกง โดยส่วนใหญ่ราวร้อยละ 67 เป็นชาวจีนที่เดินทางมาเป็นการส่วนตัว
ด้านการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยและประชาชนชาวฮ่องกง ซึ่งบางส่วนไม่พอใจรัฐบาลปักกิ่งที่สร้างข้อกำหนดการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้นำสูงสุดของฮ่องกงในปี 2560 ว่าต้องมาจากการคัดเลือกของทางการแผ่นดินใหญ่ และบางส่วนตบเท้าร่วมประท้วงเพราะภาพการใช้แก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทยเข้าสลายการชุมนุมของตำรวจฮ่องกงในคืนวันอาทิตย์ (28 ก.ย.) ก็ดูมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ
ส่งผลให้บรรยากาศของการเฉลิมฉลองครบรอบปีที่ 65 ของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือวันชาติจีน (1 ต.ค.) ในฮ่องกงดูหงอยเหงาที่สุด นับตั้งแต่ฮ่องกงพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษและกลับคืนสู่อ้อมอกการปกครองจีนเมื่อ 17 ปีก่อน
นอกจากนั้น การประท้วงในฮ่องกง หรือที่ได้รับการเรียกขานจากสื่อทั่วโลกว่า “การปฏิวัติร่ม” (umbrella revolution) ยังยกระดับกลายเป็นประเด็นทางการทูตในเวทีนานาชาติอีกด้วย โดยรัฐบาลสหรัฐฯ, อังกฤษ, ญี่ปุ่น, เยอรมัน และองค์การสหประชาชาติ (UN) ต่างแสดงความวิตกกังวลและเรียกร้องการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี
โดยในวานนี้ ณ กรุงวอชิงตัน ที่ประชุมหารือระหว่างนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน กับนายจอห์น เคอร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็มีการหยิบยกปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในฮ่องกงมาพูดคุยด้วยเช่นกัน ทว่ารัฐมนตรีหวังก็ได้ยืนกรานว่า “ต่างชาติอย่าเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของจีน”
“ตอนนี้ปักกิ่งเชื่อว่าหากแสดงสัญญาณหรือท่าทีอ่อนแออะไรออกไป สหรัฐฯ อาจก้าวเข้ามาสนับสนุนกลุ่มผู้จัดการประท้วงได้” สือ อินหง ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าว
ส่วนนายฟู่ คิงวา อาจารย์ผู้ช่วยประจำศูนย์วารสารและสื่อศึกษา มหาวิทยาลัยฮ่องกง มองว่า “บรรดาผู้นำจีนกลัวว่าการประท้วงในฮ่องกงจะเป็นเชื้อไฟลามมาจุดกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยบนแผ่นดินใหญ่”
ฟู่ซึ่งเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวบนเว็บไซต์เวยปั๋ว (คล้ายทวิตเตอร์) ของจีน เล่าว่า พบข้อความเกี่ยวกับการชุมนุมถูกหน่วยเซนเซอร์จีนลบทิ้งไปเป็นจำนวนมหาศาล สูงเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่วันเสาร์ (27 ก.ย.) ที่การประท้วงเริ่มต้นขึ้น โดยเขาตามดูข้อความ 50,000-60,000 ชิ้นต่อวัน และพบว่า ข้อความ 98 ใน 10,000 ชิ้น ถูกบล็อกหายไปในวันเสาร์, 152 ชิ้น หายไปในวันอาทิตย์ และ 136 ชิ้น ในวันจันทร์ ซึ่งนับว่าสูงกว่าช่วงวันครบรอบกรณีเทียนอันเหมิน (4 มิ.ย.)