xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทยาศาสตร์จีนเจ๋ง ทำแผนที่เมืองที่เสี่ยงแผ่นดินไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์- นักวิทยาศาสตร์จีนวิจัยรอยเลื่อน จัดทำเป็นแผนที่เมืองที่มีความเสี่ยงแผ่นดินไหว หวังดันเป็นกฎหมายควบคุมการสร้างตึกอาคารทับรอยเลื่อน ลดความเสียหายจากธรณีพิบัติ
เศียรพระพุทธรูปได้รับความเสียหายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อปีที่แล้ว (2556) ในอำเภอหลูซาน เสฉวน หนึ่งในมณฑลที่มีความเสี่ยงแผ่นดินไหวมากที่สุด (ภาพ: รอยเตอร์ส)
นักธรณีวิทยาจีนประเมินหารอยเลื่อนมีพลัง (active faults) ใน 50 มณฑล และตามเขตเมืองใหญ่ จนสามารถจัดทำแผนที่รอยเลื่อนฯ ได้

แผนที่รอยเลื่อนฯ ที่จัดทำขึ้น สามารถระบุเขตที่ไม่ควรสร้างตึกอาคาร จึงช่วยลดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หากเกิดแผ่นดินไหวหนักในเขตที่มีประชากรหนาแน่น

“มันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำนายกันว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่เราสามารถควบคุมความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงการสร้างตึกอาคารในเขตรอยเลื่อนมีพลัง” นายสู สีเว่ย รองผู้อำนวยการศูนย์รอยเลื่อนมีพลังศึกษาแห่งชาติ กล่าวกับเซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์

หากรัฐบาลนำไปใช้ออกเป็นกฎหมาย ห้ามสร้างตึกคร่อมเขตเหล่านี้ แต่ละเมืองก็จะได้รับความเสียหายน้อยลงหากมีแผ่นดินไหวจนตึกถล่ม นายสู อธิบาย

ทั้งนี้ แม้ทั่วไป คนจะตำหนิว่าตึกถล่มเพราะโครงสร้างตึกอ่อนแอไม่ทนทานต่อแผ่นดินไหว แต่นักธรณีระบุว่า ที่ตั้งของตึกก็มีผลทำให้เกิดความเสียหายจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ในปี 2546 รัฐบาลจึงทุ่มงบ 490 ล้านหยวน (2450 ล้าน บาท) ให้หน่วยงานดังกล่าวศึกษาเขตรอยเลื่อนมีพลัง ในเขตที่มีประชากรหนาแน่นทั่วประเทศ โดยใช้การขุดเจาะและการสำรวจระยะไกล (remote sensing)

นอกจากนี้ นักธรณีวิทยายังพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายเช่นเดียวกับที่รัฐแคลิฟอเนียของสหรัฐอเมริกา จัดทำโซนนิ่งเสี่ยงแผ่นดินไหว หรือ the Alquist-Priolo Earthquake Fault Zoning Act ตั้งแต่ปี 1971 โดยหลังจากเกิดแผ่นดินไหวซาน เฟอร์นานโดเพียงหนึ่งปี รัฐบาลฯ ก็ผ่านกฎหมายป้องกันการก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซมตึกที่ตั้งอยู่ริมสองฝั่งของรอยเลื่อน ให้สูงเพียงแค่ 15 ชั้น

ข้อเรียกร้องที่นักธรณีวิทยาจีนเสนอต่อรัฐบาลก็คือ ก่อนจะขออนุญาตจากทางการเพื่อสร้างตึกใหม่ หรือปรับปรุงซ่อมแซมตึกเดิม ควรจัดให้มีการตรวจสอบทางธรณีวิทยาก่อน เพื่อชี้ให้เห็นว่า การก่อสร้างจะคร่อมแนวรอยเลื่อนฯ หรือไม่ ส่วนนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็ควรมีกฎหมายบังคับให้มีการเปิดเผยข้อมูลแก่ลูกค้าว่าอสังหาริมทรัพย์เหล่านั้นตั้งคร่อมอยู่บนรอยเลื่อน

อย่างไรก็ตาม แม้นักธรณีจะพยายามกันอย่างหนัก แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลก็ยังไม่พร้อมนำแนวคิดนี้มาใช้ นายสู กล่าว

“เห็นได้ชัดว่า หนทางเรายังอีกไกลกว่าจะได้ออกเป็นกฎหมาย” นายสู กล่าว “มันจำต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีและต้องลงทุนอีกหลายล้าน (หยวน) เพื่อตรวจหารอยเลื่อนฯ และประเมินดูความเสี่ยงการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งเรายังอยู่ในขั้นตอนแรกเท่านั้น”

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายอื่นๆ อาทิ การลดความเสี่ยงที่ตึกเก่าอาจถล่มลงมาเพราะสร้างคร่อมรอยเลื่อนฯ อยู่แล้ว หากสั่งรื้อถอนก็อาจมีปัญหาขัดแย้งกันหลายฝ่าย และหากจะบังคับให้ประชาชนย้ายออกจากที่พักเดิมและรื้อตึกทิ้งก็คงเป็นไปไม่ได้ นายสู กล่าว “แต่ตึกที่ไม่มีโครงสร้างแน่นหนาเพื่อป้องกันเหตุแผ่นดินไหว ก็จะเปราะบางที่สุดหากเกิดเหตุร้ายขึ้น” อีกทั้ง นักธรณีวิทยายังกังวลว่า แม้จะมีแผนที่รอยเลื่อนฯ แต่นักพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ก็จะไม่หยุดสร้างอาคารตามเขตดังกล่าวฯ เพราะตลาดอสังหาฯ ยังทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากข้อมูลศูนย์เครือข่ายแผ่นดินไหวจีน ตอนนี้จะมีการเผยแพร่แผนที่ฯ ให้เฉพาะรัฐบาลท้องถิ่นเท่านั้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการเลือกสถานที่ก่อสร้างโครงการสำคัญๆ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยแก่สาธารณชนแต่อย่างใด

“วัตถุประสงค์สำคัญที่สุดของเราก็คือการเผยแพร่ข้อมูลแผนที่ฯ ให้สังคมรับรู้” นายเจียง ไห่คุ่น ผู้อำนวยการสำนักพยากรณ์เหตุแผ่นดินไหว ของศูนย์ฯ กล่าว

นายสู กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ มีสองเมืองที่นำข้อแนะนำของนักธรณีวิทยาไปปรับใช้เป็นกฎหมายควบคุมการสร้างตึก นั่นคือ หยินชวน เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน และคุนหมิง

ในหยินชวน พบว่าทางด้านตะวันออกของเมืองเป็นเขตรอยเลื่อนมีพลัง ดังนั้นจึงมีการจัดทำเขตสีเขียว กว้าง 200 เมตร พาดตามรอยเลื่อนฯ เพื่อห้ามสร้างตึกใหม่

ส่วนในคุนหมิง ก็มีคำสั่งให้หลีกเลี่ยงการสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่อาทิ สนามกีฬา คร่อมรอยเลื่อนฯ

อนึ่ง เหตุแผ่นดินไหว ถือเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่แผ่นดินใหญ่

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนส.ค. ที่ผ่านมา คือเหตุแผ่นดินไหวในเมืองหลงเถาซาน มณฑลยูนนาน ระดับความรุนแรง 6.5 ริกเตอร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 600 ราย บาดเจ็บมากกว่า 2,500 ราย บ้านเรือนประชาชนชาวยูนนานกว่า 81,000 หลัง พังลายลงไม่เหลือซาก ขณะที่อีก 500,000 หลัง ได้รับความเสียหายลดหลั่นกันไป ประชาชนราว 230,000 คน ต้องย้ายไปอาศัยอยู่ในสถานพักพิงชั่วคราว อีกทั้ง แรงสั่นสะเทือนยังวิ่งข้ามไปถึงมณฑลกุ้ยโจวและเสฉวนใกล้เคียง โดยชาวบ้านมากกว่า 26,000 คน ต่างเดือดร้อนถ้วนหน้าเพราะบ้านเรือนได้รับผลกระทบเช่นกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น